'อาจารย์คำ'โยมสอาคมขลังเมืองสิงห์
'อาจารย์คำ ช่างประดับ'ฆราวาสอาคมขลังแห่งเมืองสิงห์บุรี : ไพศาล ถิระศุภะ
อาจารย์คำ ช่างประดับ แห่ง เมืองสิงห์บุรี เป็นอาจารย์ฆราวาสท่านหนึ่งผู้มีวิชาอาคมขลัง มีความรู้ความสามารถในสรรพวิชาอย่างฉกาจฉกรรจ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอาจารย์ทางไสยเวทคนแรกของ หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังระดับแนวหน้า ที่ผู้คนในวงการพระเครื่องทั่วเมืองไทยรู้จักกันดี จนมีผู้ให้สมญานามท่านว่า เทพเจ้าแห่งเมืองสิงห์
อาจารย์คำ ช่างปะดับ เกิดเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๔๓๐ ณ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นบุตรของชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน ในราวสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ โดยมาตั้งรกรากอยู่ที่ จ.สิงห์บุรี ท่านมีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว
พี่คนโตของท่านมีชื่อว่า “แป๊ะ” เป็นผู้ชอบศึกษาคาถาอาคมและไสยศาสตร์มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น โดยฝากตัวเรียนคาถาอาคมและไสยศาสตร์จากพระเกจิอาจารย์ต่างๆ หลายท่านด้วยกัน จนมีความเชี่ยวชาญในระดับสุดยอด ถึงขนาดว่า ร่างกายอยู่ยงคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้า สามารถล่องหนหายตัวได้ จนชาวบ้านเรียกท่านว่า อาจารย์แป๊ะจอมอิทธิฤทธิ์
เมื่อคราวที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นเยี่ยมพสกนิกรชาวไทยมณฑลภาคกลาง พ.ศ.๒๔๔๙ อาจารย์แป๊ะได้รับการคัดเลือกจากท่านเจ้าเมืองสิงห์บุรี ให้แสดงความสามารถทางด้านไสยศาสตร์ต่อหน้าที่นั่ง ด้วยการปีนขึ้นลงบนบันไดดาบที่แหลมคม โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ
นอกจากนี้ยังให้บริวารจับตัวอาจารย์แป๊ะมัดมือมัดเท้าด้วยเชือก แล้วยัดลงไปในกระสอบ พร้อมทั้งมัดปากกระสอบด้วยเชือกอย่างแน่นหนา จากนั้นโยนกระสอบใบนั้นลงแม่น้ำเจ้าพระยา สักครู่หนึ่งร่างอาจารย์แป๊ะก็โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ โดยปราศจากเครื่องพันธนาการอย่างปลอดภัย ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ พอพระราชหฤทัยมาก
อาจารย์คำ เป็นผู้มีความสนใจในวิชาไสยศาสตร์มาตั้งแต่ในวัยเด็ก เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นได้ขอศึกษาวิชาไสยศาสตร์กับอาจารย์แป๊ะ พี่ชายของท่าน ซึ่งอาจารย์แป๊ะก็ถ่ายทอดวิชาไสยศาสตร์ให้อาจารย์คำ จนท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านไสยศาสตร์มาก
ต่อมาเมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ (พ.ศ.๒๔๕๐) ได้อุปสมบทที่วัดสิงห์ ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา โดยมี หลวงพ่อผึ่ง เจ้าอาวาสวัดสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว อาจารย์คำมีความปีติสุขในร่มกาสาวพัสตร์ จึงอยู่จำพรรษาไปเรื่อยๆ ไม่คิดที่จะลาสิกขาแต่อย่างใด
พรรษาที่ ๓ ท่านได้เดินทางไปศึกษาแนวทางปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานและวิชาไสยเวทกับ หลวงพ่ออ่ำ วัดวงษ์ฆ้อง อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา วิชาที่ศึกษาคือ คาถาอาคมต่างๆ การสักยันต์บุตร-ลบ วิชาแพทย์แผนโบราณ และวิชาเชื่อมต่อประสานกระดูกที่แตกหัก จนมีความเชี่ยวชาญดีแล้วจึงกราบลาหลวงพ่ออ่ำ กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสิงห์ เหมือนเช่นเดิม
ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสิงห์ แทนเจ้าอาวาสรูปเดิมที่มรณภาพ โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดสิงห์
ช่วงนั้นวัดสิงห์มีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจากท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชา และเป็นพระหมอ มีศิษยานุศิษย์และชาวบ้านทั้งใกล้เคียงและต่างถิ่นต่างมาให้ท่านสักยันต์บุตร-ลบ รักษาคุณไสย ผีเจ้าเข้าสิงและรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นจำนวนมาก
สำหรับผู้ที่ชอบเครื่องราง ท่านก็มีผ้ายันต์รูปสิงห์ เขียนด้วยมือ ไว้แจกด้วย ทุกวันนี้เป็นของหายาก ไม่มีใครยอมเปลี่ยนกันง่ายๆ
ต่อมาท่านต้องลาสิกขา เนื่องจากมีคนเมาอาละวาดในงานวัด จนถูกกลุ่มลูกศิษย์วัดทำร้าย และถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ทางญาติของคนตายได้เอาเรื่อง อาจารย์คำจึงแสดงความรับผิดชอบโดยสึกจากเพศบรรพชิต มาเป็นฆราวาส นุ่งขาวห่มขาว และมอบตัวต่อเจ้าเมืองสิงห์บุรี
ขณะที่ท่านถูกจองจำอยู่ในคุกที่ตัวเมืองสิงห์บุรี ท่านจะสวดมนต์และเจริญสมาธิภาวนาอยู่ตลอดเวลา และด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ของท่าน ผลการสอบสวนสรุปได้ว่า ท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรมครั้งนั้น ท่านจึงได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นมา อาจารย์คำได้ปลงตกในชีวิต และไม่คิดจะกลับไปสู่เพศบรรพชิตอีก โดยท่านได้ดำรงตนเป็นฆราวาสที่มั่นคงในพระธรรมวินัย มีความเป็นอยู่อย่างพอเพียง ประกอบอาชีพเป็นแพทย์แผนโบราณ รักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ชาวบ้านทั่วไปเป็นทาน โดยไม่คิดอามิสสินจ้างใดๆ
หรือถ้าหากผู้ใดต้องการให้สักยันต์บุตร-ลบ หรือถูกคุณไสย ผีเจ้าเข้าสิง มาให้ช่วยเหลือ ท่านจะช่วยอนุเคราะห์ให้อย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ จนได้รับความรักความศรัทธาเลื่อมใสจากชาวบ้านอย่างล้นหลาม
ในช่วงที่อาจารย์คำดำรงตนเป็นฆราวาส หลวงพ่อซวง วัดชีปะขาว ต.พระงาม อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ได้มาฝากตัวศึกษาสมถวิปัสสนากรรมฐาน และวิชาไสยเวทจากท่านหลายอย่าง เช่น คาถาอาคมต่างๆ วิชาสักยันต์บุตร-ลบ วิชาทำผ้ายันต์รูปสิงห์ และรูปธงพระฉิม ฯลฯ อาจารย์คำจึงถือได้ว่าเป็นอาจารย์ท่านแรกของหลวงพ่อซวง โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ตลอดมา
นอกจากนี้ อาจารย์คำ ยังแนะนำให้หลวงพ่อซวงไปเรียนวิชาไสยเวทเพิ่มเติมกับสหธรรมิกรุ่นพี่ของท่าน คือ หลวงพ่อแป้น วัดเสาธงใหม่ ต.เสาธง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อแป้นจึงถือได้ว่าเป็นอาจารย์ท่านที่สองของหลวงพ่อซวง
อาจารย์คำถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๕ รวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี เหลือไว้แต่คุณธรรม ความดีงาม ให้เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ระลึกถึงตราบนานเท่านาน