พระเครื่อง

กองฟอน-เชิงตะกอน

กองฟอน-เชิงตะกอน

27 เม.ย. 2555

กองฟอน-เชิงตะกอน : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

           "การฌาปนกิจ" หรือการเผาศพ เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถาน และออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน
  
             เมื่อชักศพขึ้นตั้งอย่างที่ทำคราวถึงแก่กรรมแล้ว จะมีพระสวดพระอภิธรรมก่อนฌาปนกิจสัก ๓ วัน ๗ วันอีกก็ได้ หรือจะทำเพียงวันเดียวก็ได้ แต่ทำกันอยู่ทั่วๆ ไปนิยมตั้งศพทำบุญในตอนเช้าวันฌาปนกิจแล้วเพื่อตัดภาระ
 
             ประเพณีเกี่ยวกับศพ มักจะผิดแผกแตกต่างกันไปตามความนิยมของบุคคลในท้องถิ่นนั้นๆ แต่ส่วนใหญ่คงลักษณะการประกอบพิธีไว้เป็นแนวเดียวกัน
 
             พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า "กองฟอน" หมายถึงกองขี้เถ้าศพที่เผาแล้ว
 
             กองฟอน เป็นคำเรียกกองขี้เถ้าที่เกิดขึ้นหลังจากเผาศพแล้วกล่าวคือ เมื่อศพถูกเผาบนเชิงตะกอนหรือในเตาเผาแล้วจะมีขี้เถ้าและอัฐที่เหลือจากถูกไฟเผารวมเป็นกองอยู่ เจ้าหน้าที่เผาศพจะใช้น้ำพรมหรือรดแยกอัฐออกจากขี้เถ้าเพื่อนำไปทำพิธีเก็บอัฐต่อไป
 
             กองฟอน ส่วนใหญ่จะหมายถึงกองขี้เถ้าศพที่เผาแบบโบราณ คือเผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้ง การเผาแบบนี้จะเห็นรูปกองฟอนชัดเจน การเผาในเตาเผาศพอย่างปัจจุบันเห็นภาพกองฟอนไม่ชัดเจน
 
             ส่วนคำว่า "เชิงตะกอน" นั้น เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า เชิงตะกอน คือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จิตกาธาน
 
             เชิงตะกอน หมายถึง ที่ตั้งหรือที่รองรับศพเวลาเผา เป็นธรรมเนียมโบราณ ทำขึ้นเป็นการเฉพาะในป่าช้าหรือในที่เผาศพนั้นๆ เวลาเผาจะมองเห็นศพดำเป็นตอตะโกถูกไฟไหม้อยู่ในกองไฟทำให้เห็นภาพอนิจจังได้ไม่น้อย
 
             เชิงตะกอน ที่นิยมมี ๒ อย่างคือ ชนิดก่อนด้วยอิฐฉาบปูนและชนิดใช้ไม้ท่อนวางขวางไปมาสูงประมาณ ๑ เมตร ถ้าเป็นชนิดก่อด้วยอิฐฉาบปูนจะใช้เผาได้หลายศพ ส่วนชนิดใช้ไม้ท่อนจะถูกเผาไปพร้อมกับศพ สมัยเก่าในชนบทจะใช้แบบหลังเพราะสมัยนั้นหาไม้ง่าย ส่วนในตัวเมืองนิยมใช้แบบแรก แต่สมัยปัจจุบันหาดูได้ยากเพราะมีเตาเผาสมัยใหม่ที่มิดชิด มองไม่เห็นศพเวลาเผา