
พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่ยอดแคล้วคลาด
พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่เมตตามหานิยมยอดเยี่ยม-แคล้วคลาดเป็นเลิศ : พระองค์ครู โดยไตรเทพ ไกรงู
พระนางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก จัดว่าเป็นพระเนื้อที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพระชั้นนำที่สุดของเมืองพิษณุโลกและถูกจัดให้เป็นพระในชุด “เบญจภาคี” ที่ถือว่าสุดยอดของประเทศไทยอีกด้วย
ความจริง "วัดนางพญา" เป็นวัดเดียวกับ “วัดราชบูรณะ" ต่อมาภายหลังได้สร้างถนนผ่ากลางเลยกลางเป็น ๒ วัด การได้ชื่อว่า “วัดนางพญา” ก็เพราะได้พบพระนางพญานั่นเอง
ตามการสันนิษฐาน พระนางพญานั้นเป็นผู้ที่สร้างคือ “พระวิษุสุทธิกษัตรี” มเหสีของ “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ผู้ที่ได้สร้างหรือปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบพระนางพญานั่นเอง เข้าใจว่าการสร้างพระนางพญานั้นประมาณ พ.ศ.๒๐๙๐-๒๑๐๐
พระนางพญา เป็นพระรูปทรงสามเหลี่ยมทุกพิมพ์นั่งมารวิชัยไม่ประทับบนอาสนะหรือมีฐานรองรับ รูปทรงงดงามแทบทุกพิมพ์โดยเฉพาะจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอดอ่อนช้อยคล้ายกับ “ผู้หญิง” จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่าพระพิมพ์ “นางพญา” อีกประการหนึ่งก็คือผู้ที่สร้างก็คือ “พระวิสุทธิกษัตรี” นั่นเอง
พระนางพญามีอยู่ ๖ พิมพ์คือ ๑.พิมพ์เข่าโค้ง ๒.พิมพ์เข่าตรง ๓.พิมพ์อกนูนใหญ่ ๔.พิมพ์ทรงเทวดา ๕.พิมพ์สังฆาฏิ และ ๖.พิมพ์อกนูนเล็ก นอกจากนี้แล้วยังมีพิมพ์พิเศษ เช่น พิมพ์เข่าบ่วง หรือพิมพ์ใหญ่พิเศษ
“พระนางพญาพิมพ์อกนูน” ก็เป็นพระนางพญาอีกพิมพ์ที่มีค่านิยมสูงแต่เป็นเพราะพระพิมพ์นี้มีจำนวนน้อยมาก นักสะสมจึงให้ความนิยมรองลงมาจาก “พิมพ์เข่าตรง” แต่กระนั้นหากองค์ไหนมีสภาพสวยสมบูรณ์ การกดพิมพ์ติดชัดเจนแล้วหากจะหามาบูชา ก็ต้องใช้เงินหลักล้านเช่นกัน
พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ เป็นพิมพ์ที่พบน้อยและหายากมาก พระพิมพ์นี้มีภาพปรากฏในวงการพระเครื่องน้อยมาก องค์นี้ที่นำมาจัดเป็นองค์ที่สวยสมบูรณ์ระดับ “แชมป์” สวยสมบูรณ์มาก มีรายละเอียดหน้าติดหมด พระพิมพ์นี้สภาพตามที่ปรากฏมีการเช่าซื้อกันในหลัก ๒-๓ ล้านบาท
ส่วนการลงรักนั้นลงไว้ภายหลัง เมื่อ ๖๐-๗๐ ปี ก่อน เข้าใจว่าผู้ครอบครองในครั้งนั้นอาจจต้องการรักษาเนื้อพระ อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะล้างรักออกแต่ล้างได้ไม่หมด รวมทั้งไม่ได้ทำความเสียหายใดๆ ให้กับองค์พระ
พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง ค่านิยมสูงสุดประมาณ ๔-๕ ล้าน ในอดีตบางองค์เคยมีการเช่าหากันในราคาถึง ๗ ล้านบาท ส่วนพระนางพญา พิมพ์เข่าตรงค่านิยมรองลงมา พอๆ กับพิมพ์อกนูนใหญ่
พระนางพญาไม่ว่าพิมพ์ไหน ลักษณะของเนื้อจะเหมือนกันหมด ผิดกันแต่พิมพ์ทรงเท่านั้น ส่วนทางด้านพุทธคุณนั้นยอดเยี่ยมทางด้านเมตตามหานิยม และแคล้วคลาดเป็นเลิศ สมกับเป็นหนึ่งในห้าชุดของชุดเบญจภาคีนั่นเอง