
'ปู่เหรียญ'พระพุทธเหรียญแรกของไทย
'ปู่เหรียญ'เหรียญพระพุทธเหรียญแรกของไทย : พระองค์ครู เรื่อง / ภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู
"ปู่เหรียญ" คำๆ นี้ คนทั่วๆ ไป อาจจะเข้าใจว่า "เป็นชื่อพ่อของพ่อ" หรือ "หลวงปู่เหรียญ" แต่ในวงการพระเครื่อง "ปู่เหรียญ" คือ "เหรียญพระพุทธชินสีห์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐" ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญพระพุทธเหรียญแรกในเมืองไทย จึงมีการขนานนามเหรียญนี้ว่า "ปู่เหรียญ"
"พระพุทธชินสีห์" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เจ้านครเชียงแสน ในคราวเดียวกับที่ทรงสร้าง "พระพุทธชินราช" และ "พระศาสดา" เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จลงมาตั้งเมืองที่พิษณุโลก สมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ.๒๓๗๒ ได้อัญเชิญลงมาประดิษฐาน ณ มุขหลังของพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
ประวัติการจัดสร้างเหรียญพระพุทธชินสีห์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกและพระราชทานในงานสมโภชพระพุทธชินสีห์ ในวโรกาสที่เสด็จกลับจากยุโรป เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นเหรียญพระพุทธที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์และหมู่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป สืบเนื่องด้วยเหรียญนี้สามารถรวบรวมความทรงคุณค่าอันเป็นที่เคารพรักและศรัทธาสูงสุดของคนไทยทั้งประเทศมารวมไว้ได้ถึง ๓ ประการ คือ
๑.เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับการสมโภชองค์ "พระพุทธชินสีห์" ที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย ๒.โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโดย "พระปิยมหาราช" กษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของชาวไทย ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ได้เสด็จเยือนประเทศในทวีปยุโรป และ ๓.สร้างเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและคนไทยทั่วทั้งประเทศ ครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่
เหรียญพระพุทธชินสีห์มีลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงใบโพธิ์ ไม่มีก้าน ไม่มีรูคล้องเหรียญ ขอบข้างเลื่อย ด้านหน้า ปรากฏลายเส้นใบของใบโพธิ์ กึ่งกลางเป็นรูปจำลองพระพุทธชินสีห์ ใต้ฐานมีอักษรไทยว่า "พระพุทธชินสีห์" ส่วน ด้านหลัง ปรากฏลายเส้นใบ ปลายใบด้านบนเป็น "อุณาโลม" ถัดลงมาเป็นข้อความภาษาไทยว่า "งารสมโภชเมื่อเสดจกลับจากยุโรป ๒๔๔๐"
การจัดสร้างเหรียญรุ่นนี้ มี ๒ เนื้อ คือ เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง โดยมีการจัดสร้าง ๒ ลักษณะ คือ ๑.เหรียญกลมไม่ตัดปีก หูเชื่อม มีรูปใบโพธิ์อยู่ตรงกลาง ถ้าเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ค่านิยมอยูในหลัก ๒-๓ แสนบาท ส่วนเนื้อทองแดงทั่วไปค่านิยมอยู่ในหลักแสนบาท ๒.เหรียญรูปใบโพธิ์" ค่านิยมอยู่ในหลัก ๒-๓ แสนบาท
ในขณะที่การทำปลอมนั้นเหรียญที่ฉลุตามรูปใบโพธิ์มีการปลอมเยอะมากส่วนเหรียญกลมยังไม่ปรากฏของปลอม เข้าใจว่าเนื่องจากมีจำนวนการสร้างค้อนข้างน้อยจึงไม่มีของแท้ไปถอดพิมพ์