ไปชมภิกษุณีที่วัดเทพธิดารามกัน
ไปชมภิกษุณีที่วัดเทพธิดารามกัน : พึ่งตนพึ่งธรรม โดยพระชาย วรธัมโม
"เวลานี้เมืองไทยมีพุทธบริษัทครบ ๔ แล้ว หากสนใจการบวชที่เรียบง่าย ไม่ต้องการความยุ่งยากก็ยังมีทางเลือกของการบวชเป็นแม่ชีนุ่งขาวห่มขาวให้ฝึกปฏิบัติ แต่ทั้งหมดนั้นคือการบวชกาย จะโกนหัว จะห่มผ้าสีใด สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติร่วมไปด้วยคือ การบวชใจ ต่างหาก”
เนื้อเรื่อง
ผู้เขียนเคยได้ยินมานานแล้วว่า ‘วัดเทพธิดาราม’ มีภิกษุณี แต่ยังไม่เคยเข้าไปชมสักทีทั้งๆ ที่นั่งรถผ่านบ่อยๆ บังเอิญช่วงนี้รายการไหว้พระ ๙ วัดกำลังฮิต ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้พาคุณผู้อ่านไปไหว้ภิกษุณี และทำความรู้จักกับภิกษุณีที่วัดเทพธิดารามกันเสียเลย
สาเหตุที่ผู้เขียนให้ความสนใจภิกษุณีก็เพราะ ภิกษุณี เป็นหนึ่งใน ‘พุทธบริษัท ๔’ อันประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุณีเป็นพระผู้หญิงในพุทธศาสนา นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์เหมือนภิกษุทุกประการเพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ภิกษุณีเป็น ‘เพศหญิง’
คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมปัจจุบันเมืองไทยมีผู้หญิงบวชภิกษุณีกันน้อย หรือไม่ค่อยปรากฏว่ามีภิกษุณีแพร่กระจายมากมายเหมือนกับภิกษุ สาเหตุเพราะสายการสืบทอดการบวชภิกษุณีได้ขาดช่วงไป ทำให้อดีตที่ผ่านมาไม่มีการบวชภิกษุณีเหมือนกับพระภิกษุ แต่ปรากฏว่าในประเทศที่มีพุทธศาสนานิกายมหายาน เช่น ไต้หวัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม กลับปรากฏว่ายังมีภิกษุณี ดังนั้นจะเรียกว่าภิกษุณีขาดช่วงไปก็อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป เอาเป็นว่าเรายังมีภิกษุณีอยู่ในบางประเทศก็แล้วกัน และที่วัดเทพธิดารามก็ปรากฏว่ามีรูปภิกษุณีปรากฏเป็นหลักฐาน นี่จึงเป็นประเด็นที่ผู้เขียนสนใจอยากพาคุณผู้อ่านไปร่วมสำรวจตรวจดูร่องรอยภิกษุณีที่วัดเทพธิดารามกัน
วัดเทพธิดารามอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่เอง อยู่ถัดจากวัดราชนัดดาราม (หรือโลหะปราสาท) หรือตั้งอยู่บริเวณโรงหนังเฉลิมไทยที่ถูกทุบทิ้งไป หรือตั้งอยู่ตรงข้ามกับภูเขาทองนั่นเอง อธิบายละเอียดขนาดนี้ไม่น่าหลง
เมื่อไปถึงวัดเทพธิดารามแล้วให้เราหันหน้าเข้าหาโบสถ์ จะพบว่า ‘วิหารภิกษุณี’ ตั้งอยู่ทางซ้ายมือของโบสถ์หรือตั้งอยู่ทางทิศใต้ของโบสถ์
เมื่อเข้าไปในวิหารภิกษุณี ผู้เขียนรู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับรูปปั้นพระภิกษุณีจำนวน ๕๒ องค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินอ่อนเบื้องหน้าพระประธาน รูปภิกษุณีนั่งเรียงเป็น ๕ แถว หันหน้าเข้าหาพระประธาน ตอนแรกผู้เขียนจินตนาการว่ารูปภิกษุณีน่าจะมีขนาดใหญ่ แต่ปรากฏว่าภิกษุณีที่เห็นมีขนาดเล็ก รูปร่างกะทัดรัด บางองค์อยู่ในท่านั่งพับเพียบ บางองค์อยู่ในท่านั่งคุกเข่า บางองค์อยู่ในท่านั่งยองๆ มีเพียง ๓ องค์อยู่ในท่ายืน แต่ละองค์มีอิริยาบถแตกต่างกันไป บางองค์ถือกระโถน บางองค์ตำหมาก บางองค์เอามือล้วงย่าม บางองค์ถือผ้าเช็ดหน้า บางองค์กำลังสูบยา ทั้งหมดอยู่ในสภาพปิดทองสวยงาม
ยกเว้นองค์ที่อยู่ในท่ายืนไม่ได้ปิดทองจึงดูเก่าๆ เป็นสีดำ มีเพียงองค์เดียวอยู่ในท่านั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น ‘พระนางมหาปชาบดีโคตมี’ ซึ่งเป็นแม่นมของเจ้าชายสิทธัตถะผู้ขอบวชเป็นภิกษุณีรูปแรก จึงมีการจัดวางท่านบนโต๊ะต่างหากแล้วเขียนป้ายเป็นที่สังเกต
สำหรับประวัติความเป็นมาของภิกษุณีในพุทธประวัติก็คือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าเผยแผ่พระธรรมคำสอนผ่านไป ๕ พรรษา พระนางมหาปชาบดีโคตมีผู้เป็นมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้ามีความปรารถนาขอบวชเป็นนักบวชหญิงเช่นเดียวกับพระภิกษุ พระนางพร้อมด้วยเจ้าหญิงในราชวงศ์ศากยะอีกหลายนางจึงพากันไปทูลขอการอุปสมบทจากพระพุทธองค์ พระองค์ก็ประทานการบวชให้ หลังจากนั้นมีสตรีอีกหลายนางละทิ้งชีวิตฆราวาสแล้วออกบวชเป็นภิกษุณีจนบรรลุเป็นพระอรหันต์หลายท่านด้วยกัน
ในพุทธประวัติมี ‘ภิกษุณีเอตทัคคะ’ จำนวน ๕๒ องค์ ซึ่งเป็นภิกษุณีผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในด้านต่างๆ ตัวเลข ๕๒ เป็นตัวเลขเดียวกันกับจำนวนภิกษุณีในวัดเทพธิดาราม เข้าใจว่าผู้สร้างคงศึกษาประวัติภิกษุณีมาเป็นอย่างดี ผู้เขียนสอบถาม พระมหาสุวรรณ ธัมมชีวี พระในวัดเทพธิดารามว่ารูปภิกษุณีนี้ใครเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อไร และผู้สร้างมีจุดประสงค์ใด
พระมหาสุวรรณเล่าว่า รูปภิกษุณีทั้ง ๕๒ องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างไว้เพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระองค์เจ้าหญิงวิลาส ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระองค์เอง รวมทั้งวัดนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พระองค์เจ้าหญิงวิลาสด้วยเช่นกันใน พ.ศ.๒๓๗๙ หรือเมื่อ ๑๗๖ ปีมาแล้ว
พระมหาสุวรรณบอกว่าสังเกตตั้งแต่ชื่อวัดก็เป็นชื่อผู้หญิงคือ ‘เทพธิดา’ และยังมีรูปภิกษุณีอยู่ในวัด ทั้งลักษณะของโบสถ์ก็มีลักษณะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่มีช่อฟ้า ไม่มีใบระกา ไม่มีหางหงส์ แตกต่างจากโบสถ์ทั่วไป ท่านจึงตั้งข้อสังเกตว่าวัดนี้มีลักษณะของความเป็นหญิงผสมผสานอยู่
สังเกตจิตรกรรมฝาผนังในวิหารภิกษุณีก็ยิ่งเห็นว่าวิหารหลังนี้มีความเก่าแก่มาก เป็นลายนกยูงแบบจีนบนพื้นสีแดงที่มีลักษณะโบราณบ่งบอกถึงความมีอายุ
ใครที่ชื่นชอบของเก่า ศิลปะโบราณ หากมาเยี่ยมชมวิหารภิกษุณีแล้วรับรองว่าจะต้องชอบเพราะวิหารหลังนี้มีอายุ ๑๗๖ ปีมาแล้ว พระมหาสุวรรณเล่าให้ฟังอีกว่า แต่ก่อนวิหารหลังนี้ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชม ใครจะเข้ามาไหว้พระหรือมาชมภิกษุณีต้องมาขอให้พระเจ้าหน้าที่มาไขกุญแจเปิดให้ ต่อมาเมื่อ ๖ ปีที่แล้วมีรายการโทรทัศน์มาขอถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับรูปพระภิกษุณีในวิหารแห่งนี้ ทางวัดเห็นว่าสาธารณชนมีความสนใจ จึงเปิดให้ชมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
คงจะจริงเพราะเพื่อนฆราวาสของผู้เขียนเล่าให้ฟังว่าเคยทำรายงานเกี่ยวกับภิกษุณี ตอนมาหาข้อมูลที่วัดเทพธิดารามยังต้องไปขอให้พระท่านไขกุญแจเปิดให้ชม พระมหาสุวรรณบอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปขอพระแล้ว เพราะตอนนี้วิหารภิกษุณีเปิดให้ประชาชนเข้าไปนมัสการทุกวัน ตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึง ๕ โมงเย็น
ท่านใดสนใจไปชมภิกษุณีให้ไปที่วัดเทพธิดารามได้ทุกวัน แต่ถ้าต้องการบวชเป็นภิกษุณีคงต้องไปที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี (ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม) จ.นครปฐม หรือสำนักนิโรธาราม จ.เชียงใหม่ หรือถ้าสนใจแบบมหายาน เวลานี้เรามีภิกษุณีสายเวียดนามของท่านติช นัท ฮันห์ ในเมืองไทยแล้ว อยู่ที่ จ.นครราชสีมา ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงต่างประเทศ เรียกว่าเวลานี้เมืองไทยมีพุทธบริษัทครบ ๔ แล้ว แต่หากสนใจการบวชที่เรียบง่าย ไม่ต้องการความยุ่งยาก เราก็ยังมีทางเลือกของการบวชเป็นแม่ชีนุ่งขาวห่มขาวให้ฝึกปฏิบัติ
แต่ทั้งหมดนั้นคือการบวชกาย จะโกนหัว จะห่มผ้าสีใด สิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติร่วมไปด้วยคือ “การบวชใจ” การบวชใจแท้จริงแล้วมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบวชกายเลย