พระเครื่อง

ศาลา-ศาลาการเปรียญ

ศาลา-ศาลาการเปรียญ

24 ส.ค. 2555

ศาลา-ศาลาการเปรียญ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

              วัด เป็นคำเรียกสถานที่ทางพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ เป็นคำเรียกรวมที่ดินและอาคาร เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลา กุฏิ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินนั้นด้วย ซึ่งมี ๒ ประเภท คือ ๑ วัดราษฎร์ ได้แก่ วัดที่ชาวบ้านช่วยกันสร้างไว้เพื่อเป็นพุทธบูชา ได้แก่วัดทั่วๆ ไป และ ๒.วัดหลวง คือวัดที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงสร้างขึ้นไว้
 
              ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า ศาลา หมายถึง ที่พัก เพิง โรง ห้องโถง คือ สิ่งปลูกสร้างโล่งๆ เพื่อพักพิงชั่วคราว เช่น ศาลาริมทาง ศาลาพักร้อน ศาลาท่าน้ำ
 
              ศาลา ในคำวัดหมายถึง สิ่งปลูกสร้างเพื่อการบำเพ็ญบุญ เพื่อการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นที่พักหรือทำกิจชั่วคราว มิใช่อยู่ถาวรเหมือนกุฏิ วิหาร ในวัดมีศาลาหลายประเภท เป็นต้นว่า
 
              ศาลาราย คือ ศาลาที่สร้างรายรอบอุโบสถและวิหาร เช่นเดียวกับถะรายหรือเจดีย์ราย (ถะ หมายถึง เจดีย์ทรงจีน ตัวอย่างเช่นถะราย ที่รายรอบวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ และเจดีย์รายที่วัดโพธิ์ เป็นต้น) 
 
              ศาลาลอย คือ ศาลาที่ยกพื้นสูงระดับเดียวกับแนวกำแพงวัด เช่นที่ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร
 
              ศาลาบาตร คือ ศาลาสำหรับตักบาตร
 
              ศาลาบำเพ็ญกุศล คือ ศาลาสำหรับตั้งศพ
  
              ศาลาดิน คือ ศาลายกพื้นเตี้ยๆ ที่สร้างขึ้นหน้าพระอุโบสถ โดยใช้เป็นสถานที่สำหรับเตรียมเครื่องไทยธรรมต่างๆ เพื่อถวายพระ
  
              ศาลาท่าน้ำ คือ ศาลาที่อยู่บริเวณท่าน้ำไว้นั่งรอเรือ อาจเป็นท่าเรือในตัวโดยมีเสาอยู่ในน้ำ มีบันไดลงไป หรืออาจตั้งอยู่บนบกแล้วมีหัวตะพานยื่นออกไปก็ได้ บางแห่งอาจไม่มีท่าน้ำ แต่ก็อยู่ในบริเวณใกล้ๆ ตลิ่ง เป็นต้น ลักษณะเด่นทรงนิยมก็คือ มีที่นั่งอยู่สองฟาก และมีทางเดินอยู่ตรงกลางพอสวนกันได้ ซึ่งต่างจากศาลาแบบอื่นๆ
 
              ส่วน "ศาลาการเปรียญ" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ศาลาหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ทำบุญ ฟังธรรม เป็นที่ประชุม และอื่นๆ คล้ายศาลาอเนกประสงค์
 
              ศาลาการเปรียญ จัดเป็นศาสนสถานที่สำคัญของวัดรองลงมาจากอุโบสถ โบราณว่า อุโบสถเป็นที่สำหรับพระพุทธ ศาลาการเปรียญเป็นที่สำหรับพระธรรม คือ เป็นที่เผยแผ่ธรรม กุฏิเป็นที่สำหรับพระสงฆ์
 
              ดั้งนั้นศาลาการเปรียญจึงถูกสร้างให้ใหญ่พอสำหรับเป็นที่รองรับคนจำนวนมากได้ วัดใดมีชาวบ้านทำบุญมากจำต้องสร้างศาลาให้ใหญ่เข้าไว้ หากศาลาเล็กคับแคบก็จะทำให้ดูแน่น ทำงานบำเพ็ญบุญ และทำศาสนพิธีต่างๆ ไม่สะดวก
 
              เหตุที่เรียวกว่า "ศาลาการเปรียญ" สันนิษฐานว่าเดิมใช้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรด้วย เพราะสมัยก่อนนิยมเรียนหนังสือกันบนศาลา ยังไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแพร่หลายอย่าปัจจุบัน