พระเครื่อง

พระใบฎีกาสายชลสร้างพลังศรัทธาหลวงปู่หลิวให้เพิ่มพูน

พระใบฎีกาสายชลสร้างพลังศรัทธาหลวงปู่หลิวให้เพิ่มพูน

28 ส.ค. 2555

พระใบฎีกาสายชลพระผู้สร้างพลังศรัทธาหลวงปู่หลิวให้เพิ่มพูน: เรื่อง/ภาพโดยไตรเทพ ไกรงู

              "เทพเจ้าพญาเต่าเรือน" เป็นสมญาที่เหล่าบรรดาลูกศิษย์ขนานนามให้ หลวงปู่หลิว ปณฺณโก อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยตำนานถูกปิดลงในค่ำคืนวันจันทร์ที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ เวลา ๒๐.๓๕ น. หลวงปู่หลิวได้ละสังขารอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานที่คอยมาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย ที่กุฏิของท่าน ณ วัดหนองอ้อ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี รวมอายุ ๙๕ ปี พรรษา ๗๔ พรรษา
 
              แม้การจากไปของหลวงปู่หลิวจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ลูกหลานและญาติโยมก็รู้แก่ใจดี หากท่านสั่งเสียได้ท่านคงอยากบอกทุกคนให้เป็นคนดี เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ดังที่ท่านเคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต ทั้งนี้ หลวงปู่หลิว เคยตั้งปณิธานด้วยสัจจะ ๒ ประการ คือ ๑.ลดเลิกอบายมุขทุกชนิด ๒.เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่
 
              ระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้น หลวงปู่หลิวขออยู่อย่างพระธรรมดาทั่วไป กุฏิหลวงปู่หลิวไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น ไม่มีที่นอนอย่างดี ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อย่างดีราคาแพง ท่านอยู่แบบสมถะ เป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง มีบุคคลต่างๆ จากทั่วทุกสารทิศมาพึ่งบารมีขอพร ขอให้ท่านช่วยคลายทุกข์มากมาย หลวงปู่หลิวมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และฮ่องกง
 
              หลวงปู่หลิวนั้น เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ท่านสมถะไม่หวังในยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านพัฒนาทั้งทางธรรมและทางโลกโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หลวงปู่หลิวท่านฉันอาหารอย่างง่าย อาหารที่หลวงปู่หลิวฉันทุกมื้อคือ ผักต้มนิ่มๆ และมีมะระขี้นกทุกมื้อ น้ำพริกรสไม่เผ็ด แกงเลียง ข้าวต้ม ผัดหมี่ซั่ว ผลไม้ที่ท่านชอบมากคือ ทุเรียน นอกจากนั้นท่านชอบฉันหมากเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้เองในฤดูทุเรียนออกผลเราจะเห็นของแก้บนหลวงปู่หลิวเป็นทุเรียน ที่เห็นทุกวันคือ แกงเลียง
 
              อย่างไรก็ตาม หลังหลวงปู่หลิวมรณภาพ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของท่าน พระใบฎีกาสายชล เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง รูปปัจจุบัน และคณะศิษย์ จึงได้ร่วมกันสร้างรูปเคารพหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง ๘.๕๐ เมตร ปิดทองคำแท้ทั้งองค์ พร้อมกับสร้างวิหารครอบ
 
              ในการก่อสร้างรูปหล่อหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น ๒ อย่าง คือ ๑.ในการสร้างฐานเพื่อประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือนนั้น ช่างได้กำหนดขนาดของฐานให้ขาทั้ง ๔ วางอยู่บนแท่นพอดี แต่เมื่อยกหล่อหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน ปรากฏว่า ขาหน้าด้านซ้ายยื่นเลยออกมาจากแท่น จนกลายเป็นว่าใครมากราบไหว้จะต้องเอาศีรษะให้สัมผัสกับเท้า เหมือนกับว่าให้เหยียบเพื่อความเป็นสิริมงคล และ ๒.เกิดจากงานก่อสร้างที่ไม่คิดมาก่อน กล่าวคือ หลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ สูง ๘.๕๐ เมตร ดูในวิหารว่าใหญ่แล้ว แต่จะใหญ่ยิ่งกว่าเมื่อดูผ่านประตูวิหาร และหากเดินถอยหลัง โดยมองผ่านประตูยิ่งเดินถอยหลังยิ่งไกลเท่าไร ขนาดของเต่าจะใหญ่ขึ้น จนหัวของเต่าใหญ่คับประตูวิหารเลยทีเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะความพอดีของหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน กับบานประตูวิหาร
 
              พระใบฎีกาสายชล บอกว่า เป็นสัจธรรมของโลกและของทุกวัด เมื่อพระเกจิประจำวัดนั้นๆ มรณภาพ จำนวนพุทธศาสนิกชนที่เคยหลั่งไหลมาขอบารมี และเช่าวัตถุมงคลย่อมลดลงเป็นธรรมดา ในที่สุดก็เกือบจะกลายเป็นวัดร้าง แต่ที่วัดไร่แตงทองไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังจากสร้างรูปหล่อหลวงปู่หลิวประทับพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ เสร็จ ลูกศิษย์และประชาชนเดินทางมากราบไหว้ขอพรราวกับหลวงปู่หลิวยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า บารมีของครูบาอาจารย์นั้นมีจริง 
 
              ทุกวันนี้มีลูกศิษย์และผู้เลื่อมใสศรัทธาจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบไหว้ และลอดใต้รูปเหมือนนั่งเต่ากันเป็นจำนวนมาก บางคนให้เหตุผลว่า เพื่อให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้บางคนยังเชื่อว่าลอดแล้วจะอายุยืนเหมือนเต่า ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยมาลอดเพื่อขอโชคลาภ เนื่องจากกิตติศัพท์วัตถุมงคลหลวงปู่หลิวมีพุทธคุณเด่นด้านทำมาค้าขาย และเมตตามหานิยม
 
              ทั้งนี้ พระใบฎีกาสายชลพูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า "เป็นเรื่องยากที่จะให้ลูกศิษย์มีชื่อเสียงเท่าครูบาอาจารย์ เมื่อเกจิประจำวัดมรณภาพลง ชื่อเสียงและบารมีของท่านจะไม่ตายตามตัวท่าน ต้องอยู่ที่พระผู้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมา รวมทั้งลูกศิษย์จะช่วยกันรักษาบารมี สร้างศรัทธา และช่วยเผยแผ่กิตติคุณของท่านให้คนไม่ลืมได้อย่างไร การรักษาบารมีแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เพียงรักษาของเดิมให้ดี ส่วนการสร้างชื่อเสียงใหม่นั้น เป็นพระอายุน้อยพรรษาไม่มากอย่าไปคิด ในปีนี้หลวงปู่หลิวมรณะ ๑๓ ปี แต่คนยังมาวัดเหมือนเช่นเดิม"

 

บุญเลี้ยงพระพันหล่อพระอรหันต์
 
              "เลี้ยงพระ ๑,๐๐๐ รูป และหล่อพระอรหันต์อิติสาวกปีละ ๑ องค์" เป็นงานบุญที่พระใบฎีกาสายชลจัดขึ้นทุกๆ ปี ในวันคล้ายวันมรณภาพ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้หลวงปู่หลิว รวมทั้งเพื่อเป็นบุญกุศลแก่ญาติโยมที่มาร่วมงานและประเทศชาติ
 
              อย่างไรก็ตาม วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๕ ทางวัดจะทำบุญวันคล้ายวันมรณภาพครบ ๑๓ ปี นอกจากนิมนต์พระ ๑,๐๐๐ รูป จาก ๑๐๐ วัด มาถวายภัตตาหารเพลแล้ว โดยเริ่มเวลา ๐๙.๐๙ น.เป็นต้นไป นอกจากนี้ทางวัดยังจัดให้มีการเททองหล่อพระอนุรุทธเถร ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๕ นิ้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางวัดเคยหล่อพระอรหันต์อิติสาวกไปแล้ว ๓ องค์ ได้แก่ ๑.พระอรหันต์กัสสปะเถระ ปางสังคยานา ขนาดหน้าตักกว้าง ๗๐ นิ้ว ๒."พระอานนท์" ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว และ ๓.พระอุปคุต ขนาดหน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว
 
              พระอนุรุทธเถระผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดา ให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีจักษุทิพย์ ควรจะได้ทราบว่า การที่พระอนุรุทธเถระเป็นผู้เลิศเช่นนั้น เพราะเป็นผู้มีความชำนาญที่ได้สั่งสมไว้แล้วในเวลาที่ผ่านมา อรรถกถากล่าวว่า พระเถระนั้น ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ได้เจริญอาโลกกสิณตรวจดูเหล่าสัตว์ด้วยทิพยจักษุอย่างเดียว เว้นแต่ช่วงเวลาฉันเท่านั้น
 
              “ทุกวันนี้ทุกวัดสร้างและหล่อพระพุทธรูปไว้มากแล้ว แต่การสร้างพระอรหันต์อิติสาวกนั้นน้อยมาก พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้เรื่องพระอหันต์น้อยมาก ทั้งๆ ที่พระอรหันต์แต่ละรูปมีคุณต่อพุทธศาสนาคณานับ โดยอาตมามีความตั้งใจว่า จะหล่อไปจนกว่าจะครบ ๘๐ องค์ ตามในพุทธประวัติ” พระใบฎีกาสายชล