พระเครื่อง

'นารีวงศ์’ประวัติร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม(๑)ใครคือ'นรินทร์กลึง'?

'นารีวงศ์’ประวัติร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม(๑)ใครคือ'นรินทร์กลึง'?

09 ก.ย. 2555

'นารีวงศ์’ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม( ๑ )ใครคือ'นรินทร์กลึง' ? : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม เรื่อง อุสาห์ รงคสุวรรณ ภาพ

              บ่ายวันหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านของนักต่อสู้ในอดีตนาม "นรินทร์ ภาษิต" บ้านของเขาตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เมืองนนทบุรี จึงได้สอบถามถึงเรื่องราวในอดีตของ "นายนรินทร์" และ "นางสาระ" จากสุภาพสตรีผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อและตัวตนของเธอ เราจึงไม่อาจเปิดเผยที่มาที่ไปของเธอได้เพราะเธอต้องการเป็นเพียงบุคคลธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่สำคัญเธอมอบภาพถ่ายเก่าๆ ไว้ใช้ประกอบงานเขียนชิ้นนี้ซึ่งเป็นภาพถ่ายโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จนไม่อาจประเมินราคาได้ ข้อมูลต่างๆ ในบทความนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์เธอ เอกสารที่พอจะหาได้จากบุคคลต่างๆ คือ อ.ศักดินา ฉัตรกุล อ.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคุณปุ้มปุ้ย
 
              ย้อนหลังกลับไป ๘๔ ปีที่แล้ว หรือราว พ.ศ.๒๔๗๑ เรื่องราวการพาลูกสาวออกบวชเป็นสามเณรีของนรินทร์ ภาษิต กลายเป็นประเด็นร้อนในเมืองสยาม ณ ช่วงเวลานั้นไม่มีใครไม่รู้จัก นรินทร์ ภาษิต เพราะเขาสร้างวีรกรรมไว้หลายอย่างเพื่อช่วยเหลือสังคมให้เกิดความเป็นธรรม เราจะย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ด้านที่ไม่มีการจดบันทึกไว้ซึ่งกำลังจะถูกลืมเลือนไปจากสังคมไทย
 
นรินทร์ ภาษิต ชื่อนี้คือใคร 
 
              หากจะนิยามบุรุษผู้นี้หรือที่ใครๆ มักเรียกขานชื่อจริงผสมชื่อเล่นของเขาว่า ‘นรินทร์กลึง’ นั้นคือใคร ก็อาจนิยามได้ว่านรินทร์เป็นประชาชนชาวสยามคนหนึ่งที่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับชนชั้นล่าง ชนชั้นล่างที่มักถูกเอารัดเอาเปรียบจากภาครัฐ เขาไม่ต้องการให้รัฐรีดนาทาเร้นคนยากจนจึงออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมอยู่เสมอ เขามุ่งมั่นเรียกร้องความจริงจากผู้มีอำนาจจนความจริงที่เขาพูดออกไปทำให้เขาติดคุก เขาเป็นชาวพุทธที่อยากเห็นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองจึงเสนอให้มีการสังคายนากำจัดอลัชชี เปลี่ยนคำว่าวัดเป็นวัตร์ พาผู้หญิงออกบวชห่มเหลือง เสนอให้ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตและปล่อยตัวนักโทษเพื่อเปิดโอกาสให้คนได้กลับตัว
 
              ทั้งหมดนี้น่าจะนิยามได้ว่า นรินทร์เป็นโพธิสัตว์แห่งสยามสมัยผู้เกิดมาเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์ เปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความยุติธรรม ทั้งก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงแม้หลายเรื่องที่เขาทำจะยังไม่สำเร็จก็ตาม
 
              เขาเกิดในตระกูลสามัญชน เป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.๒๔๑๗-๒๔๙๓ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๙  อายุ ๑๕ ได้บวชเป็นสามเณร หลังลาสิกขาเข้าทำงานในวงราชการตลอด เป็นเสมียนสังกัดกระทรวงต่างๆ ได้ยศเป็น หลวงศุภมาตรา แล้วเลื่อนเป็น หลวงรามบุรานุกิจ จนเป็นพระพนมสารนรินทร์ มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครนายก ที่นี่นรินทร์ได้แต่งงานกับนางผิว มีบุตร ๕ คน เป็นหญิง ๒ ชาย ๓ คือ สาระ ณรงค์ จงดี ศรีไทย และไชยโย
 
              นรินทร์ลาออกจากข้าราชการเมื่ออายุ ๓๕ ปี แล้วพาครอบครัวหันไปปั้นหม้อดินขาย ส่วนตัวเขาเองสนใจเรื่องพัฒนาสังคม เขาจัดตั้ง ‘พุทธบริษัทสมาคม’ เป็นองค์กรพุทธองค์กรแรกที่ดำเนินงานโดยคฤหัสถ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแผ่พุทธธรรม ปฏิรูปพุทธศาสนา ปราศจากความงมงายให้เข้าถึงแก่น มีการออกวารสารธรรมะ ๒ เล่มคือ สารธรรม และโลกกับธรรม
 
              เคยจัดตั้ง ‘คณะยินดีการคัดค้าน’ เพื่อช่วยใครก็ได้ที่ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกดขี่หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมให้มาแจ้ง คณะของเขาจะช่วยให้ได้รับความเป็นธรรม และยังออกวารสาร ‘เหมาะสมัย’ รวมเรื่องราวของบุคคลที่มาร้องทุกข์เพื่อนำเสนอแก่เจ้าพนักงาน
 
              เขาเคยผลิต ‘ยาดองตรานกเขาคู่’ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนกลายเป็นเศรษฐีแล้วนำกำไรไปสร้างตึก ๗ ชั้น ต่อมาตึกนี้ได้กลายเป็นวัตร์นารีวงศ์ วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม
 
              เพราะเป็นคนฉลาดอ่านออกเขียนได้ อาวุธที่เขาใช้ในการตอบโต้ผู้มีอำนาจคือ ‘ใบปลิว’ ทุกครั้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสิ่งที่เขาลงมือทำทันทีคือการเผยแพร่ใบปลิว ใบปลิวของเขา “แรง” ถึงขนาดถูกห้ามแจก แต่เขาก็แค่วางทิ้งไว้บนพื้นแล้วมันก็หมดไปในพริบตา ในชีวิตของเขาก่อตั้งองค์กรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมาแล้วประมาณ ๑๐ องค์กร เขียนหนังสือและเผยแพร่ใบปลิวเพื่อปฏิวัติสังคมในแต่ละช่วงเวลาจนนับจำนวนไม่ได้ว่าออกหนังสือมาแล้วกี่เล่ม แจกใบปลิวไปแล้วกี่แผ่น
 
วีรกรรมจำคุก ๖ ครั้งในชีวิต
 
              จะมีใครถูกตัดสินจำคุกได้มากครั้งเท่าเขาคนนี้ การติดคุกแต่ละครั้งก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากตัวเองแต่ติดคุกเพราะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่นทั้งสิ้น
 
              เมื่ออายุ ๔๗ ปี ติดคุกครั้งแรก พ.ศ.๒๔๖๐ เวลานั้นมีการจี้ปล้นของโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นในหลายท้องที่ เขาจึงแจกใบปลิว ‘สงบอยู่ไม่ได้’ ประณามการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการที่กินเงินภาษีราษฎรแต่ไม่เอาใจใส่ปกป้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน รัฐบาลตั้งข้อหาว่าเขาแจกใบปลิวใส่ร้ายรัฐ ยุยงประชาชนให้เกลียดชังรัฐ นี่เป็นการติดคุกครั้งแรกในชีวิตเป็นเวลา ๒ ปี ๑ เดือน
 
              เมื่ออายุ ๕๗ ปี พ.ศ.๒๔๗๔ เวลานั้นเศรษฐกิจตกต่ำ เขาเขียนหนังสือทูลเกล้าฯ ถึงสมเด็จพระสังฆราชขอให้พระสังฆราชและพระสงฆ์ทุกรูปสละทรัพย์และนิตยภัตคืนแก่ประเทศชาติเพื่อช่วยเศรษฐกิจของชาติและขอให้พระองค์ช่วยกำจัดพระอลัชชีที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย จดหมายนี้ทำให้เขาถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระสังฆราชเป็นเหตุให้ถูกจำคุกเป็นครั้งที่ ๒ เป็นเวลา ๒ ปี
 
              อายุ ๕๙ ปี เขาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการอันเป็นเงินภาษีเก็บจากชายไทยทุกคนปีละ ๖ บาท ไม่เว้นแม้คนยากจน ใครไม่จ่ายถูกปรับเป็น ๑๒ บาท ใครไม่ชำระต้องจำคุก เขาจึงแจกใบปลิว ‘ไทยไม่ใช่ทาส’ มีเนื้อหาประณามรัฐบาลว่ามีใจเหี้ยมโหดยิ่งกว่ามหาโจรปล้นได้กระทั่งคนยากจนและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินรัชชูปการ เขาถูกจับเข้าคุกเป็นเวลา ๒ ปี ๘ เดือนในข้อหากบฏ แม้อยู่ในคุกก็ยังประท้วงต่อด้วยการอดอาหารนาน ๒๑ วัน เขาเป็นบุคคลแรกที่นำวิธีการอดอาหารมาใช้ ในที่สุดรัฐบาลยอมยกเลิกเก็บเงินรัชชูปการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๖ สร้างความดีใจให้กับชายไทยที่ยากจนทุกคน
 
              การติดคุก ๓ ครั้งสุดท้ายครั้งละ ๒ ปีเป็นการติดคุกเพราะมีเรื่องกับนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นรินทร์ออกหนังสือ “แนวหน้า” วิจารณ์จอมพล ป.เป็นเผด็จการ เรื่องห้ามนุ่งโจงกระเบน ห้ามเคี้ยวหมาก ออกใบปลิวและเขียนจดหมายใช้ถ้อยคำหยาบคายถึงจอมพล ป. โดยตรง พร้อมกับท้าให้จอมพล ป.สละตำแหน่งนายกฯ แล้วให้ตนขึ้นเป็นนายกฯ แทน เขาเข้าคุกครั้งสุดท้ายเมื่อปัจฉิมวัย ๖๙ ปี ออกจากคุกเมื่ออายุ ๗๑ ปี
 
              นรินทร์เคยพูดไว้ว่า ‘คนเราอย่างมากที่เขาจะทำกับเราได้คือจับไปฆ่าเสียเท่านั้น’ นี่จึงเป็นคติประจำใจที่ทำให้เขามีแรงต่อสู้กับผู้มีอำนาจโดยไม่สนว่าตัวเองจะถูกลงโทษอย่างไร