พระเครื่อง

พระปิดหูพระปิดเคราะห์กับปริศนาธรรมพระอาจารย์อุเทน

พระปิดหูพระปิดเคราะห์กับปริศนาธรรมพระอาจารย์อุเทน

19 ต.ค. 2555

พระปิดหูพระปิดเคราะห์กับ...ปริศนาธรรม พระอาจารย์อุเทน วัดท่าไม้ : ท่องแดนธรรม เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ ประเสริฐ เทพศรี 0

              ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของพระพุทธรูป ทำตามพระมหาปุริสลักษณะ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แบ่งได้ตามแหล่งและยุคในประวัติศาสตร์ ดังนี้ แคว้นคันธาระ มี ๙ ปาง  อินเดีย มี ๗ ปาง  ลังกา มี ๕ ปาง  ทราราวดี มี ๑๐ ปาง  ศรีวิชัย มี ๖ ปาง  ลพบุรี มี ๗ ปาง  เชียงแสน มี ๑๐ ปาง  สุโขทัย มี ๘ ปาง  อยุธยา มี ๗ ปาง  รัตนโกสินทร์ มี ๕ ปาง
 
              นอกจากนี้แล้วยังมีพระพุทธรูปอีกปางหนึ่งที่ไม่ได้สร้างตามพระมหาปุริสลักษณะ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ พระปิดหู เป็นพระพุทธรูปปางแปลก แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่เคยเห็นโดยทั่ว ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณลานอเนกประสงค์ หน้าทางเข้า วัดดอนเจดีย์ หมู่ ๕ ต.ดอนเจดีย์ อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ส่วนอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่ วัดท่าไม้ ตั้งอยู่เลขที่ ๕๑ หมู่ที่ ๑๑ ถนนเศรษฐกิจ ๑ ซอย ๘ ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งมี "พระอาจารย์อุเทน" หรือ พระครูปลัดอุเทน สิริสาโร เป็นเจ้าอาวาส
 
              พุทธลักษณะโดยรวมของพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ มือทั้ง ๒ ด้านปิดที่หูไว้ หลับตาสองข้าง ซึ่งมีลักษณะแปลกกว่าพระพุทธรูปโดยทั่วไป ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปปิดหูองค์นี้ว่า หลวงพ่อปิดเคราะห์ หรือพระพุทธปริศนาธรรมมงคล ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อปิดเคราะห์นั้น ผู้ที่มากราบไหว้มีคติความเชื่อว่าท่านมีความเมตตาสูงมาก ไม่ว่าใครก็ตาม หากกำลังเผชิญกับปัญหา หรือทุกข์ภัยหนักหน่วงแค่ไหน เมื่อเดินทางมากราบไหว้ขอพรจากองค์หลวงพ่อก็มักจะได้รับความเมตตา โดยท่านจะดลบันดาลให้สิ่งที่ต้องการนั้นสมมาดปรารถนาอยู่เสมอ ทุกวันนี้จึงมีพุทธศาสนิกขนจำนวนมากพากันแห่กราบไหว้ "พระปิดเคราะห์" และปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์
 
              พระอาจารย์อุเทนบอกว่า พระปิดหู หรือพระปิดเคราะห์สร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ โดยได้แบบมาจากวัดสองพี่น้อง การสร้างพระปิดหู ไม่เกี่ยวข้องกับประวัติพุทธศาสนาตอนใด ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องสื่อธรรมถึงญาติโยมที่ว่า กิเลสนั้นเข้าได้หลายทาง แต่ที่เข้าได้ง่ายที่สุด คือ หู และตา การปิดหูและหลับตา เท่ากับเป็นการปิดช่องทางของกิเลส เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการได้ยิน หากฟังด้วยปัญญา ฟังแลเวพิจารณาก็เกิดประโยชน์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนทั่วๆ ไปมักฟังแล้วเอาไปปรุงแต่ง ไม่ได้ใช้สติปัญญาในการใครครวญไตร่ตรองจึงกลายเป็น "มงคลตื่นข่าว"
 
              จุดประสงค์หลักของการสร้างพระปิดหูพระปิดเคราะห์ เพื่อให้กราบไหว้ขอพรเรื่องสติเป็นหลัก เมื่อมีสติแล้วจะได้หมดทุกอย่าง ประการแรกที่จำง่ายที่สุด คือ มีสติไม่เสียสตางค์ คนที่เสียสตางค์ส่วนใหญ่ไม่มีสติ ที่ยิ่งกว่านั้น คือ มีสติก็มีชีวิต ซึ่งที่ผ่านมานั้นคนเราตายเพราะขาดสติ ขาดความยั้งคิด อย่างกับความตายที่เกิดขึ้นบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากขาดสติ ทั้งนี้ มีความเชื่อและคำรำลืออย่างหนึ่งว่า เมื่อมากราบไหว้ขอพรพระปิดเคราะห์ให้มีสติจะไม่เกิดอุบัติเหตุรถชน ขณะเดียวกันยังมีคำรือเกี่ยวกับการแคล้วคลาดก็เป็นที่สุดด้วย
 
              อย่างไรก็ตามตั้งแต่พระอาจารย์อุเทนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ให้การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์ โดยเปิดสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เข้าสอบธรรมสนามหลวงทุกปี และส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาแก่บุคคลทั่วไปตามสมควร ส่วนวันธรรมสวนะ หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันอื่นๆ วัดได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศล และประกอบพิธีทางศาสนา เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทยตลอดมา สำหรับผู้จะเดินทางไปวัดท่าไม้ หรือสนใจเข้าปฏิบัติธรรม สอบถามข้อมูลได้ที่วัดท่าไม้ โทร.๐๘-๙๙๙๒-๒๓๑๘ และ ๐๘-๗๕๑๓-๘๘๙๙

ไม้มะค่ายักษ์ ๑,๐๐๐ ปี วัดโกรกราก
 
              วัดโกรกกราก ตั้งอยู่เลขที่ ๑๘๘ ถ.ธรรมคุณากร ต.โกรกกราก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ใส่แว่นตา เนื้อศิลาแลง สมัยสุโขทัย ซึ่งประชาชนทั่วไปเรียกท่านว่า "หลวงพ่อปู่" ซึ่งเดิมที่นั้นเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องสะเดา เป็นวัดร้างเก่าแก่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ ปรักหักพังหมดแล้ว ดังนั้นชาวรามัญบ้านกำพร้า จึงได้อัญเชิญมาทางเรือสององค์ องค์หนึ่งเนื้อสัมฤทธิ์ อีกองค์หนึ่งเนื้อศิลาแลง ล่องเรือมาตามแม่น้ำท่าจีน พอเรือใกล้ถึงหน้าวัดโกรกกราก ได้เกิดลมพายุฝนตกหนัก ล่องเรือต่อไปไม่ได้ จึงนำเรือมาจอดหลบลมฝนริมคลองข้างวัด พอจอดเรือเรียบร้อย ก็ช่วยกันยกพระศิลาแลงขึ้นมาบนฝั่งเพื่อไม่ให้ถูกน้ำฝนเซาะ เมื่อลมฝนสงบแล้ว จึงยกพระศิลาแลงลงเรือ เพื่อจะล่องต่อไป แต่ปรากฏว่ายกไม่ขึ้น ทำอย่างไรก็ยกไม่ขึ้น และหนึ่งในจำนวนชาวรามัญบ้านกำพร้าที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้อธิษฐานว่าถ้าพระศิลาแลงจะอยู่วัดโกรกกราก ก็ขออัญเชิญพระศิลาแลงไปประดิษฐานยังอุโบสถ ปรากฏว่ายกขึ้น นับแต่นั้นมาทางวัดจึงมีพระศิลาแลงเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่บัดนั้นจวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยความอัศจรรย์ใจและศรัทธาในพุทธาภินิหาร จึงพร้อมใจกันจัดงานนมัสการขึ้น ตรงกับวันกลางเดือนยี่ (ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๒) ของทุกปีตลอดมา
 
              อย่างไรก็ตามตั้งแต่พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ หรือพระมหาสัมฤทธิ์ วิสุทฺธสีโล เจ้าคณะตำบลโกรกกราก ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการปกครองและพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุดหน้าไปกว่าเดิมมาก ท่านได้จัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพระศาสนาเช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัคนีบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ทางวัดได้จัดให้มีการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีล และเวียนเทียน (วันเข้าพรรษาไม่มีการเวียนเทียน) วันออกพรรษา ทางวัดได้จัดให้มีการทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ฟังเทศน์ ในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ วัดได้จัดให้มีการทำบุญ ฟังเทศน์ และถืออุโบสถศีล อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ ตุลาคมนี้ วัดได้จัดให้มีการบวชชีพราหมร์ ถือศีลปฏิบัติธรรม รวมทั้งเทศมหาชาติเวสสันดรชากดก โดยวัดได้จัดเตรียมสถานที่ รวมทั้งเตรียมอาหารไว้รองรับศรัทธาของญาติโยม
 
              นอกจากนี้แล้วโครงการหนึ่งที่ท่านดำเนินการก่องสร้างคือ อุโบสถไม้เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อปู่และหลวงปู่กรับ โดยล่าสุดท่านได้ซื้อไม้มะค่าอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี จากประเทศลาวราคาต้นละเกือบ ๑๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นไม้มะค่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย โบสถ์หลวงพ่อปู่จะเปิดให้ผู้มาทำการสักการะกราบไหว้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๙.๐๐ น. สอบถามข้อมูลได้ที่โทร.๐-๓๔๔๑-๑๔๐๐, ๐๘-๙๔๒๑-๔๕๓๓ และ ๐๘-๑๗๙๓-๒๐๗๘