พระเครื่อง

พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทองกับพระพุทธเจ้าหลวง

พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทองกับพระพุทธเจ้าหลวง

23 ต.ค. 2555

พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทองกับพระพุทธเจ้าหลวง และเรื่องที่ไม่ได้เล่าในจดหมายเหตุ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ

               ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ เป็นวันเนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๕ หรือที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นวัน "ปิยมหาราช" พระพุทธเจ้าหลวงอันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย อีกทั้งวันนี้ยังเป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๑ อีกด้วย จึงขอย้อนรำลึกไปเมื่อ ๑๑๓ ปีก่อน เมื่อครั้งที่รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งปกครองประเทศอินเดีย เห็นสมควรถวายพระบรมสารีริกธาตุ แด่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ในครั้งนั้น มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจจาก ท่านเจ้าคุณพระธรรมสิทธินายก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อเพิ่มศรัทธาปสาทะในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีอยู่จริง มีพระธรรมคำสอนที่สามารถดับทุกข์ได้จริง และมีพระสงฆ์สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่สืบสายธารธรรมจากสมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่องนั้นมีอยู่มากทั้งในประเทศไทยและในอีกหลายประเทศ เราจะได้มีกำลังใจในการเร่งความเพียรเจริญสติ สมาธิ และปัญญา ส่งเสริมการปฏิบัติบูชาไปสู่ความพ้นทุกข์ทางใจในชาตินี้ โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดภายนอกให้เสียเวลา เพราะตัวช่วยภายนอกที่จะทำให้เราพ้นทุกข์นั้นไม่มีอยู่จริง มีเพียงการปฏิบัติขัดเกลากิเลสส่วนตนเท่านั้นที่จะเป็นคำตอบของตัวเราเองได้
 
               ท่านเจ้าคุณพระธรรมสิทธินายกเล่าให้ฟังว่า ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าที่ภูเขาทอง วัดสระเกศเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งสำคัญสองอย่างคือ พระธาตุเจดีย์ และพระธรรมเจดีย์เป็นภาษาพราหมี อันเป็นหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่มีทั้งสองอย่างนี้อยู่ด้วยกัน แล้วท่านก็เล่าถึงการเดินทางของที่มาทั้งสองสิ่งซึ่งไม่น่าเป็นเหตุบังเอิญ
 
               "พระบรมสารีริกธาตุที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ มีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขุดพบก็ดี การอัญเชิญมาก็ดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น พระองค์ท่านให้บันทึกเป็นเรื่องราวทางจดหมายเหตุไว้ทั้งหมด ส่วนการขุดพบในอินเดีย รัฐบาลอินเดีย ก็ทำเป็นหลักฐานเหมือนกันว่า การขุดพบ พบอย่างไร ชั้นดินที่ขุดลึกแค่ไหน ลักษณะของภาชนะอะไร แม้แต่ภายนอกทำด้วยหินอ่อนในยุคนั้น ภายในสี่เหลี่ยมประกอบไปด้วยเครื่องเกียรติยศโบราณ และมีผอบหินทรายที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสักฝายมือหนึ่ง"
 
               มีคำถามว่า ทำไมเราแน่ใจว่าเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธเจ้า ?
 
               "ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญเพราะในผอบที่บรรจุนั่นแหละเป็นหินทราย เป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน ๕ นิ้ว ตรงที่ผอบอันนั้นเป็นหลักฐานสำคัญ มีการเขียนด้วยอักษรพราหมีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แปลความในยุคหลังต่อมาได้ว่า เป็นของสมณโคดม การบรรจุนี้เป็นของตระกูลศากยราชเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งได้รับการแบ่งไปในคราวโทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ภายหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หลังพุทธกาลนั้น แล้วมาเก็บไว้ในสถูปโบราณ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบัสติ อันเป็นที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ ในสมัยพุทธกาล ทำให้แน่ใจว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะระบุชัดเจนว่าเป็นของสมณโคดม เป็นเรื่องราวที่มั่นใจได้แน่นอน "
 
               ด้วยความที่รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดียเป็นเวลานานในขณะนั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมสิทธินายกวิเคราะห์ว่า ถือเป็นบารมีของรัชกาลที่ ๕ ด้วย และอาจเป็นเรื่องทางการเมืองด้วยก็คือว่า อังกฤษต้องการมีความสัมพันธ์กับไทย เพราะมีไทยประเทศเดียวที่ยังไม่ขึ้นต่ออาณานิคมใคร เลยมีการเชื่อมโยงติดต่อ เพื่อที่จะได้มีการมอบพระบรมสารีริกธาตุให้กับสยามประเทศ
 
               "ตอนนั้นรัชกาลที่ ๕ พระองค์ท่านยังไม่วางใจว่ารัฐบาลอินเดียจะให้ด้วยลักษณะอะไรอย่างไร ก็ต้องมีการพิสูจน์เป็นเรื่องเป็นราวอีกเหมือนกัน มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่าพระองค์ได้มอบให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งทำหน้าที่หลายอย่างไปรับมอบที่ประเทศอินเดีย การรับมอบในครั้งนั้น กลับมาโดยการเดินทางโดยเรือ มีเรื่องราวนอกเรื่องว่า การเดินทางโดยเรือจะมาลงที่ภูเก็ตเรื่อยมา ก็จะให้ฝ่ายบ้านเมืองในแต่ละจังหวัดจัดเครื่องบรรณาการ หรือเครื่องเคารพสักการะในแต่ละหัวเมืองมาจนถึงปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ มีการเฉลิมฉลองอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ตอนนั้นมีเรื่องเล่าเป็นที่อัศจรรย์คือมีแสงสว่างปรากฏขึ้นในเรือเฉลิมฉลอง ทุกคนเห็นหมด เป็นเรื่องเล่าต่อกันมา
 
               "พอเจ้าพระยายมราช รับมาแล้วก็มาถวายรัชกาลที่ ๕ พอถวายเสร็จ พระองค์ทรงเอาผ้าที่ห่อพระบรมสารีริกธาตุให้เจ้าพระยายมราช และทรงเก็บเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุไว้ในผอบ ตรงนี้อยู่ในบันทึกของเจ้าพระยายมราช ในหนังสือ "จากยมราชถึงสุขุมวิท" เป็นเรื่องราวส่วนตัวของเจ้าพระยายมราชที่บันทึกเกี่ยวกับการทำงานทั้งหมด ตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็มอบผ้าห่อนี้ คืนให้เจ้าพระยายมราชไป พอกลับไปถึงบ้าน เจ้าพระยายมราชก็นำห่อผ่านี้ไปวางไว้บนหิ้ง
 
               "คืนนั้นท่านผู้หญิงตลับ ยมราช ภรรยาเจ้าพระยายมราช เห็นแสงสว่างปรากฏขึ้นในผ้าห่อผืนนั้น เจ้าพระยายมราชก็เลยไปคลี่ผ้าผืนนั้นดูปรากฏว่ายังมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่อีก ๔ องค์ เช้ามาก็เลยนำผ้าผืนนั้นไปถวายคืนรัชกาลที่  ๕ พระองค์ทรงดูแล้วก็ปรารภว่า ในเมื่อมอบให้ไปแล้วก็จะไม่รับคืน เอาไปสักการบูชาเองก็แล้วกัน จากนั้นมาเจ้าพระยายมราชก็ได้เก็บส่วนนี้ไว้เรื่อยๆ มา
 
               "เป็นประสบการณ์ตรงของอาตมาที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ด้วย วันหนึ่งมีคนนิมนต์ไปฉันเพลที่บ้านโบราณ ซึ่งไม่คุ้นกัน คุยกันไปมา เขาเล่าว่าเป็นเชื้อสายของสุขุมโดยตรงรุ่นที่ ๓ และมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่บ้านด้วยก็เลยคิดว่าจะนำมาถวาย เราก็บอกว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะว่าพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจะได้มาอยู่รวมกัน ก็เลยไปรับมา แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ภูเขาทองเมื่อวันวิสาขบูชาปีที่แล้ว ซึ่งครบรอบ ๑๑๒ ปีแห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ พอดี"
 
               ท่านเจ้าคุณพระธรรมสิทธินายกอธิบายต่อมาว่า อีกเรื่องก็เป็นเรื่องสำคัญ คือคัมภีร์พระไตรปิฎกโบราณ
 
               "เรานำมาจัดที่พุทธมณฑล ๖ เดือนเมื่อสองปีก่อน เดิมคัมภีร์นี้อยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่พระพุทธรูปจะถูกทำลายนิดหน่อย นักโบราณคดีของชาวนอร์เวย์ที่ชอบแสวงหาของเก่าไปลักลอบเอาออกมาก่อน ๑๒ ปีก่อนถูกระเบิด แล้วนำไปไว้ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศนอร์เวย์ จากนั้นก็ไปจ้างนักค้นคว้า นักโบราณคดีทั้งหมด ๑๒ ประเทศเข้ามาทำการแปล จนกระทั่งปรากฎออกมาว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระไตรปิฎก หลักคำสอนทางพุทธศาสนา
 
               "วันหนึ่งอาตมาไปประเทศนอร์เวย์ ได้รับการติดต่อจากคนไทยที่เกี่ยวข้องกับงานตรงนี้อยู่ เขาบอกว่า มีเรื่องราวสำคัญมาก ประเทศนอร์เวย์ยังไม่เคยเปิดเผย เขาก็ประสานงานให้อาตมาเข้าไปดู เมื่อเข้าไปเห็นก็ตกใจมากว่าเขาเก็บรักษาอย่างดี แม้เขาไมได้นับถือพุทธศาสนาก็ยังลงทุนมหาศาลในการแปลคัมภีร์โบราณ จึงได้รู้ว่าเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์ที่เก่าแก่กว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งที่อัฟกานิสถานคือดินแดนที่พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองในยุคแรก แล้วถูกทำลายเรื่อยมาจนหมด เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย อาตมาก็คิดว่า ทำอย่างไรจึงจะนำกลับประเทศไทยให้ได้ เพื่อให้ชาวพุทธได้กราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต ก็เลยคิดทำเรื่องขอยืมมาจัดแสดงที่ประเทศไทย เขาก็ให้ทำเรื่องขอยืมในนามรัฐบาล เราก็นำมาจัดแสดงเมื่อพฤศจิกายน ปี 2553 แล้วนำไปคืน ก่อนกลับ เราก็ขอชิ้นส่วนนิดหน่อยไว้ ก็เลยได้รับส่วนแบ่งมาเล็กน้อยเพื่อให้คนไทยได้สักการระบูชา อยู่ที่วัดสระเกศ จนถึงทุกวันนี้" 
 
               ๒๖๐๐ ปีแห่งการการตรัสรู้ธรรมของบุรุษผู้มีชัยเหนือกิเลส ๒๕๕๕ ปีแห่งการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และ ๑๐๒ ปีแห่งการเสด็จสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องราวของพระองค์ท่านในอดีตเป็นบุคลาธิษฐานอย่างดี ที่ทำให้เราเพียรปฏิบัติขัดเกลากิเลสไปบนหนทางสู่การพ้นทุกข์ทางใจโดยมีพระธรรมนำทาง...