พระเครื่อง

พังพระกาฬองค์ต้นแบบของ'กำจร สถิรกุล'

พังพระกาฬองค์ต้นแบบของ'กำจร สถิรกุล'

29 ต.ค. 2555

พังพระกาฬองค์ต้นแบบของ...นายกำจรสถิรกุล อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ : พระองค์ครูโดยไตรเทพ ไกรงู

               ระหว่างปลายพ.ศ.๒๕๔๙-๒๕๕๐ จตุคามรามเทพ ได้รับความนิยมอย่างยิ่งจนกลายเป็นกระแสในสังคมไทยกระแสความศรัทธาได้พุ่งทะยานขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นพุทธพาณิชย์ และแฟชั่นบูชาขยายวงกว้างไปทุกชนชั้น ได้ถึงจุดความนิยมสูงสุดกลายเป็นวัตถุบูชาที่ถูกผลิตขึ้นมากมายใกล้หนึ่งพันรุ่นที่มีการปลุกเสกแบบรายวัน เกือบทุกวัด เกือบทุกแผงพระ และแม้แต่ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถาบัน และองค์กรต่างๆ นำจตุคามรามเทพมาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ทั้งการกุศลและไม่ใช่กุศล

               พ.ศ.๒๕๕๐สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีการประเมินมูลค่าเงินหมุนเวียนของจตุคามรามเทพมีมูลค่าสูงถึง ๒.๒ หมื่นล้านบาท ผลักดันจีดีพีของประเทศโตขึ้น ๐.๑-๐.๒% ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และทำให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากการสร้างและเช่าบูชาจตุคามรามเทพด้วย

               เชื่อกันว่าเดิมนั้นองค์จตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช มีพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เชื่อว่ามีพระวรกายเป็นสีเข้ม เป็นกษัตริย์นักรบที่แกร่งกล้า เมื่อสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัยได้อย่างมั่นคงแล้ว จึงได้สมัญญาว่า "ราชันดำแห่งทะเลใต้" หรือมีอีกราชสมัญญาหนึ่งว่า "พญาพังพกาฬ" และต่อมาสำเร็จวิชาจตุคามศาสตร์ และทรงบำเพ็ญบุญเพื่อสร้างบารมีอธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อบรรเทาทุกข์แก่มนุษย์ทั้งปวง

               พระปิดตาพังพะกาฬเป็นศิลปะของนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ยุคโบราณ มาถึงยุคปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากมายและเป็นที่ปรารถนาของทุกคน ราคาจึงแพงมากๆ เป็นเรื่องธรรมชาติของดีของแพง ก็ต้องมีคนทำเก๊ออกมา พระเกจิอาจารย์ยุคปัจจุบันจึงได้รวบรวมชนวนโลหะธาตุที่เป็นมงคลต่างๆ นำมาสร้างในรูปลักษณ์ของปิดตาพังพะกาฬ

               สำหรับที่มาของต้นแบบพระปิดตาพังพระกาฬนั้นพล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล หนึ่งเดียวในแผ่นดินที่อัญเชิญองค์จตุคามรามเทพประทับทรงได้ ผู้สร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราช ได้รับมอบจากนายกำจร สถิรกุล อดีตผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช นำมามอบให้ โดยนายกำจรได้เช่ามาจากชาวประมงที่มาบอกขายให้ ๒ องค์ องค์ละ ๕๐๐ บาท ซึ่งทั้งสององค์เป็นพระคนละประเภทกัน ในความรู้สึกของผู้ว่ากำจรบอกว่า องค์หนึ่งตัวเองจะเก็บเอาไว้ ส่วนอีกองค์หนึ่งต้องนำไปให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชในขณะนั้น ซึ่งเป็น "พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล" นั่นเอง และได้ถูกนำมาเป็นองค์ต้นแบบในการจัดสร้างเหรียญพังพระกาฬ  พ.ศ.๒๕๓๐

               เหรียญพังพระกาฬรุ่น ๑ ปี ๒๕๓๐ มีด้วยกัน ๓ เนื้อ คือ เนื้อทองคำมีการเช่าหากันมากกว่า ๕ ล้านบาท ส่วนเนื้อเงินอยู่หลักแสนกลางๆ และเนื้อนวโลหะราคาอยู่ที่ ๘๐,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ บาท ในช่วง พ.ศ. ๒๕๔๙- ๒๕๕๐ ค่านิยมจะสูงกว่านี้มาก โดยฉพาะเนื้อนวโลหะค่าอยู่ที่ ๑๕๐,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ บาท ในรุ่นนี้มีคำพูดหนึ่งที่ติดปาก คือ "มีกูไว้ไม่อับจน" แต่ด้วยราคาที่สูงมากจึงมีการสร้างรุ่น ๒ ออก มาเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ สร้างออกมา ๓ เนื้อเช่นเดียวกับรุ่นแรก