ถวาย-ประเคน : คำวัด
ถวาย-ประเคน : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
ถวาย อ่านว่า ถะ-หวาย เป็นคำกริยา หมายถึง ให้, มอบให้, เช่น ถวายของ (ใช้แก่พระสงฆ์หรือเจ้านาย); ให้ดู, ให้ชม, เช่น รําถวายมือ เล่นถวายตัว, แผลงเป็น "ดงวาย" หรือ "ตังวาย" ก็ได้
การถวายสิ่งของแด่พระสงฆ์ หรืออาหารแด่พระสงฆ์ เป็นการถวายเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์มีหน้าที่ในการเผยแพร่พระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าหากเจ้าของทรัพย์หรืออาหาร มีความตั้งใจในการสละทรัพย์ด้วยความศรัทธา บุญสำเร็จผลตั้งแต่ความคิดแล้ว แม้มีผู้อื่น กระทำการถวายแทนก็ตาม บุญบังเกิดแก่เจ้าของทรัพย์แน่นอน หาทำให้บุญของเจ้าของทรัพย์น้อยลงไม่ ส่วนผู้กระทำการแทนนั้น หากกระทำด้วยจิตบริสุทธิ์และร่วมอนุโมทนา บุญย่อมส่งผลได้เช่นกัน
การถวายสังฆทาน หมายถึงการ ถวายสิ่งของจตุปัจจัยวัตถุแก่หมู่พระสงฆ์ โดยไม่เลือกระบุถวายเฉพาะเจาะจงแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง กล่าวคือ ถวายเข้าเป็นสิทธิกองกลางแก่คณะสงฆ์ภายในวัด เพื่อคณะสงฆ์จะจัดแบ่งปันแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ต้องการ หรือเพียงแค่ถวายแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง (โดย "ไม่เลือก" ว่าจำเพาะถวายรูปนั้นรูปนี้ เช่น เป็นพระผู้ทรงพรรษา พระรูปที่เรารู้จัก หรือพระรูปที่ตนศรัทธา) ที่เป็นตัวแทนแห่งสงฆ์ (ได้รับเผดียงสงฆ์) หรือถวายโดยมีเจตนาเพื่อบำรุงพระสงฆ์สามเณรโดยไม่เลือกผู้รับ ก็นับเป็นสังฆทานเช่นกัน
สำหรับ คำว่า "ประเคน"พระธรรมกิตติวงศ์ หรือ เจ้าคุณทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า การถวายของ การส่งของให้พระถึงมือ ของที่ประเคนนั้นจะต้องไม่ใหญ่หรือหนักจนยกคนเดียวไม่ได้ ถ้าเป็นของเคียวของฉันจะต้องประเคนในกาล คือ ตั้งแต่เช้าถึงเทียงวันเท่านั้น หลังจากนั้นเป็นวิกาล ไม่ควรประเคน
วิธีประเคน คือ นั่งหรือยืนห่างจากพระประมาณ ๑ สอก จับของที่ประเคนด้วยมือทั้ง ๒ หรือ มือเดียวก็ได้ ยกให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อยแล้วน้อมประเคนด้วยความเคารพ ถ้าเป็นบุรุษ พระจะรับด้วยมือทั้งสอง ถ้าเป็นสตรีพระจะทอดสำหรับประเคนออกมารับ พึงวางของบนผ้าแล้วปล่อยมือ เมื่อประเคนเสร็จแล้วพึงไหว้ หรือกราบแล้วแต่กรณี ทั้งนี้การประเคน เป็นการยกให้ด้วยความเต็มใจ เป็นการป้องกันมิให้พระถูกกล่าวหาว่า "เป็นขโมย"
อย่างไรก็ตามมีพระวินัย บัญญัติห้ามพระสงฆ์หยิบสิ่งของมาขบฉันเองโดยไม่มีผู้ประเคน ยกเว้นน้ำเปล่าที่ไม่ผสมสี เช่น น้ำฝน น้ำปะปา เป็นต้น การประเคนของจึงเป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัยได้ถูกต้อง
หลักเบื้องต้นในการประเคน มีดังนี้ ๑. ของนั้นไม่ใหญ่โตหรือหนักเกินไป สามารถจับยกได้โดยคนเดียว ๒. ผู้ประเคนควรเข้าไปอยู่ในหัตถบาส หมายถึง เอามือประสานกันแล้วยื่นไปข้างหน้าห่างจาก พระสงฆ์ประมาณ ๑ ศอก ๓. ถ้าเป็นชาย ยกของที่จะประเคนถวายพระสงฆ์ได้เลย ถ้าเป็นผู้หญิง ให้วางของที่จะประเคนลงบนผ้ารับประเคน และ ๔. เมื่อประเคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่าไปจับเลื่อนของที่ประเคนแล้ว หากเผลอไปจับเลื่อนถือว่าขาดประเคนต้องประเคนใหม่