บวชหน้าไฟ-เณรหน้าไฟ : คำวัด
บวชหน้าไฟ-เณรหน้าไฟ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
ศาสนพิธี ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ การกระทำแต่ละขั้นตอนนั้น โบราณท่านได้สอนธรรมะไว้ในพิธีกรรมเหล่านั้นไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย เช่น ประเพณี พิธีกรรมในงานศพ การรดน้ำ ที่มือของผู้ตาย ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าเป็นการขออโหสิกรรม ความจริงแล้วมุ่งเตือนสติผู้ที่มาร่วมงานว่าผู้ที่ตายทุกคนไปแต่มือเปล่าไม่ได้อะไรติดตัวไปเลย
อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๔๖ รศ.ศรีอรุณ เรศานนท์ ม.ว.ม., ป.ช. (มาดาของ ดร.สร้อยเพชร เรศานนท์) อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
และกำหนดพระราชทานเพลิงศพ ดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ น.พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์พระธรรมเทศนา และเวลา ๑๗.๐๐ น.พิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ ศาลากลางวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เมตตาเป็นประธานอุปถัมภ์ในพิธี
ก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ นายเทวินทร์ เรศานนท์ และลูกหลานของตระกูลได้ร่วมกันบวชสามเณรหน้าไฟ ๓ รูป โดยมีพระธรรมคุณาภรณ์ หรือเจ้าคุณพิมพ์ รองเจ้าคณะภาค ๗ และเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร กทม.เป็นพระอุปัชฌาย์
คำว่า "บวชหน้าไฟ" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายไว้ว่า เป็นการบวชเพื่ออุทิศให้แก่ผู้ตายในงานเผาศพโดยเฉพาะ เป็นการบวชระยะสั้นเพียงวันสองวันเท่านั้น
บวชหน้าไฟ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของลูกหลานคนตายที่บวชเพื่อแสดงความกตัญญูตอบแทนพระคุณ และมักเป็นการบวชสามเณรมากกว่าการบวชภิกษุ เพราะสะดวกกว่า มีการเตรียมการไม่มาก และมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่ออุทิศส่วนกุศลในขณะที่เผาศพเท่านั้น จึงเรียกว่าบวชหน้าไฟ คือ บวชอยู่ต่อหน้าไฟที่กำลังใหม้ศพ หากเป็นสามเณร นิยมเรียกว่า "สามเณรหน้าไฟ"
บวชหน้าไฟ เป็นธรรมเนียมเก่า ปัจจุบันเริมรางเลือนไปตามลำดับ เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ และลูกหลานคนตายไม่พร้อมที่จะบวช
ส่วนคำว่า "เณรหน้าไฟ" นั้น เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า คือสามเณรที่บวชเนื่องในพิธีเผาศพ บวชพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก้ผู้ตายโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็นบุตรหลานของผู้ตายที่ต้องการทดแทนบุญคุณ และอุทิศส่วนบุญให้ในงานเผาศพ เพราะบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ในขณะที่เผาศพ จึงเรียกว่า เณรหน้าไฟ
เณรหน้าไฟ เป็นสามเณรที่บวชชั่วคราว คือ บวชชั่วระยะเผาศพเท่านั้น อาจจะเรียกว่าบวชเฉพาะกิจก็ได้ เสร็จงานเผาศพแล้วก็สึก บางรายบวชเช้าพอตกบ่ายเผาศพเสร็จก็สึกทันที เรียกว่าบวชเพื่อเผาศพ หรือบวชอยู่ชั่วระยะเวลาไฟใหม้ศพจริงๆ
การนิมนต์พระจูงออกหน้าศพ เพื่อจะสอนคนที่ยังอยู่ให้ได้สำนึกว่าตอนที่ยังอยู่ต้องเดินตามหลังพระ หมายความว่าได้เดินตามพระธรรมคำสอนของพระนั่นเอง จึงอยู่ดีมีสุข มีความเจริญก้าวหน้า