อานิสงส์แห่งความเพียร
อานิสงส์แห่งความเพียร : จุดประทีปธรรม โดยพระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์
แม้คำกล่าวว่า “ความเกียจคร้านเป็นมิตรในเบื้องต้น แต่จะเป็นศัตรูในเบื้องปลาย ความเพียรเป็นศัตรูในเบื้องต้น แต่จะเป็นมิตรในเบื้องปลาย” เป็นความจริง แต่ทว่าความเป็นจริง หากบุคคลทำความเพียรจนถึงความเพียรจริงๆ ก็จะพบอานิสงส์แห่งความเพียรขณะนั้นได้ โดยไม่ต้องรอให้แสดงผลภายหลัง นั่นคือปีติสุขสดชื่น
ยกตัวอย่างคนออกกำลังกาย ขณะที่เหงื่อยังไม่ออกก็พยายามออกเรี่ยวแรงกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ครั้นเห็นเหงื่อเริ่มออกก็ไม่อยากหยุด ยิ่งพยายามทำให้เหงื่อออกมากขึ้น ขณะที่เหงื่อออกมามากนั้น แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยก็เกิดความสดชื่นอยู่ในตัว เพราะขณะนั้นสารแห่งความสุข Endorphine เริ่มหลั่งออกมาแล้ว
คำว่า 'เพียร' มาจากคำว่า 'วิริยะ ซึ่งแยกออกมาเป็น ๒ คำ คือ วิร+อิย วิร หรือ วีร = ความกล้า อิย = ตั้งอยู่ใน รวมแปลว่า 'ตั้งอยู่ในความกล้า”
วิริยะที่แปลทับศัพท์ว่า 'เพียร' จึงหมายถึงความกล้า บากบั่น ขะมักเขม้น ไม่ระย่อท้อถอย เมื่อวาระแห่งความเพียรมาถึงหรือไม่มา จงเดินเครื่องออกเรี่ยวแรงกำลัง กล้า บากบั่น ขะมักเขม้นเถิด อย่าแสดงความย่อหย่อนเลย เพราะหากย่อหย่อนเมื่อไร เมื่อนั้นฝั่งแห่งความสำเร็จก็จะห่างออกไปไกล
ในทางธรรมท่านบอกว่า “จุดเริ่มต้นของสติสมาธิ มาจากวายามะคือความเพียร” (สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ จิตของผู้มีความสุขย่อมตั้งมั่น หรือจิตที่ตั้งมั่นมีความสุข สมาธิ แปลว่า ‘ตั้งมั่น’ มิใช่แปลว่า ‘สงบ’ ปัสสัทธิ แปลว่า ‘สงบ’ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสมาธิ)
ขณะที่เริ่มตั้งใจทำความเพียรโดยชอบ สติและสมาธิก็เริ่มก่อขึ้น ทำความเพียรไปเรื่อยๆ กระทั่งสติสมาธิเกิดพร้อมความเพียรได้ดีแล้ว ผู้ทำความเพียรก็เริ่มสัมผัสกับความแน่วแน่แห่งจิตที่ออกจากความฟุ้งซ่านและเริ่มดื่มด่ำกับความสุขที่มาจากความเพียรซึ่งสหรคต (ไปพร้อมกัน) ด้วยสติสมาธินั้น
ใช่แต่เพียงเท่านั้น ความเพียรยังส่งผลให้เกิดปัญญา ซึ่งออกจากขั้วต่อของสมาธินั่นเอง (ศีล สมาธิ ปัญญา) ขณะที่ทำความเพียรจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ทำให้เกิดความตั้งมั่น สมาธิความตั้งมั่นก็ทำให้เกิดปัญญา ปิ๊ง Idea คิด Create สร้างสรรค์สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นให้ดีมากยิ่งขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นขณะนั้นจะทำให้เห็นข้อบกพร่องและนำไปสู่การแก้ไขให้สมบูรณ์
เมื่อไม่เพียรขัดองค์พระทองเหลืองก็ไม่เห็นความวาววับอร่ามงามจับตา เมื่อมลทินสิ่งสกปรกอยู่ตรงหน้าไม่เพียรทำให้สะอาดตา จะสะอาดใจได้อย่างไร แท้ที่จริงปัญญาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อลงมือทำและเพียรทำจริงๆ ดังพุทธวจนะว่า “โยคา เว ชายเต ภูริ ปัญญาเกิดจากการกระทำความเพียร” คำว่า 'พัฒนา' เริ่มจากสองคำสั้นๆ คือ 'ทำ' และ 'เพียร' นี่เอง ดังนั้น เมื่องานใหม่มาเสนออยู่ตรงหน้า อย่าหวั่นกลัวเลย จงลงมือทำเถิด จะเกิดการเรียนรู้และทำสำเร็จเอง
พระดำรัสของพระมหาชนกว่า “ขึ้นชื่อว่าความเพียรควรทำโดยแท้” เพราะเมื่อทำความเพียรจนถึงความเพียรจริงๆ ย่อมพบอานิสงส์แห่งความเพียรนั้น เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เพราะเมื่อทำความเพียรอย่างบริสุทธิ์ ทำความเพียรอย่างถึงที่สุด ย่อมประสบผลสำเร็จ
“วายเมเถว ปุริโส อตฺถสฺส นิปฺปทา บุรุษควรเพียรพยายามจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ”
ดูกรภราดา “ความเพียรบริสุทธิ์” คือ “ความเพียรที่ทำโดยไม่หวังผลอะไร” วันนี้เธอทำความเพียรอย่างบริสุทธิ์หรือยัง