
เปิดเกณฑ์ตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย
เปิดเกณฑ์ตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย 'พระพายัพ'เป็นพระครูปลัดเหมาะสม? : สำราญ สมพงษ์รายงาน
ต่อกรณีที่สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้เสนอแต่งตั้งพระพายัพ เขมคุโณ หรือนามเดิมนายพายัพ ชินวัตร น้องชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพระฐานานุกรมในตำแหน่ง "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์" ทั้งๆที่เพิ่งจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย และจะมีกำหนดลาสิกขาวันที่ ๑๑ มีนาคมนี้ หลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติพระสงฆ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมต้องอุปสมบทมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา
ขณะเดียวกันผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ออกมาชี้แจงต่อเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่ชัดเจนและมีการโยนให้สมเด็จพระธีรญาณมุนีเป็นผู้ชี้แจงเอง ขณะเดียวกันก็ผิดบ้างถูกบ้าง อย่างเช่นนายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ชี้แจงว่า ชื่อ “พระครูปลัดฯ” ของพระพายัพเป็นเพียงฉายา โดยชื่อของพระพายัพขึ้นต้นด้วยตัว “พ.” สมมุติว่าตนบวชเป็นพระ ชื่อขึ้นต้นด้วย “ป.” ก็อาจจะมีฉายาเป็น “ปัทธโร” ดังนั้น พระครูปลัดฯของพระพายัพไม่ใช่สมณศักดิ์ของพระ
จุดตรงดูเหมือนว่านายปรีชาจะชี้แจงคลาดเคลื่อนไป เพราะหากจะบอกคำว่า พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์ ไม่ใช่สมณศักดิ์ของพระพายัพแต่เป็นฉายาแล้วทำไมพระอุปัชฌาย์ถึงไม่ตั้งคำนี้มาตั้งแต่ตอนบวช แต่ได้ตั้งคำว่า "เขมคุโณ" ให้เป็นฉายาตั้งแต่ต้น
ทีนี้ลองมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ที่มา... www.web-pra.com ดูบ้างเป็นอย่างไร
ประเพณีการพระราชทานสมณศักดิ์ เกิดขึ้นในประเทศไทยมาช้านานแล้ว แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสมณศักดิ์ก็มิได้วางไว้เป็นกฎระเบียบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากการพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ การที่ทางคณะสงฆ์มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนแน่นอนอาจจะเป็นการเหมาะสม กว่า นอกจากนี้การวางหลักเกณฑ์ไว้อย่างหลวมๆไม่รัดตัวจนเกินไป ทำให้ผู้มีอำนาจในการพิจารณาอาจจะเน้นหลักในทางใดทางหนึ่งได้ เช่น ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม การเผยแผ่พระศาสนา การสาธารณสงเคราะห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บ้านเมืองและการพระศาสนาในขณะนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ทางคณะสงฆ์ก็มีหลักเกณฑ์ปฏิบัติตามที่พระเดชพระคุณ พระธรรมาโรดม(บุญมา ป.ธ. ๙) เจ้าคณะภาค ๖ กรรมการมหาเถรสมาคม วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ได้รวบรวมไว้ปฏิบัติงานในฐานะที่พระเดชพระคุณทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะ อนุกรรมการพิจารณาสมณศักดิ์ประจำปีของมหาเถรสมาคม ซึ่งพอจะเห็นเป็นรูปธรรมและถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ดังจะกล่าวต่อไป
หลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์
พระสังฆาธิการ** ผู้สมควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์ ต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังต่อไปนี้
คุณสมบัติส่วนตัวและส่วนวัด
๑. ต้องเป็นพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ขึ้นไป และมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เว้นแต่มีกรณีพิเศษ
๒. ถ้าเป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปีบริบูรณ์โดยให้นับตั้งแต่วันเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ หรือเป็นรองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์มารวมด้วยหรือถ้าเป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ ต้องเป็นมาเกิน ๓ ปีแล้ว
ทั้งนี้ เว้นแต่มีกรณีที่ควรยกย่องเป็นพิเศษ และเว้นแต่เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
๓. ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบล ต้องดำรงตำแหน่งมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปีบริบูรณ์ โดยให้นับตั้งแต่วันเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวง รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ หรือเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์มารวมด้วย แต่อย่างมากต้องไม่เกิน ๔ ปี ถ้ามิได้เป็นเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ให้แจ้งด้วยว่าเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นั้นเป็น สัญญาบัตรแล้วหรือยัง
๔. ถ้าเป็นรองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์หรือเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ให้นำความใน ข้อ ๒.และข้อ ๓. มาใช้โดยอนุโลมตามควรแก่กรณี แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนั้นๆ ถูกต้องแล้วและต้องมีพระภิกษุสามเณร (เฉพาะในวัดของตน) อยู่จำพรรษามาพอสมควร หรือปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสผู้ทุพพลภาพ หรือชราภาพ
๕. ถ้าเป็นเจ้าคณะอำเภอ หรือเป็นเจ้าคณะจังหวัด หรือเป็นที่ปรึกษาให้พิจารณาตามความเหมาะสมในการปกครอง แต่ต้องดำรงตำแหน่งมาเกิน ๑ ปีแล้ว และมีผลงานในหน้าที่ดีพอสมควร
๖. ถ้าเป็นรองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงหรือเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงต้อง ดำรงตำแหน่งมาเกิน ๑ ปีแล้ว และมีผลงานช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตามที่ระบุไว้ในการเสนอขอแต่งตั้ง หรือตามที่เจ้าอาวาสวัดราษฎร์มอบหมายและในวัดนั้น มีสัญญาบัตรกี่รูป มีราชทินนามอะไรบ้าง
๗. ถ้าเป็นรองเจ้าคณะอำเภอ หรือเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดให้พิจารณาตามความเหมาะสมในการปกครอง
๘. ในเขตอำเภอหนึ่ง ให้พิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตรได้ ๑ รูป เว้นแต่มีกรณีพิเศษ (คือมีพระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวงผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง) หรือในเขตอำเภอที่มีวัดเกินกว่า ๕๐ วัดขึ้นไป ให้พิจารณาแต่งตั้งได้ ๒ รูป หรือในเขตอำเภอที่มีวัดเกินกว่า ๑๐๐ วัดขึ้นไป ให้พิจารณาแต่งตั้งได้ ๓ รูปเป็นกรณีพิเศษ
๙. มีพระภิกษุ (เฉพาะในวัดของตน) อยู่จำพรรษาครบคณะสงฆ์ขึ้นไป หรือมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาไม่ครบคณะสงฆ์ แต่มีสามเณรอยู่จำพรรษามากพอสมควร โดยให้นับจากปีปัจจุบันย้อนหลังไป ๓ พ.ศ.
๑๐. มีพระภิกษุสามเณร (เฉพาะในวัดของตน) ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและสมัครสอบในสนามหลวงจำนวนมากพอสมควร โดยให้นับจากปีปัจจุบันย้อนหลังไป ๓ พ.ศ.
คุณสมบัติด้านสาธาณูปการ
สำหรับการพิจารณาแต่งตั้งสมณศักดิ์ ต้องมีผลงานสาธาณูปการ ได้แก่ การก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน หรือถาวรวัตถุมาประกอบการพิจารณาด้วย ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งบ่งบอกถึงแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระสงฆ์รูปนั้นๆ แต่การรายงานให้บอกจำนวนเงินค่าก่อสร้างค่าบูรณะปฏิสังขรณ์ และรายละเอียดของสิ่งก่อสร้างและการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุโดยให้เริ่มนับ ตั้งแต่เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส หรือถ้าเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือถ้าเป็นรองเจ้าอาวาสที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสเป็นต้นไปจนถึง ปัจจุบันว่า มีจำนวนมากพอสมควร ดังต่อไปนี้
๑๑. ในเขตปกครองหนกลาง ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายในการก่อสร้าง และปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านบาท) ขึ้นไป
๑๒. ในเขตปกครองหนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้ในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๑๕๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) ขึ้นไป
๑๓. เฉพาะในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค ๔ และภาค ๕ ต้องมีจำนวนเงินที่ได้ใช้จ่ายในการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์แล้ว จำนวนตั้งแต่ ๕๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนบาท) ขึ้นไป
๑๔. สำหรับผลงานสาธารณูปการตามข้อ ๑๑, ๑๒ และข้อ ๑๓ ข้างต้นนั้น ไม่นับผลงานที่เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนของรัฐบาล ที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือการก่อสร้างในวัดอื่น
๑๕. แม้จำนวนเงินจะครบตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑๑, ๑๒ หรือข้อ ๑๓ แล้วก็ตามแต่ถ้าการก่อสร้างโรงอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างยังไม่แล้วเสร็จ ให้รอไว้ก่อน
๑๖. การรายงานผลงานสาธารณูปการนั้น ต้องแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ
(๑) ผลงานการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ (เฉพาะภายในวัด)
(๒) ผลงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ (เฉพาะภายในวัด)
๑๗. การรายงานผลงานการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ตามข้อ ๑๖ (๑) จะต้องแจ้งรายละเอียดที่ทำการก่อสร้างทุกรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งวัน เดือน ปีไปตามลำดับแต่ละ พ.ศ. ที่ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จจนถึง พ.ศ. ปัจจุบัน
(๒) แจ้งลักษณะอาคาร กว้าง-ยาว-สูงเท่าไร บอกวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและสร้างเสร็จแล้วหรือยัง
(๓) แจ้งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างไปว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไรเป็นตัวเลขพร้อมทั้งวงเล็บตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยทุกรายการ
(๔) เมื่อรายงานผลงานสาธารณูปการก่อสร้างครบทุกรายการ ทุก พ.ศ. แล้วต้องรวมเงินที่ได้ใช้จ่ายไปในการก่อสร้างทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงินเท่าไร เป็นตัวเลข พร้อมทั้งวงเล็บตัวหนังสือกำกับไว้ด้วย
๑๘. การรายงานผลงานการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ตามข้อ ๑๖. (๒)จะต้องแจ้งรายละเอียดที่ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ทุกรายการดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งวัน เดือน ปีไปตามลำดับแต่ละ พ.ศ. ที่ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จจนถึง พ.ศ. ปัจจุบัน
(๒) แจ้งลักษณะอาคารกว้าง-ยาว-สูงเท่าไร บอกวัสดุที่ใช้ในการบูรณะปฏิสังขรณ์และบูรณะปฏิสังขรณ์เสร็จแล้วหรือยัง
(๓) แจ้งค่าใช้จ่ายในการบูรณะปฏิสังขรณ์ไปว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไร เป็นตัวเลขพร้อมทั้งวงเล็บตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยทุกรายการ
(๔) เมื่อรายงานผลสาธารณูปการบูรณะปฏิสังขรณ์ครบทุกรายการแล้วต้องรวมเงินที่ได้ ใช้จ่ายไปในการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงินเท่าไร เป็นตัวเลข พร้อมทั้งวงเล็บตัวหนังสือกำกับไว้ด้วย
๑๙. เมื่อรายงานผลงานสาธารณูปการตามข้อ ๑๗ และข้อ ๑๘ ครบทุกรายการแล้วจะต้องนำยอดเงินที่ได้ใช้จ่ายไปในการก่อสร้าง และในการบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งสิ้นตามข้อ ๑๗ (๔)และข้อ ๑๘ (๔) มารวมกันอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่าไรเป็นตัวเลข พร้อมทั้งวงเล็บเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วย
การพิจารณาให้ชั้นสมณศักดิ์ พระราชาคณะ
๒๐. พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดและรองเจ้าคณะจังหวัด ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ หรือพระราชาคณะชั้นสามัญยก ตามควรแก่กรณี
๒๑. พระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ, เจ้าอาวาสพระอารามหลวง รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
(๑) ผู้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญเอก (เปรียญธรรม ๗-๘-๙) ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ
(๒) พระครูสัญญาบัตรตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นผู้สอบไล่ได้เป็นเปรียญเอกมีสิทธิ เสนอขอปรับวุฒิเปรียญธรรมได้แม้เวลาที่ได้รับสมณศักดิ์แล้วนั้นยังไม่ครบ เวลา ๕ ปีก็ตาม และปรับให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญทุกตำแหน่ง
๒๒. พระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผู้เป็นฐานานุกรมตำแหน่งพระครูปลัดสมเด็จพระราชาคณะ และพระครูปลัดพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ทุกตำแหน่ง ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ หรือพระราชาคณะชั้นสามัญยก ตามควรแก่กรณี
๒๓. พระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอารามหลวง ผู้เป็นพระครูฐานานุกรมชั้นเอก ในสมเด็จพระสังฆราช ตำแหน่งพระครูธรรมกถาสุนทร พระครูวินัยกรณ์โสภณ พระครูวินยาภิวุฒิ พระครูสุตตาภิรม พระครูวิสุทธิธรรมภาณและพระครูพิศาลวินัยวาท ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญหรือพระราชาคณะชั้นสามัญยก ตามควรแก่กรณี
๒๔. พระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ ผู้มีผลงานดีเด่นทางคันถธุระหรือวิปัสสนาธุระ สมควรได้รับการพิจารณายกย่องเป็นกรณีพิเศษ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายคันถธุระ จัดตั้งสำนักศาสนศึกษาแผนกบาลี มีนักเรียนศึกษาเล่าเรียน และสอบได้ในสนามหลวงจำนวนมาก สมควรพิจารณายกย่องเป็นกรณีพิเศษ ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ หรือพระราชาคณะชั้นสามัญยกตามควรแก่กรณี หรือ
(๒) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายวิปัสสนาธุระ จัดตั้งสำนักปฏิบัติภาวนาสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นอาจารย์สอนด้วยตนเอง มีพุทธบริษัทศรัทธาเลื่อมใสเข้ารับการศึกษาอบรมปฏิบัติเป็นจำนวนมาก สมควรพิจารณายกย่องเป็นกรณีพิเศษให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญยกฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือพระราชาคณะชั้นสามัญยกฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตามควรแก่กรณี
๒๕. พระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ขึ้นไป ผู้มีผลงานดีเด่นในประเภทต่างๆ สมควรได้รับการยกย่องเป็นกรณีพิเศษ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายคันถธุระ จัดตั้งสำนักศาสนศึกษาแผนกบาลี มีนักเรียนศึกษาเล่าเรียนและสอบได้ในสนามหลวงจำนวนมาก หรือ
(๒) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายวิปัสสนาธุระ จัดตั้งสำนักปฏิบัติภาวนาสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นอาจารย์สอนด้วยตนเองมีพุทธบริษัทศรัทธาเลื่อมใสเข้ารับการศึกษาอบรม ปฏิบัติเป็นจำนวนมาก หรือ
(๓) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายศึกษาสงเคราะห์ ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานศึกษาเล่าเรียนสำหรับเยาวชนของชาติ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางราชการ แต่อาศัยการบริจาคของประชาชนผู้เลื่อมใส และได้เสียสละสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ช่วยทุกวิถีทางจนสถานศึกษาเล่าเรียนเจริญรุ่งเรือง อำนวยประโยชน์แก่เยาวชนจำนวนมากจนเป็นที่ยอมรับนับถือ ยกย่องของประชาชนทั่วไป หรือ
(๔) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายสาธารณะสงเคราะห์ ได้ดำเนินการก่อสร้างสาธารณะสถาน อันเป็นสถานที่อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหลายทั่วไป เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาล เป็นต้น โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากทางราชการ แต่อาศัยการบริจาคของประชาชนทั้งหลายผู้ศรัทธาเลื่อมใส หรือ
(๕) เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นกำลังสำคัญในฝ่ายสาธารณูปการ และสาธารณะสงเคราะห์ โดยเป็นช่างออกแบบการก่อสร้าง และได้ทำการก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา มีผลงานปรากฏดีเด่นเป็นที่ยอมรับยกย่องในวงการคณะสงฆ์เป็นอย่างดี
พระสังฆาธิการผู้มีผลงานดีเด่น ๕ ประเภทนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างสมควรพิจารณายกย่องเป็นกรณีพิเศษ ให้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญหรือพระราชาคณะชั้นสามัญยก ตามควรแก่กรณี
การพิจารณาให้ชั้นสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร
๒๖. พระสังฆาธิการผู้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญธรรม ป.ธ. ๕-๖
(๑) ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกทุกตำแหน่ง และ
(๒) ถ้าสำเร็จปริญญาตรี พธ.บ., ศน.บ., ศษ.บ. (มสธ.) หรือปริญญาโท (M.A.) ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ เฉพาะตำแหน่งที่มีชั้นพิเศษ และ
(๓) เฉพาะพระสังฆาธิการผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ผู้มีวุฒิพิเศษ ตาม (๒) ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก เป็นกรณีพิเศษ
๒๗. พระสังฆาธิการผู้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญธรรม ป.ธ. ๓–๔
(๑) ให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโททุกตำแหน่ง และ
(๒) ถ้าสำเร็จปริญญาตรี พธ.บ., ศน.บ., ศษ.บ. (มสธ.) หรือปริญญาโท (M.A.) ให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นเอกทุกตำแหน่ง และหรือ
(๓) ถ้าสำเร็จปริญญาเอก (Ph.D.) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ เฉพาะตำแหน่งที่มีชั้นพิเศษ
๒๘. พระสังฆาธิการผู้สำเร็จปริญญาตรี โท หรือเอก ตามข้อ ๒๖ (๒) (๓) และ ข้อ ๒๗ (๒) (๓) ดังกล่าวแล้ว จะต้องถ่ายสำเนาปริญญาบัตรแนบไปพร้อมกับประวัติเสนอขอสมณศักดิ์ด้วยทุกครั้ง
การพิจารณาปรับชั้นสมณศักดิ์ ตามวุฒิเปรียญธรรม
๒๙. พระสังฆาธิการผู้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญธรรมตามข้อ ๒๖ และข้อ ๒๗ แต่ได้รับสมณศักดิ์ต่ำกว่าหลักเกณฑ์นี้ แม้เวลาที่ได้รับสมณศักดิ์แล้วนั้นยังไม่ครบเวลา ๕ ปี ตามที่ได้กำหนดไว้ก็ตาม มีสิทธิเสนอขอปรับชั้นตามวุฒิเปรียญธรรมนี้ได้
การพิจารณาให้ชั้นสมณศักดิ์ ตามตำแหน่งฐานานุกรม
๓๐. พระสังฆาธิการผู้เป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นธรรม
(๑) ถ้าดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงให้เป็นพระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ตามควรแก่กรณี
(๒) ถ้าดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะอำเภอให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกทุกตำแหน่ง
(๓) ถ้าดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ให้เป็นพระครูสัญญาบัตร เทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก
๓๑. พระสังฆาธิการผู้เป็นฐานานุกรมตำแหน่ง
(๑) พระครูปลัดฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นเทพ และชั้นราช หรือ
(๒) พระครูวินัยธร พระครูธรรมธร และพระครูคู่สวด
ให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโททุกตำแหน่ง
๓๒. พระสังฆาธิการผู้เป็นพระครูฐานานุกรมทุกตำแหน่งตามข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ ต้องถ่ายสำเนาใบแต่งตั้งฐานานุกรมแนบไปพร้อมกับประวัติเสนอขอแต่งตั้ง สมณศักดิ์ด้วยทุกครั้ง
การพิจารณาความดีความชอบ ๒ ขั้น เป็นกรณีพิเศษ
๓๓. พระสังฆาธิการเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ และเจ้าคณะตำบลที่มีผลงานสาธารณูปการจำนวนมากเป็นพิเศษ ตามจำนวนดังนี้
(๑) ในเขตปกครองหนกลาง มีจำนวนเงินตั้งแต่ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สองล้านบาท) ขึ้นไป
(๒) ในเขตปกครองหนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ มีจำนวนเงินตั้งแต่๑,๐๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งล้านบาท) ขึ้นไป
พิจารณาความดีความชอบเป็น ๒ ขั้น ให้เป็นพระครูสัญญาบัตร ชั้นโท (เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท เจ้าคณะตำบล ชั้นโท)
๓๔. พระอารามหลวงแต่ละวัด ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้พิจารณาแต่งตั้ง หรือเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะได้วัดละ ๑ รูป ในส่วนภูมิภาค ให้พิจารณาแต่งตั้งหรือเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะได้จังหวัดละ ๑ รูป เว้นแต่มีกรณีพิเศษ
๓๕. พระสังฆาธิการผู้ซึ่งได้รับพระทานสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ ทุกชั้นทุกรูปไม่นับเข้าในหลักเกณฑ์การแบ่งจำนวนสมณศักดิ์พระราชาคณะทุกชั้น ตามมติมหาเถรสมาคมที่ได้กำหนดไว้
...........
(หมายเหตุ : *** พระสังฆาธิการ หมายถึง พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในตำแหน่งดังต่อไปนี้ คือ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส)