พระเครื่อง

อุบาสก-อุบาสิกา : คำวัด

15 มี.ค. 2556

อุบาสก-อุบาสิกา : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

              ปฐมอุบาสิกา หรืออุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา หมายถึง ตปุสสะ กับภัลลิกะ ซึ่งถึงสรณะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรม ทั้งสองเป็นพ่อค้าที่นำกองเกวียนเดินทางมาจากทุกกลชนบท มาถึงแขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชาตนะ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ในกาลนั้นเป็นสัปดาห์ที่ ๗ ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์) ภายหลังจากตรัสรู้ ตปุสสะ กับภัลลิกะเข้ามาถวายสัตตุผงสัตตุก้อน (ข้าวตูเสบียงเดินทาง)

              เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใสขอถึงพระผู้มีภาคเจ้ากับพระธรรมว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ปฐม อุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท "เทวาจิก" คือเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

              อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงกาลปัจจุบัน พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากพุทธศาสนิกชนอย่างต่อเนื่อง อย่างกับกรณีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อุบาสิกา หรืออุบาสกคนแรกที่มีบทบาทสำคัญ คือ นพ.รัศมี-คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร ได้ตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะช่วยสนับสนุนทุกกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังความสามารถ จึงได้เริ่มด้วยการถวายที่ดิน ๘๔ ไร่ ให้แก่ มจร. ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติ มจร.จึงจัดสร้างหุ่นขี้ผึ้งไว้ในอาคารวิปัสสนาธุระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร)

              ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายไว้ อุบาสก แปลว่า ผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย หมายถึงผู้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ผู้นับถือศาสนาอย่างมั่นคง ถ้าเป็นหญิง ใช้ว่า อุบาสิกา

              อุบาสก เรียกกร่อนไปว่า ประสก คำว่า อุบาสิกา เรียกกร่อนไปว่า สีกา ก็มี เรียกชายหญิงที่รักษาอุโบสถศีลโดยค้างคืนที่วัดในวันพระว่า อุบาสกอุบาสิกา

              อุบาสกอุบาสิกา ปกติหมายถึงชาวบ้านทั่วไปที่นับถือพระพุทธศาสนา บำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา ไปวัดทำบุญให้ทาน ถือศีล อุปถัมภ์บำรุงวัด ช่วยเหลือกิจการของวัดเป็นประจำ