
พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กปี๒๕๐๘
พระหลวงพ่อทวดหลังหนังสือพิมพ์เล็กปี ๒๕๐๘ : พระหลักยอดนิยม โดยตาล ตันหยง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้ได้กล่าวถึง พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ พิมพ์ที่มาแรงสุดๆ พิมพ์หนึ่ง คือ พระชุดหลังหนังสือ พิมพ์ใหญ่ ปี ๒๕๐๘ ซึ่งแบ่งออกได้ ๓ พิมพ์ย่อย ตามที่วงการปัจจุบันเรียกขานกันตามลักษณะโครงหน้าขององค์พระ คือ พิมพ์หน้าใหญ่ (พิมพ์นิยม), พิมพ์หน้ายักษ์ และพิมพ์หน้าตัว ท (สร้างล้อพิมพ์ใหญ่ ตัว ท) ซึ่งถือว่าเป็นพิมพ์มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และรู้จักกันมานานพอสมควร อีกทั้งยังอยู่ในรายการประกวด ที่รับรองโดยสมาคมพระเครื่องฯ และในเร็วๆ นี้ ได้มีการบรรจุ พระพิมพ์ใหม่ ที่เคยอยู่นอกเหนือจาก ๓ พิมพ์หลัก ดังที่กล่าวข้างต้น แต่มีลักษณะเค้าโครงที่ใกล้เคียงกัน และศิลปะการสร้างในยุคเดียวกัน ลงใน พระชุดหลังหนังสือ พิมพ์ใหญ่ ปี ๒๕๐๘ ที่เป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกันกับ พระชุดหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๘ ก็ได้รับการบรรจุพระพิมพ์ใหม่เข้าไปในงานประกวดพระครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะได้แสดงข้อมูลให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้างล่างนี้
การจัดทำมาตรฐานของพิมพ์พระ โดยเฉพาะจากผู้ชำนาญการที่วงการพระยอมรับเช่นนี้ นับเป็นการจุดกระแสนิยม ในการแสวงหาและสะสมพระพิมพ์นี้ขึ้นไปอีก
ดังที่ได้เกริ่นไว้ในครั้งที่แล้วว่า พระชุดหลังหนังสือ ปี ๒๕๐๘ นี้ สามารถแบ่งแยกออกได้เป็น ๒ พิมพ์หลักๆ คือ พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็ก ซึ่งทั้ง ๒ พิมพ์นี้ยังแบ่งย่อยออกไปได้อีกหลายพิมพ์
สำหรับในวันนี้ จะนำเสนอต่อเนื่องเป็น พระชุดหลังหนังสือ พิมพ์เล็ก มีหู ปี ๒๕๐๘ เท่านั้น
พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๘ นี้ มีทั้งชนิด เนื้อทองเหลืองรมดำ และ เนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง โดยแบ่งออกได้ ๒ พิมพ์ย่อย ตามที่วงการปัจจุบันเรียกขานตามลักษณะทางกายภาพขององค์พระ คือ พิมพ์เล็กมีหู และ พิมพ์เล็กไม่มีหู (หมายถึงหูองค์พระสำหรับไว้คล้องคอ ไม่ใช่หูขององค์หลวงพ่อทวด) ซึ่งทั้งคู่ยังแบ่งได้ย่อยๆ อีกหลายพิมพ์
สำหรับ พิมพ์เล็กมีหู นี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์หน้ายาว สังเกตได้จากที่ดวงตา จะมี เม็ดตา ที่กลม (องค์โชว์ที่ ๑) และ พิมพ์หน้าสั้น หรือ พิมพ์หน้าแก่ สังเกตได้จากที่ดวงตา จะมี เม็ดตา ที่เป็นวงรี (องค์โชว์ที่ ๒)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าด้านหน้าของพระทั้ง ๒ พิมพ์นี้ มีรายละเอียดของพิมพ์จะแตกต่างกัน จนสังเกตได้ง่าย แต่ด้านหลังจะเหมือนกันทุกประการ เพราะใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกัน
พระพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๘ นี้ จะไม่มีเส้นสายฝน หรือเส้นเสี้ยน กระจายในแนวดิ่ง ตามซอกองค์พระ ที่เห็นอย่างชัดเจน เหมืนกับที่ปรากฏในพระพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ อีกทั้งลักษณะรมดำจะดูออกหนา เมื่อเทียบกับรมดำใน พระพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ แต่องค์ที่สภาพสมบูรณ์เดิมๆ จะมีผิวปรอทแซมผิวแมลงทับ เช่นเดียวกับ พระพิมพ์เล็ก ปี ปี ๒๕๐๕ เช่นกัน
จริงแล้วๆ พระพิมพ์เล็ก มีหู ยังมีพิมพ์ของ ปี ๒๕๐๖ อีกด้วย (จะนำเสนอในอนาคต) แต่ฟอร์มพิมพ์เค้าหน้าแตกต่างกันอย่างชัดเจน กับปี ๒๕๐๘ กล่าวคือ พิมพ์ของ ปี ๒๕๐๖ จะมีเค้าหน้าที่มนกลมกว่า และมีเค้าโครงโดยรวมและลักษณะการกระจายตัวของเส้นเสี้ยน ไปละม้ายคล้ายคลึงกับของพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๕ มากกว่า
สำหรับ พิมพ์เล็กไม่มีหู นั้น ยังแบ่งออกย่อยๆ ได้หลายพิมพ์ ตามมาตรฐานนิยมในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเป็นพิมพ์เล็กมีหู หรือ พิมพ์เล็กไม่มีหู ก็ตาม ค่านิยมการเช่าหาจะไม่ยึดลักษณะของพิมพ์เป็นหลัก แต่จะยึดความสวยงามคมชัดขององค์พระ เป็นเกณฑ์หลักมากกว่า
ในยุคนี้ ผู้ที่เก็บ พระแท้ สวย สภาพผิวเดิม มักจะได้เปรียบ เวลาจะเปลี่ยนมือก็จะได้ราคาสูงกว่า หรือกรณีของ พระแท้ แต่ผ่านการใช้มาบ้าง หรือไม่ผ่านการใช้มาก่อน แต่อาจเสียสภาพผิว ก็ให้คงความเดิมนี้เอาไว้ เพราะจะเป็นพระที่มีมูลค่าสูงในอนาคต เมื่อเทียบกับพระที่ดูสวยงาม แต่เป็นพระที่ทำผิวใหม่
ดังนั้น นักสะสมพระคนรุ่นใหม่ อย่าพลั้งเผลอไปเช่าหาพระทำผิวใหม่เป็นอันขาด เพราะในอนาคตพระที่ทำผิวใหม่ก็จะถูกพิสูจน์ทราบด้วยผู้ชำนาญการอยู่ดี ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีชุบผิวที่ล้ำหน้าขนาดไหน อย่าลืมว่า มุมมองของนักสะสมพระเครื่อง จะถวิลหาแต่ พระแท้ สภาพเดิมๆ เท่านั้น ไม่ว่ายุคไหนสมัยใดก็ตาม
สำหรับ พระพิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๘ องค์ที่โชว์นี้ แสดงครบทั้ง ๒ พิมพ์ ประเภท มีหู ประกอบด้วยองค์ที่ ๑ เป็นพิมพ์หน้ายาว (เม็ดตากลม) ที่มีความสวยงามคมชัด และมีผิวปรอทเดิมคลุมผิวไว้แทบทั่วทั้งองค์ บ่งบอกถึงพระเก่าเก็บ ไม่ผ่านการใช้มาก่อน
องค์ที่ ๒ เป็น พิมพ์หน้าสั้น หรือ พิมพ์หน้าแก่ (เม็ดตารี) ซึ่งเป็นพระสวยสมบูรณ์แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผิวปรอททองแซมปีกแมลงทับ เป็นพระเก่าเก็บ ไม่ผ่านการใช้มาก่อนเช่นกัน
พระทั้ง ๒ องค์นี้ ได้รับรางวัลจากงานประกวดพระที่รับรองโดยสมาคมพระเครื่องฯ มาแล้วหลายครั้ง ปัจจุบันค่านิยมพระสวยระดับนี้ ทะยานหลักเกินห้าหมื่นแบบสบายๆ
ขอขอบพระคุณ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ผู้ชำนาญการพระชุดหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เจ้าของ พระหลวงพ่อทวด หลังหนังสือ พิมพ์เล็ก ปี ๒๕๐๘ ทั้ง ๒ องค์ในภาพนี้ และเป็นผู้ให้ข้อมูลบทความนี้