พระเครื่อง

พระสมเด็จจิตรลดาสุดยอดปรารถนาทั้งแผ่นดิน!

พระสมเด็จจิตรลดาสุดยอดปรารถนาทั้งแผ่นดิน!

04 พ.ค. 2556

พระสมเด็จจิตรลดาสุดยอดปรารถนาของคนไทยทั้งแผ่นดิน! : พระองค์ครู เรื่องและภาพ โดยไตรเทพ ไกรงู

 
           “มีพระสมเด็จจิตรลดาถือว่ามีพระบารมีในหลวงคุ้มครองตัว มีความเข้มขลังทุกอณู โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด และค้าขาย ไม่ต้องแขวนเต็มองค์เพียงแค่ชิ้นส่วน หรือฝุ่นผงที่กะเทาะจากองค์พระใครมีไว้ครอบครองก็ถือว่าสุดยอดแห่งความเป็นมหามงคล ไม่บ่อยครั้งนักของการจัดสร้างวัตถุมงคลที่เส้นพระเกศาของในหลวงเป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์”
        
           ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นคติความเชื่อในพุทธคุณของ "พระสมเด็จจิตรลดา" หรือ "พระกำลังแผ่นดิน"
 
           "พระสมเด็จจิตรลดา" เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กประมาณ ไม่เกิน ๓,๐๐๐ องค์ พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ตั้งแต่ใน พ.ศ.๒๕๐๘ จนสิ้นสุดใน พ.ศ.๒๕๑๓ ทั้งนี้จะพระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ โดยมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า "ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ"

           ส่วนคำว่า "พระกำลังแผ่นดิน" นั้น เข้าใจว่าท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเป็นผู้ขนานพระนามตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คำว่า "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" ส่วนคำว่า "พล" แปลว่า "กำลัง" จึงเป็นที่มาของพระนาม "พระสมเด็จจิตรลดา" ว่า "พระกำลังแผ่นดิน"

           มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วยเรซิน และผงพระพิมพ์ โดยทรงนำมาบดเป็นผง รวมกับเส้นพระเจ้า คลุกกับกาวเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วกดเป็นองค์พระด้วยพระหัตถ์ โดยทรงใช้เวลาตอนดึกหลังทรงงาน มีเจ้าพนักงาน ๑ คน คอยถวายพระสุธารส และหยิบสิ่งของถวาย ทั้งนี้ มีศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ผู้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย เพื่อพระราชวินิจฉัย แก้ไข จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

           ทั้งนี้นายสำเริง สำเภาลอย หรือ "ก บางซื่อ" กรรมการตัดสินพระเนื้อดิน ของสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย บอกว่า ณ เวลานี้ พระสมเด็จจิตรลดา ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของคนทั้งแผ่นดิน แต่ต้องแลกมาด้วยเงินไม่ต่ำกว่า ๒ ล้านบาท ซึ่งนับวันตัวเลขดังกล่าวจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ หาเป็นปีที่จัดสร้าง พ.ศ.๒๕๐๘ และ พ.ศ.๒๕๐๙ ค่านิยมจะอยู่ที่ ๓ ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นพิมพ์เล็กล่าสุดเท่ามีมีการเช่าซื้อกันสูงถึง ๖ ล้านบาท
           
           สำหรับภาพพระองค์ครูวันนี้เป็น "พระสมเด็จจิตรลดา  พ.ศ.๒๕๐๘" ของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งใน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับมรดกตกทอดจากคุณพ่อ ซึ่งเคยรับราชการเป็นมหาดเล็กในวัง ในสภาพนี้มีการตั้งราคาไว้สูงถึง ๔-๕ ล้านบาท แต่ถ้ามีใบพระราชทานราคาจะมีราคามากกว่านี้อีก และจะไม่มีการต่อรองราคากันเลย ส่วนจะจบที่เท่าไรนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างคน ๒ คน คือ เจ้าของ และผู้ซื้อ

           สิ่งหนึ่งที่นายสำเริง อยากฝากไว้เป็นข้อคิด คือ เมื่อพระมีราคาการทำปลอมจึงเป็นเรื่องธรรมดา ฝีมือการทำปลอมนับวันจะดีขึ้น ไม่เว้นพระสมเด็จจิตรลดา โดยเฉพาะพระที่ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ และพ.ศ.๒๕๑๓ รวมทั้งใบกำกับที่พระราชทานมากับองค์พระก็มีการทำปลอมด้วย เรียกว่า “ปลอมทั้งองค์พระ ปลอมทั้งใบกำกับพระ"