เหรียญหล่อ'หลวงพ่อทา'สุดยอดคงกระพัน
เหรียญหล่อ'หลวงพ่อทา'วัดพะเนียงแตกสุดยอดแห่งเหรียญคงกระพันชาตรี : เหรียญหลักยอดนิยม โดยตาล ตันหยง
หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม เป็นชาวลาวโซ่ง บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ท่านเกิดประมาณ พ.ศ.๒๓๗๕ เป็นชาวบ้านหนองเสือ ต.บ่อผักกูด อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ที่วัดโพธาราม จ.ราชบุรี ต่อมาเมื่ออายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบท ณ วัดวงฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐาน ออกรุกขมูลทุกปี เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐ เศษ ได้มาเป็นเจ้าอาวาส “วัดพะเนียงแตก” ซึ่งเดิมชื่อว่า “วัดประทุมคงคา” ต.มาบแค อ.เมือง จ.นครปฐม (บางกระแสก็ว่า หลวงพ่อทา เป็นผู้สร้างวัดนี้)
ลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของท่านในเวลาต่อมา ได้แก่ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง, หลวงพ่อวงษ์ วัดหนองผักกูด, หลวงพ่อหว่าง วัดกำแพงแสน และหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงพ่อทาเป็นพระภิกษุที่ชาวบ้านกล่าวขานกันว่า “ท่านดุมาก” จนเรียกท่านว่า “หลวงพ่อเสือ” สมัยก่อนเมื่อมีงานวัด จะมีนักเลงท้องถิ่นกับนักเลงต่างถิ่นมาตีรันฟันแทงกันในบริเวณวัดบ่อยๆ แต่ที่วัดพะเนียงแตกไม่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะต่างเกรงบารมี และความดุของหลวงพ่อทา
ในงานวัดมักจะมีการเล่นดอกไม้ไฟ มีอยู่ปีหนึ่งท่านได้เอามือไปปิดพลุ ทำให้พลุพุ่งออกมาจากกระบอกไม่ได้ ถึงกับระเบิด แต่ท่านไม่เป็นอะไร ชาวบ้านจึงเรียกท่านว่า “หลวงพ่อพะเนียงแตก” อันเป็นเหตุให้เรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดพะเนียงแตก” หลวงพ่อทา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูอุตรการบดี” ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อน พ.ศ.๒๔๕๑ เพราะในภาพถ่ายของท่านซึ่งมีปรากฏเพียงภาพเดียวเท่านั้น ระบุว่า ถ่ายเมื่อ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑)
ท่านมรณภาพในราว พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๕๙ อายุประมาณ ๘๐ ปี (หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ “พระครูอุตรการบดี” ต่อจากหลวงพ่อทา เมื่อปลาย พ.ศ.๒๔๕๙)
วัตถุมงคลที่โด่งดังสุดของ หลวงพ่อทา คือ เหรียญหล่อโบราณ ซึ่งวงการนิยมเช่าหากันอย่างกว้างขวางมี ๒ รุ่น คือ เหรียญหล่อรุ่นแรก สร้างในราว พ.ศ.๒๔๕๐-๒๔๕๘ ออกในงานฝังลูกนิมิต วัดบางหลวง อ.บางเลน จ.นครปฐม ลักษณะคล้ายรูปเล็บมือ ไม่มีหู ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูป ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐาน ๓ ชั้น มีผ้าทิพย์ รอบองค์พระเป็นซุ้มเรือนแก้ว นอกซุ้มเรือนแก้วด้านบนมีใบโพธิ์ และเส้นรอบส่วนขอบของเหรียญ ไม่ปรากฏรายละเอียดบนพระพักตร์ ด้านหลัง มีอักขระขอมนูน ๒ ตัว คือ “มะ” กับ “อุ” รอบขอบเหรียญมีเส้นนูนโดยรอบ บางองค์มีรอยลงเหล็กจารสระ “อิ” เหนือหัว “มะ” ขนาดกว้างประมาณ ๑.๘ ซม. สูงประมาณ ๒.๗ ซม. ความหนาไม่แน่นอน แต่ไม่บางนัก เป็นเนื้อโลหะผสมทองแดงและทองเหลือง ส่วนใหญ่เป็นสีแดงเข้ม
เหรียญหล่อรุ่น ๒ ออกให้ทำบุญในงานปิดทองและฝังลูกนิมิตของ วัดพะเนียงแตก โดยทำพิธีหล่อที่วัด ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานเกลี้ยงๆ องค์พระค่อนข้างชะลูด (บางท่านว่าจำลองมาจากพระประธานของวัดพะเนียงแตก) พิมพ์ทรงเป็นรูปห้าเหลี่ยม มีเส้นนูนและเส้นขีดรอบเหรียญ ปรากฏรายละเอียดต่างๆ บนพระพักตร์อย่างชัดเจน
ด้านหลังมีเส้นนูนตามขอบเหรียญ เป็นรูปห้าเหลี่ยม และเส้นขีดในส่วนนอก เส้นนูนภายใน กรอบห้าเหลี่ยม มีอักขระขอมนูนตัว “อุ” และ “มิ” ขนาดสูงประมาณ ๓.๕ ซม. กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. หนาประมาณ ๐.๕ ซม. มีทั้งมีหูหล่อในตัว และไม่มีหู เนื้อโลหะออกทองเหลือง
เหรียญรุ่น ๒ นี้ คาดว่าสร้างหลังจากเหรียญรุ่นแรกไม่นาน โดยมีการแก้ไขหล่อให้มีหูในตัว เพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้มากขึ้น และอักขระขอมด้านหลัง เติมสระ “อิ” เป็นตัว “มิ” ไม่ต้องเขียนเพิ่มด้วยมือดังเช่นเหรียญรุ่นแรก
มีผู้กล่าวว่า หลวงพ่อทา ได้นำเหรียญรุ่น ๒ นี้แจกลูกศิษย์ในงานศพพระน้องชายของท่าน (หลวงพ่อคำ) ที่วัดหนองเสือ ซึ่งมรณภาพ พ.ศ.๒๔๕๐ เศษ เหรียญหล่อรุ่น ๒ นี้คงออกในช่วงนั้น เหรียญหล่อหลวงพ่อทา ทั้ง ๒ รุ่น โด่งดังมากในเรื่องคงกระพันชาตรี ตั้งแต่สมัยเก่าก่อนจนถึงทุกวันนี้ เหรียญรุ่นแรก ที่มีสภาพสวยสมบูรณ์เช่าหาในชั่วโมงนี้ ๒-๓ แสนบาทขึ้นไป ในขณะที่ เหรียญรุ่น ๒ ราคากว่า ๔-๕ แสนบาท... สาเหตุที่ เหรียญรุ่น ๒ แพงกว่ารุ่นแรก ก็เพราะว่า เหรียญรุ่น ๒ หล่อที่วัดและออกที่วัดพะเนียงแตกโดยตรง ส่วนเหรียญรุ่นแรกออกที่วัดบางหลวง อ.บางเลน และที่สำคัญ คือ เหรียญหล่อทั้ง ๒ รุ่นนี้ ของปลอม ทำได้เหมือนกับ ของแท้ มาก ผู้สนใจเช่าหาต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
(ข้อมูลและภาพจาก...หนังสือ “เหรียญหล่อล้ำค่า พระคณาจารย์เมืองสยาม ๑” จัดทำโดยทีมงานนิตยสาร พระท่าพระจันทร์ เป็นหนังสือรางวัลพระชนะเลิศแต่ละรายการใน งานประกวดพระ จัดโดย คณะนักศึกษา วปอ.รุ่น ๒๕๔๗ ในวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต)