พระเครื่อง

'ใหญ่ สันกำแพง'ผู้ชำนาญ'พระสกุลลำพูน'

'ใหญ่ สันกำแพง'ผู้ชำนาญ'พระสกุลลำพูน'

09 มิ.ย. 2556

'การเรียนรู้ดูพระให้เป็นไม่ยาก...แต่ต้องใช้เวลา' 'ใหญ่ สันกำแพง'ผู้ชำนาญ'พระสกุลลำพูน' : เส้นทางนักพระเครื่อง โดยตาล ตันหยงและน้อย ไอยรา


              จังหวัดลำพูน เดิมชื่อ เมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ อายุกว่า ๑,๓๐๐ ปี โดยมีพระราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ พระนาม “จามเทวี” เป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชย สืบราชวงศ์กษัตริย์ ต่อมาหลายพระองค์

              ความที่เป็นเมืองเก่า จ.ลำพูน จึงมีวัฒนธรรมประเพณี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ มากมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา ซึ่งชาวล้านนามีความศรัทธาเลื่อมใสด้วยความมั่นคงมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงทุกวันนี้

              ด้วยเหตุนี้ ตามวัดเก่าๆ ในเมืองลำพูนจึงมีการขุดพบ พระเครื่อง พระบูชา ที่โบราณาจารย์ได้สร้างบรรจุไว้มาโดยตลอด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องที่วงการนักสะสมให้ความนิยมกันอย่างกว้างขวาง จนมีการเช่าหาในราคาสูง อาทิ พระรอด พระคง พระบาง พระเปิม ฯลฯ ที่เรียกรวมกันว่า พระสกุลลำพูน นับเป็นพระเครื่องที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดสกุลหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบางพิมพ์มีอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปีขึ้นไป

              จากการที่ เมืองลำพูน มีพระกรุพระเก่า ตลอดจนมีพระคณาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงทำให้มีผู้สนใจศึกษาและสะสมพระเครื่องในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยความรักและหวงแหนในมรดกอันล้ำค่าของบรรพชน มาจนถึงทุกวันนี้ และหนึ่งในนั้นคือ ใหญ่ สันกำแพง (นุพันธ์ กันจินะ) คนหนุ่มสายเลือดใหม่ผู้ชำนาญ พระสกุลลำพูน โดยเฉพาะ จนอาจจะกล่าวได้ว่า...ทุกวันนี้เขาคือ มือวางอันดับ ๑ ของนักสะสมพระสกุลลำพูน ก็ว่าได้ ใหญ่ สันกำแพง (นุพันธ์ กันจินะ) กล่าวเปิดตัวว่า “ผมเริ่มสนใจศึกษาและสะสมพระเครื่องมาตั้งแต่เด็ก จำได้ว่าเมื่อปี ๒๕๒๐ มีพระรูปหนึ่งธุดงค์จากอยุธยา มาอยู่วัดป่าแดง คือ ท่านครูบาอุ่น อรุโณ ท่านชอบสะสมพระเครื่อง และสร้างพระเครื่องเนื้อผงขึ้นเอง เพื่อเอาไว้แจกชาวบ้าน ผมได้ไปเป็นลูกศิษย์ ท่านมักจะสอนให้ทำพระเครื่อง ประกอบกับผมชอบสะสมพระเครื่องอยู่แล้ว จึงไปที่วัดท่านทุกวัน ทำให้มีโอกาสได้อ่านหนังสือพระเครื่อง และได้เรียนรู้ชื่อพระเครื่องต่างๆ จากท่าน ตอนแรกไม่สนใจอะไร เห็นเป็นพระเครื่องก็เก็บหมด ไปตามบ้านญาติบ้าง บ้านคนเฒ่าคนแก่บ้าง โดยขอเขาฟรีๆ เมื่อปี ๒๕๓๓ ผมได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ทำให้มีโอกาสได้เข้าสนามพระ ตลาดบุญอยู่ ได้ความรู้จากเซียนพระรุ่นพี่หลายท่าน ต่อมาอีก ๒ ปี สนามพระย้ายจากตลาดบุญอยู่ไปอยู่ที่ตลาดทิพย์เนตร ผมและรุ่นพี่ได้ย้ายไปตั้งแผงพระที่หลังโรงเรียนยุพราช ตอนแรกๆ ผมเก็บพระไม่มีระบบ พอมาอยู่สนามพระได้เรียนรู้มากขึ้น จึงเริ่มเก็บอย่างมีระบบมากขึ้น ผมได้ศึกษาและสะสมพระเครื่องของท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย และพระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือก่อน ต่อมาได้เขยิบขึ้นไปศึกษา พระกรุสกุลลำพูน โดยเริ่มศึกษา พระคง ก่อน แล้วค่อยๆ ศึกษาพระกรุต่างๆ ตามมา ผมได้ลงมาเล่นพระเครื่องเต็มตัว เมื่อปี ๒๕๔๑ โดยเริ่มเดินหาเช่าพระเครื่องตามตลาดนัดพระเครื่อง และงานประกวดพระทั่วประเทศ”

              หลักการดูพระเครื่อง ใหญ่ สันกำแพง เปิดเผยว่า...ขั้นแรกจะต้องรู้ก่อนว่า พระเครื่องที่จะดูนั้น เป็นพระอะไร พระกรุ หรือพระเกจิอาจารย์ ของแท้สร้างด้วยวัสดุอะไร ดิน ชิน ผง ว่าน โลหะ ฯลฯ หรือมวลสารต่างๆ ที่นำมาสร้างพระเครื่องชนิดนั้นๆ ก่อน เป็นเบื้องต้น จึงจะแยกได้ว่า ถูกลักษณะของพระเครื่องนั้นหรือไม่ ส่วนการแยกว่า องค์ไหนเป็นของแท้ องค์ไหนเป็นของปลอม หรือว่าพระองค์นั้นสวยสภาพดีหรือไม่ คือ

              ๑.เริ่มจากการดูที่ พิมพ์ทรง ก่อน พิมพ์ต้องถูกต้อง ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ไป สำหรับพระกรุ พระผง ชิน ว่าน พระหล่อ อาจจะมีขนาดที่แตกต่างบ้างเล็กน้อย เพราะการหดตัว หรือขยายตัวของวัสดุที่นำมาสร้าง หรืออุณหภูมิ และระยะเวลา อายุของพระเครื่องชนิดนั้นๆ เป็นส่วนประกอบในการพิจารณา ส่วนพระเหรียญหรือพระปั๊มที่เป็นเนื้อโลหะ ขนาดต้องเท่ากันพอดี จะขาดหรือเกินไม่ได้ เพราะใช้โลหะชนิดเดียวกัน และใช้แม่พิมพ์เดียวกัน

              ๒.ความสมบูรณ์ของพิมพ์ พระสภาพดีต้องไม่แตก ไม่บิ่น อุด ซ่อม ร้าว รายละเอียดต่างๆ ขององค์พระต้องอยู่ครบ จุดตำหนิ จุดตาย ที่จะแยกของแท้ออกจากของปลอมต้องมีรายละเอียด การดูพระกรุ จุดตำหนิบางองค์อาจเลือนหายไปได้บ้างไม่ครบ เพราะผ่านการใช้ หรือการกดพิมพ์ที่ไม่เท่ากัน หรือส่วนผสมของมวลสารไม่เข้ากัน อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าขาดไปบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นของปลอม แต่ต้องมีตำหนิหรือลักษณะสำคัญอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่บ้าง เพื่อเป็นสิ่งบ่งบอกในรายละเอียดขององค์พระนั้นๆ

              ๓.ผิวพระ ที่ไม่ผ่านการใช้ ผิวจะสวยเดิม ไม่ช้ำ ส่วนพระที่ผ่านการใช้มาแล้ว ผิวพระมักจะสึก หรือช้ำ ทำให้ขาดความงามไปบ้าง พระบางองค์ล้างมาอาจจะทำให้ผิวเสีย บางองค์ทำผิวตกแต่งให้ดูเก่า ต้องแยกให้ออก

              ๔.คราบกรุ พระกรุแต่ละกรุมีคราบไม่เหมือนกัน บางกรุมีคราบสีดำ, แ ดง, มีดินปนทราย, หินปูน, หรือแร่เหล็ก เพราะคราบกรุต้องตรงกับกรุนั้นๆ จึงจะแท้ และครบสูตร

              ๕.เทคนิคการสร้างพระเครื่อง แต่ละอย่างมีเทคนิคไม่เหมือนกันมีทั้ง กด พิมพ์ หล่อ ปั้น ปั๊ม เขียน แกะ อันนี้เป็นวิธีการดูพระเบื้องต้น การดูพระแต่ละอย่างจะต้องรู้ว่า พระเครื่องชนิดนั้น “ของแท้” ทำแบบไหนอย่างไร “ของปลอม” ทำแบบไหนอย่างไร จึงจะแยกได้ออก ความเก่า เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ประสบการณ์ในการพิจารณา ผู้ศึกษาต้องผ่านการดูพระเครื่องชนิดนั้นบ่อยๆ จึงจะเข้าใจถึงความเก่า-ใหม่ ความสดของพระเครื่อง ของปลอมบางอย่างอาจจะทำเลียนแบบได้เหมือน แต่ความเก่าไม่มี การดูพระเครื่องต้องไม่เข้าข้างตัวเอง หลักการดูต้องไปทางเดียว คือ แท้ หรือ เก๊ ไม่มีกั๊ก

              ถามว่า...ทำไมถึงสนใจ พระกรุสกุลลำพูน เป็นพิเศษ ?...ใหญ่ สันกำแพง ตอบว่า “เพราะพระสกุลลำพูนเป็นพระเครื่องที่มีอายุความเก่ามากที่สุดในเมืองไทย ออกแบบแม่พิมพ์โดยช่างฝีมือชั้นครู จึงมีพุทธศิลป์ที่งดงามอลังการมาก มีรายละเอียดในองค์พระที่สวยสมบูรณ์อย่างลงตัว และที่สำคัญมีพระพิมพ์ต่างๆ ให้เลือกสะสมมากมายหลายพิมพ์ อีกทั้งเป็นพระเครื่องที่อยู่ในท้องถิ่น จึงหาชมและเก็บสะสมได้ไม่ยากนัก มีผู้รู้มากมายที่สามารถให้ความรู้แก่ผู้สนใจพระสายนี้ได้อย่างถูกต้อง พระสกุลลำพูน ที่ผมชอบสะสมมากที่สุด คือ พระคง เพราะเป็นพระกรุองค์แรกที่ผมได้ศึกษาอย่างละเอียด ชนิดเจาะลึกทุกซอกมุม ทำให้ผมสามารถเช่าหาได้เองโดยไม่มีผิดพลาด นับเป็นความภาคภูมิใจของผม ผมเชื่อว่า พระคงเป็นพระเครื่องที่ทำปลอมได้ยาก เพราะมีรายละเอียดมาก ผมมีโอกาสพบเห็นพระสกุลลำพูนหลายพิมพ์หลายสภาพ ที่นิยมกันทั่วไป ผมคิดว่า ได้ผ่านสายตามาหมดจนครบทุกพิมพ์แล้ว”

              ใหญ่ สันกำแพง กล่าวตอนหนึ่งว่า “ผมเคยเช่าพระคงได้ในราคา ๒๐๐ บาท ปล่อยต่อไปหลายแสนบาท แต่ตอนนี้ หาของฟลุกได้ยากแล้ว มีแต่ราคาเต็มๆ...ผมแขวนพระคง ลำพูน เป็นประจำ ได้ผ่านพบประสบการณ์ทุกด้าน ไม่ว่าคงกระพัน แคล้วคลาด โชคลาภ และเมตตา แขวนแล้วรู้สึกมั่นใจ และอบอุ่นใจยิ่งขึ้น จึงแขวนติดตัวมาตลอด...ถ้าถามผมว่า ความนิยมพระกรุพระเก่าในทุกวันนี้ เป็นอย่างไร โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ยังมีผู้ที่นิยมพระกรุเหมือนเดิม เพราะพระกรุมีเสน่ห์ และมีคุณค่าทางพุทธศิลป์ มีความเก่า มีประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ราคาเช่าหาจึงแพงขึ้นเรื่อยๆ เพราะพระมีจำนวนจำกัด ไม่มีเพิ่ม ในขณะที่ความต้องการพระกรุมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

              พระเครื่องทุกวันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีราคาสูง การเรียนรู้ดูพระให้เป็น นั้นไม่ยาก เพียงแต่ต้องใช้เวลาและหมั่นศึกษาจาก พระแท้องค์จริง รวมทั้งสอบถามจากผู้รู้จริง แล้วจดจำให้แม่น ดูพิมพ์ ดูเนื้อ ดูความเก่าให้ได้ เริ่มต้นจาก พระแท้ ที่ไม่สวยก่อนก็ได้ เพราะราคาไม่แพง พอดูเป็นแล้ว จึงค่อยขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเป็น พระสกุลลำพูน ควรเริ่มที่ พระคง ก่อน ถ้าดูเป็นแล้วก็สามารถดู พระสกุลลำพูน พิมพ์อื่นๆ หรือพระกรุเมืองอื่นๆ ได้ด้วย เพราะการดู พระกรุ ใช้หลักการพิจารณาเดียวกัน นอกจากแหล่งเรียนรู้อีกแห่ง คือในกระดานโชว์ พระกรุล้านนา (pralanna.com) ซึ่งมี พระแท้ ให้ศึกษามากมาย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ดูพระเป็นเร็วขึ้น

              ใหญ่ สันกำแพง เปิดร้านพระเครื่องอยู่ที่ตลาดคำเที่ยง และตลาดทิพย์เนตร ในตัวเมืองเชียงใหม่ โทร.๐๘-๑๕๓๐-๑๒๙๓ ** e-mail : [email protected] ** ยินดีให้คำปรึกษา แนวทางการศึกษาและสะสม พระสกุลลำพูน โดยเฉพาะ การเรียนรู้ดูพระให้เป็น...จาก “ผู้รู้จริง” ย่อมมีโอกาสได้ “พระแท้” อย่างแน่นอน