คู่สวด พระคู่สวด : คำวัด
คู่สวด พระคู่สวด : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
การอุปสมบท คือการเข้าถึงความเป็นสมณะ บุคคลที่อุปสมบทเข้ามาเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ก็ด้วยว่าตนเห็นภัยในวัฏสงสาร การเป็นพระภิกษุนั้น เมื่ออุปสมบทเข้ามาแล้วก็ต้องถือศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งต่อด้วยการศึกษาพระปริยัติ และปฏิเวธ เป็นลำดับไป
โดยมีศัพท์ในการเรียกผู้จะบวชเว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาค ซึ่งต้องท่องคำบาลีหรือที่เรียกกันว่าขานนาคให้คล่องเพื่อใช้ในพิธี โดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน
นอกจากนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องเตรียมตัว และทำเมื่อคิดจะบวชดังต่อไปนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะต้องทำทั้งหมดเพราะว่าทั้งนี้ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและกำลังทรัพย์ด้วย ขั้นตอนบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
ส่วนสถานที่ประกอบพิธีทำการอุปสมบทนั้น ต้องเป็นโรงอุโบสถ งดสถานที่อื่นที่มิใช่สีมา มีการประชุมพระภิกษุสงฆ์ ๒๘ รูป ซึ่งประกอบด้วยพระอุปัชฌาย์ ๑ รูป พระคู่สวดอีก ๒ รูป คือ พระกรรมวาจาจารย์ ๑ รูป พระอนุสาวนาจารย์ ๑ รูป อีก ๒๕ รูป เป็นพระอันดับในทางปฏิบัติพระอันดับนั้นมีเพียง ๑๐ รูปขึ้นไป ไม่ต้องถึง ๒๕ รูปก็ได้
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของกรรมวาจาจารย์ (กำ-มะ-วา-จา-จาน) แปลว่า อาจารย์ผู้สวดกรรมวาจา คือภิกษุผู้ทำหน้าที่สวดประกาศในท่ามกลางสงฆ์เวลาทำพิธีอุปสมบท เพื่อให้สงฆ์ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอุปสัมปทาเปกข์หรือผู้ขอบวช และถามมติของสงฆ์ว่าจะยอมรับผู้ขอบวชให้เป็นภิกษุหรือไม่ เรียกกันว่า พระกรรมวาจาจารย์
กรรมวาจาจารย์เป็นคู่กับพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งทำหน้าที่บอกอนุศาสน์หรือคำสอนเกี่ยวกับระเบียบวินัยเบื้องต้นแก่ผู้บวชที่เป็นภิกษุใหม่ ในปัจจุบันทั้งสองรูปทำหน้าที่เหมือนกันคือสวดประกาศ ฉะนั้นจึงเรียกว่า "คู่สวด" หรือ "พระคู่สวด" ส่วนหน้าที่บอกอนุศาสน์กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์