พระเครื่อง

หลวงพ่อพรหมวัดช่องแคพิมพ์เข่ากว้างหลังเต็มพิธีเสาร์ห้าปี๑๖

หลวงพ่อพรหมวัดช่องแคพิมพ์เข่ากว้างหลังเต็มพิธีเสาร์ห้าปี๑๖

04 ก.ค. 2556

พระหลวงพ่อพรหมวัดช่องแคพิมพ์เข่ากว้างหลังเต็มพิธีเสาร์ห้าปี๑๖ : : พระหลักยอดนิยม โดยแล่ม จันท์พิศาโล


            หลวงพ่อพรหม ถาวโร เป็นชาวเมืองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๒๖ ณ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช เป็นบุตรของนายหมี-นางล้อม โกสะลัง อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก โดยมีหลวงพ่อถมยา เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ศึกษาเล่าเรียนคาถาอาคมจากพระเกจิอาจารย์หลายท่าน จน มีความรู้แตกฉาน หลังจากนั้นท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ เป็นเวลานาน

            จนมาถึงบริเวณ ถ้ำเขาช่องแค ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสววรค์ ในวันที่ฝนตกหนัก ในตอนค่ำท่านจึงได้อาศัยถ้ำแห่งนี้เป็นที่พักหลบฝน
วันรุ่งขึ้น ฝนหยุดตก ความตั้งใจที่จะเดินธุดงค์ต่อไปทางภาคเหนือก็เลยงด ยังคงพักอยู่ที่ถ้ำเขาช่องแคต่อไปอีกหลายวัน ซึ่งท่านได้บอกกับลูกศิษย์ในเวลาต่อมาว่า เหตุที่ไม่เดินธุดงค์ต่อไป เพราะในถ้ำนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ ทำให้ท่านได้ "ปัญญา" เป็นแสงสว่างในการปฏิบัติธรรม ท่านรู้สึกประทับใจถ้ำนี้มาก จึงวางโครงการสร้างที่จะสร้างเป็นวัดขึ้นที่บริเวณหน้าถ้ำ ท่านได้กลับไปบ้านเดิมที่อยุธยา บอกขายที่ดินมรดก เอาเงินมาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว แล้วสร้างวัดขึ้นจนเป็นผลสำเร็จดังที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้
ชาวช่องแค มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของหลวงพ่อมาก เพราะท่านได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้านในทุกด้าน รวมทั้งเรื่องของวัตถุมงคล พระเครื่องรางของขลัง ที่ท่านได้ปลุกเสกให้ชาวบ้านนำไปใช้แล้วมีประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภ ตลอดจนเรื่องแคล้วคลาด ปลอดภัย และคงกระพันชาตรี
หลวงพ่อพรหม มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๑๘ สิริรวมอายุ ๙๑ ปี พรรษา ๗๑

            ในบรรดาพระเครื่องของ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พระเครื่องประเภท "พระรูปหล่อ" หรือ "พระรูปเหมือน" นับว่าได้รับความนิยมสูงสุด มีการสร้างหลายรุ่นด้วยกัน ได้แก่
       
            รุ่นนิ้วกระดก (ปี ๒๕๐๗), รุ่นหูกาง (ปี ๒๕๐๘), รูปหล่อโบราณ (ปี ๒๕๑๒), รุ่นเสาร์ห้า (ปี ๒๕๑๒), รุ่นก้นระฆัง (ปี ๒๕๑๒), รูปเหมือนปั๊ม เนื้ออัลปาก้า บรรจุกริ่ง รุ่นผู้ใหญ่ลี อิ่มดุลย์ (ปี ๒๕๑๓), รูปเหมือนปั๊มพิมพ์เล็ก รุ่นคุณกุหลาบ มณเฑียร (ปี ปี ๒๕๑๓), รุ่นชาร์ฟรถไฟ คุณวินัย อยู่เย็น (ปี ๒๕๑๓)
       
            สำหรับรุ่นสุดท้าย คือ พระหลวงพ่อพรหม รูปเหมือนปั๊ม รุ่นเสาร์ห้า (๒๕๑๖) มีหลายพิมพ์ ได้แก่ รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์หลังเตารีด, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์ใบเสมา, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเรียบ, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเต็ม, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเข็มกลัด และรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง พิมพ์ลังยันต์สิบ เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า พระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหม ที่สร้างในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นพระรูปเหมือน แบบปั๊ม (ยกเว้น รุ่นรูปหล่อโบราณ ปี ๒๕๑๒ ซึ่งสร้างด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ)

            พระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหม จะไม่มี แบบหล่อฉีด เหมือนที่สมัยใหม่นิยมสร้างกัน ส่วนที่มีอยู่ในวงการพระทุกวันนี้นั้น ล้วนเป็นการสร้างขึ้นภายหลังจากที่หลวงพ่อมรณภาพแล้ว

            หนังสือพระเครื่องหลายฉบับ มักนิยมชี้ตำหนิต่างๆ ขององค์ พระแท้ แต่ละรุ่นอย่างละเอียด ซึ่งก็ใช้ในระยะแรกๆ เท่านั้น พอต่อมาไม่นานนัก ตำหนิต่างๆ ที่ว่านี้จะมีอยู่ใน พระเก๊ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แถมบางองค์ยังทำให้เห็นง่ายๆ ด้วยซ้ำไป

            เพราะคนทำ พระเก๊ เขาก็ติดตามข่าวความนิยมของคนเล่นพระเหมือนกัน พระรุ่นไหนดัง ราคาดี เขาก็สร้างพระพิมพ์นั้นรุ่นนั้นออกมาทันที โดยกางตำราทำให้เหมือนกับ พระแท้ ทุกอย่าง ทั่วทุกซอกมุม ด้วยฝีมือที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีหาเงินที่ได้อย่างง่ายๆ และได้มากด้วย โดยไม่เกรงกลัวคำว่า “บาปกรรม” แต่อย่างใด
พระหลวงพ่อพรหม ก็เช่นกัน มีของเก๊ทุกรุ่นทุกพิมพ์ และหลายฝีมือด้วยกัน บางฝีมือก็ต้องยอมรับว่า เฉียบขาดจริงๆ ขนาดเซียนพระสายตรงก็เคยโดนมาแล้ว
ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธี เปิดตำราเช่าพระ แล้วจำแต่ตำหนิแต่เพียงอย่างเดียว รับรองว่าต้อง  "โดน" แน่นอน

            ปัจจัยการเช่าพระต้องมีมากกว่านั้น นอกจาก ตำหนิ ในองค์พระแล้ว ยังต้องดูที่ความเก่า, ธรรมชาติของเนื้อพระ และอื่นๆ อีกมากมาย การเช่าพระแต่ละองค์จึงต้องเรียนรู้ และดูพระแท้บ่อยๆ จนจดจำได้หมด จึงค่อยเช่าหามาใช้ติดตัว

            มีคำกล่าวของผู้อาวุโสในวงการพระ ที่มักจะเตือนบรรดาน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการพระว่า...หากดูพระไม่เป็น ก็ต้องดูคนให้เป็น...คือ ต้องซื้อจากคนขายพระที่มีความซื่อสัตย์กับลูกค้า มีคุณธรรม และความจริงใจ ที่สำคัญคือ หากเป็นพระที่มีปัญหา เช่น ชำรุดอุดซ่อม รมดำใหม่ กะไหล่ใหม่ ตลอดจนเป็น พระเก๊ ต้องรับคืนพระและคืนเงินให้ลูกค้าทันที

            ต้องจดจำไว้เสมอว่า...ซื้อพระทุกครั้ง ต้องให้ผู้ขายออกใบรับประกัน “พระแท้” ให้ด้วยเสมอ...เพื่อความสบายใจที่สุด

            พระหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พิมพ์เข่ากว้างหลังเต็ม พิธีเสาร์ห้า ปี ๒๕๑๖ รุ่นนี้สร้างโดยคณะกรรมการพัฒนาวัดช่องแค อาทิ พล.อ.กาจบัณฑิต โชติกญาณ, พ.ต.อ.อภัย วรดิถี, คุณหมอสมสุข คงอุไร ฯลฯ

            พระที่ปลุกเสกในพิธีมีหลายพิมพ์ เป็นพิธีใหญ่ ทุกวันนี้เป็นที่นิยมทุกพิมพ์ โดยเฉพาะ รูปเหมือนหลวงพ่อพรหม พิมพ์เข่ากว้างหลังเต็ม เป็นพระรูปเหมือนปั๊ม (แบบปั๊มเหรียญ) มิใช่พระเททองหล่อแบบโบราณ สร้างด้วยเนื้อทองคำ ๒ องค์, เนื้อเงิน ๓๐ องค์, เนื้อทองระฆัง (ผสมทองเหลือง) ๒,๐๐๐ องค์, เนื้อทองแดง ๕,๐๐๐ องค์, เนื้อตะกั่ว  ๑,๐๐๐ องค์ และ เนื้อทองระฆังล้วน ๑๙ องค์ (ไม่ใช่ ๕ องค์อย่างที่มีผู้เข้าใจผิด)

            ข้อมูลนี้ได้มาจาก เฮียเกียรติ จิวเจริญ เจ้าของบริษัท นาครินทร์ จำกัด ถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม กทม. ผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในย่านนั้น

            “เฮียเกียรติ” เป็นผู้ที่ชอบทำบุญไหว้เป็นประจำ พระเกจิอาจารย์ดังๆ ในสมัยก่อน ไปกราบไหว้ทำบุญมาหมดแล้ว รวมทั้ง หลวงพ่อพรหม ก็ได้ไปกราบไหว้เป็นประจำ จนหลวงพ่อรู้จักเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นผู้ออกทุนในการจัดสร้าง พระหลวงพ่อพรหม หลายรุ่นด้วยกัน

            “เฮียเกียรติ” ยืนยันว่า พระรุ่นนี้พิมพ์นี้ที่เป็น เนื้อทองระฆังล้วน สร้างทั้งหมด ๑๙ องค์ พระทุกองค์ขณะเข้าพิธีเสาร์ห้าปี ๒๕๑๖ ยังไม่ได้มีการแต่งแทงลายจีวรด้านข้างองค์พระแต่อย่างใด เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ได้มีการแบ่งพระตามที่แต่ละคนได้สั่งจองกันไว้

            ต่อมาภายหลังเจ้าของพระแต่ละคนได้นำพระรูปเหมือนพิมพ์นี้เนื้อนี้ ไปแต่งลายจีวรด้านข้างกันเอง เพื่อความสวยงามคมชัดยิ่งขึ้น โดยมีผู้แต่งหลายคน อาทิ คุณส่ำ, คุณฉั่น, คุณเส็ง, คุณลออ, คุณสำราญ และคุณตี๋ ร้านถ่ายรูปสากล (พระพิมพ์นี้เนื้อนี้ของ “เฮียเกียรติ” มีอยู่ ๒ องค์ แต่งโดยคุณสำราญ เมืองแป้น ยังเก็บรักษาอยู่ในเวลานี้)
ในส่วนของ คุณหมอสมสุข คงอุไร ได้พระพิมพ์นี้เนื้อนี้ไป ๕ องค์ ภายหลังได้มีผู้ไปขอแบ่งมาจากท่าน คนที่ได้รับพระไปจึงคิดว่า พระพิมพ์นี้เนื้อนี้มี ๕ องค์เท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

            เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และมีตัวตนที่ยืนยันได้ในทุกวันนี้ ทำให้หลายคนที่มีพระพิมพ์นี้เนื้อนี้อยู่ในครอบครองต่างสบายใจไปตามๆ กัน รวมทั้ง “นายหัว” ภาณุพงศ์ กริชจนรัช นักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใน จ.ภูเก็ต ผู้เป็นเจ้าของพระหลวงพ่อพรหมองค์ในภาพข้างต้นนี้

            สำหรับ พระหลวงพ่อพรหม พิมพ์เข่ากว้างหลังเต็ม พิธีเสาร์ห้า ปี ๒๕๑๖ ได้มีหนังสือพระเครื่องหลายฉบับ ชี้ตำหนิไว้มากมายหลายจุด เช่น เส้นแตกใน ว.ของคำว่า หลวง เส้นแตกใน ร. ของคำว่า พรหม เส้นแตกปลายยันต์ ตัวบนสุดที่สังฆาฏิ  หรือรอยวนๆ ที่ด้านหลังขององค์พระ เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม จุดตำหนิต่างๆ เหล่านี้ใน พระเก๊ ก็มีครบถ้วน แถมบางองค์ยังทำให้เห็นง่ายๆ ด้วยซ้ำไป ดังนั้นจุดตำหนิต่างๆ ที่เคยลงไว้ในหนังสือพระก่อนหน้านี้ มาบัดนี้คนทำ พระเก๊ ได้กางตำราทำไว้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            พระเก๊ พิมพ์นี้ต้องยอมรับว่า ฝีมือเฉียบขาดมาก แม้แต่เซียนพระสายนี้ยัง “โดน” มาแล้ว แล้วคนทั่วไปจะเหลืออะไร คนที่ใช้วิธีเปิดตำราซื้อพระ แล้วจดจำแต่ จุดตำหนิ ต่างๆ  โดยไม่ดูส่วนอื่นประกอบ เช่น ธรรมชาติของเนื้อโลหะ ที่มีความเก่า ความตึงของผิวพระ รับรองว่าต้อง "โดน" อย่างแน่นอน

            นอกจากด้านหน้าแล้วด้านหลังของ พระเก๊ พิมพ์นี้ก็ยังทำออกมาได้ดี ริ้วจีวรคมชัด ซอกแขนใช้ได้ รอยตัดขอบข้างก็ไม่ปรากฏรอยขอบซ้อน คนที่ไม่เคยเห็นของจริงมาก่อน จะไม่รู้เลยว่า พระเก๊องค์นี้จะ "หนา" มากกว่าของแท้ เล็กน้อย
   
            จุดเดียวจอด ของ พระหลวงพ่อพรหม พิมพ์เข่ากว้าง ไม่ว่าด้านหลังจะเป็นแบบไหน เช่นหลังเรียบ, หลังเต็ม หรือ หลังเตารีด เท่าที่พบเห็นมาแล้ว ล้วนแต่ต้องมีจุดนี้ คือ จุดที่อยู่ใต้มือขวาของหลวงพ่อ เกือบติดขอบสังฆาฏิ มีลักษณะเหมือนขีดเล็กๆ ๒ ขีด

            จุดสังเกตนี้ ถ้ามองตรงๆ จะไม่เห็น ต้องตะแคงพระดู ถึงตะเห็น ใน พระแท้ ที่เคยพบเห็นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเนื้ออะไรก็ตาม ตรงจุดนี้ต้องมีเสมอ ติดมากติดน้อย ต้องมี อีกทั้งยังอยู่ในตำแหน่งที่ลึกพอสมควร แม้ว่าจะเป็นพระที่ผ่านการใช้มาแล้วก็ตาม จุดนี้จะต้องมีให้เห็นเสมอ ถ้าพระองค์ไหนไม่มี “ตีเก๊ไว้ก่อน” ปลอดภัยดี

            พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง ลักษณะพิมพ์ด้านหน้าเหมือนกับ รุ่นหลังเตารีด เพียงแต่รุ่นหลังเตารีดเป็นพระครึ่งซีก เมื่อตัดปีกออก และเพิ่มรายละเอียดด้านหลังให้เต็มองค์ขึ้น เรียกว่า "พิมพ์เข่ากว้างหลังเต็ม"

            ส่วนองค์ที่ไม่ได้เติมหลัง แต่ได้ตัดปีกออก เรียกว่า "พิมพ์เข่ากว้างหลังเรียบ"

            ลักษณะองค์ พระรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง เป็นพระปั๊มลอยองค์ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อพรหมนั่งสมาธิ เข่าทั้งสองข้างมีความกว้างมากอย่างเห็นได้ชัด บนสังฆาฏิหลวงพ่อมียันต์ "นะฦาชา" เช่นเดียวกับพิมพ์หลังเตารีด

            ปลายสังฆาฏิมีอักขระ "โส ภะ คะ วา" ด้านล่างมีข้อความว่า "หลวงพ่อพรหม" ส่วนด้านหลังมีข้อความว่า “วัดช่องแค" อยู่ที่ฐานล่าง
องค์พระมีขนาดฐานกว้างประมาณ ๒.๕ ซม. สูงประมาณ ๒.๘ ซม.

            จุดสังเกต ด้านหน้า ๑.มีก้อนเนื้อเกินบนเม็ดตาซ้าย, ๒.ตัวอุณาโลมมีปลายขยักแหลมคม, ๓.ริ้วจีวรบนเข่าซ้ายมีเส้นซ้อนทั้งสองเส้น และ ๔.มีขีดในร่องเส้นของตัว ว. (จุดสังเกตจะเหมือนพิมพ์หลังเตารีด เพราะใช้แม่พิมพ์ด้านหน้าบล็อกเดียวกัน แต่ใน “พิมพ์เข่ากว้าง”ได้ตัดขอบนอกออกจนเหลือเฉพาะองค์พระ)
จุดสังเกต ด้านหลัง ๑.ใบหูด้านหลังเป็นแอ่ง และ ๒.ผ้าสังฆาฏิเรียบตึง (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลจาก คุณฐกร บึงสว่าง)