พระเครื่อง

ไขปริศนา‘พระลือหน้ายักษ์’อีกพิมพ์หนึ่งของ‘พระสกุลลำพูน’

ไขปริศนา‘พระลือหน้ายักษ์’อีกพิมพ์หนึ่งของ‘พระสกุลลำพูน’

07 ก.ค. 2556

ไขปริศนา‘พระลือหน้ายักษ์’อีกพิมพ์หนึ่งของ‘พระสกุลลำพูน’ : พระเครื่องเรื่องน่ารู้ โดยตาล ตันหยง

              ย้อนไปเมื่อก่อนปี ๒๕๔๐ ในวงพระเครื่องท้องถิ่น และส่วนกลาง ยังไม่มีการยอมรับ พระลือหน้ายักษ์ ว่าเป็นพระเก่าที่สร้างในสมัยหริภุญชัย เพียงเป็นที่รู้กันดีว่า พระลือหน้ายักษ์ เป็นพระที่สร้างขึ้นในยุคหลังไม่กี่สิบปี จากแม่พิมพ์เก่าที่มีการขุดพบ

              เพื่อความชัดเจนของข้อมูล จะขอนำเอา บันทึกการขุดพบแม่พิมพ์ของพระลือหน้ายักษ์ จากหนังสือปริอรรถาธิบาย พระรอด ของ “ตรียัมปวาย” พ.ศ.๒๕๐๒ มาอย่างย่อๆ ดังนี้

              “การพบแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ตุ๊เจ้าแสน หรือ พระครูบาแสน เจ้าอาวาสวัดอัฐฐารส (สมัยก่อนที่ยังมิได้รวมเป็นพระอารามเดียวกับวัดพระบรมธาตุ) เป็นผู้ขุดได้ แม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์ ที่ทุ่งกู่ร้าง (อยู่ทางทิศใต้ของวัดประตูลี้ ประมาณ ๘๐ เมตร) ได้แม่พิมพ์ดังกล่าวมา ๒ ชิ้น และได้ใช้เศษดินของพระเก่าๆ มากดพิมพ์ สร้างเป็นองค์ขึ้น เมื่อประมาณพ.ศ.๒๔๒๙ นับเป็นเวลา ๗๓ ปี ล่วงมาแล้ว (ถึง พ.ศ.๒๕๐๒ ผู้เขียน) นัยว่า ตุ๊เจ้าสร้างขึ้นมาดูเล่น และแจกจ่ายไปสักการบูชา ด้วยเห็นว่า เป็นแบบพระพุทธปฏิมาที่งดงามหนักหนา ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในลำพูน ครั้นต่อมา ตุ๊เจ้าชราภาพมากแล้ว เป็นห่วงว่าจะมีคนนำเอาไปปลอมแปลงสร้างขึ้นให้คนเข้าใจผิด จึงได้เอาแม่พิมพ์ทั้งสองนี้ไปทิ้งในบ่อน้ำภายในวัดพระบรมธาตุ”

              ภายหลังเล่ากันว่า มีผู้ลงไปงมแม่พิมพ์ในบ่อน้ำขึ้นมา และมีการทำ “พระลือหน้ายักษ์” ปลอมออกมาอีก แต่วงการพระท้องถิ่นไม่ยอมรับ เพราะเนื้อพระและผิวดูสด ไม่มีความเก่าเลย จะเห็นได้ว่า หนังสือพระเครื่องทุกเล่มจะระบุว่า พบแต่แม่พิมพ์พระ ส่วนองค์พระนั้นยังไม่เคยมีการขุดพบเลย

              ประวัติการขุดพบพระกรุเทศบาล

              เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๐ เวลาประมาณบ่ายโมงเศษ มีผู้ขุดพบ “พระลือหน้ามงคล” แบบเดียวกับกรุวัดประตูลี้ ได้สิบกว่าองค์ ที่บริเวณเล้าไก่ของนายจรัล คนเฝ้าสวนเรือนเพาะชำของเทศบาลเมืองลำพูน ห่างจากลำน้ำกวงประมาณ ๓๐ เมตร

              “พระลือหน้ามงคล” ที่พบเป็นพระผิวเปื่อยยุ่ย เพราะอยู่ในบริเวณดินที่ชุ่มน้ำ จากนั้นผู้ขุดได้ขุดบริเวณเนินดินด้านข้างต่อ พบเศษดินกี่เก่า (อิฐเก่า) ขนาดใหญ่ ที่ใช้สร้างกำแพง หลังจากขุดลึกลงไปก็พบหม้อดินเผา ลักษณะคล้ายกับหม้อเก็บกระดูกสมัยโบราณ แตกอยู่ในดิน และพบพระพิมพ์จำนวนหลายพันองค์ ปนอยู่กับเศษหม้อดิน

              ภายหลังเมื่อนำมาคัดแยกแล้ว ปรากฏว่า มีพระ ๕ พิมพ์ด้วยกัน คือ ๑.พระคง ประมาณ ๒๐๐ องค์ ๒.พระบาง ประมาณ ๕๐๐ องค์ ๓.พระเลี่ยง ประมาณ ๓๐๐ องค์ ๔.พระลือพิมพ์เล็ก ประมาณ ๕๐ องค์ และ ๕.พระลือหน้ายักษ์ ประมาณ ๕๐ องค์

              นอกจากนี้ ยังพบพระพิมพ์ต่างๆ ของสกุลลำพูน เช่น พระกวาง พระสิบสอง พระเลี่ยงหลวง พระพิมพ์พุทธคยา และพระเนื้อดินขนาดใหญ่ สมัยหริภุญชัย ทั้งนั่งและยืน แต่หักชำรุดเป็นส่วนใหญ่

              หลังจากการขุดพบครั้งแรก อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ในเวลากลางคืน มีการขุดพบหม้อดินเผาแบบเดียวกันอีก ๑ ใบ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน โดยผู้ขุดชุดเดิม บางคน พบพระ ๕ พิมพ์ ปริมาณใกล้เคียงกับที่ขุดได้ครั้งแรก

              ครั้งที่ ๒ นี้ ผู้ขุดแบ่งให้เทศบาลเมืองลำพูนครึ่งหนึ่ง ซึ่งเทศบาลได้นำออกให้ประชาชนเช่าบูชา ได้เงินประมาณสองแสนเศษ นำไปสร้างศาลเจ้าแม่จามเทวี หลังศาลากลางหลังเก่า

              ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง มีนักสะสมพระจากส่วนกลางได้เหมาซื้อไปทั้งหมด มีพระเพียงส่วนน้อยที่ตกอยู่กับนักเล่นท้องถิ่น

              ตอนที่พระแตกกรุออกมาใหม่ๆ เนื้อพระจะฟูและเปื่อย เป็นเพราะกรุพระอยู่บริเวณที่ชุ่มน้ำ ริมน้ำแม่กวง ทำให้ดินชื้นตลอด เซียนหลายคนก็เลยกลัว

              การพิจารณาพิมพ์ทรง

              ๑.พระคง กรุเทศบาล ศิลปะและฝีมืองานช่าง คล้ายกับ พระคง กรุช้างค้ำ และพระคง กรุดอยคำ

              ๒.พระบาง กรุเทศบาล ลักษณะคล้ายกับพระบาง กรุวัดดอนแก้ว แต่มีขนาดเล็กกว่า เข้าใจว่าช่างแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้พิมพ์เดิมเป็นแม่แบบ พระส่วนใหญ่ที่พบจะสวย มีหน้าตาติดชัด เนื้อดินหยาบ ด้านหลังเรียบ

              ๓.พระเลี่ยง กรุเทศบาล พิมพ์คล้ายกับพระเลี่ยง กรุวัดประตูลี้ พิมพ์ฐานบัวเหลี่ยม ขนาดเล็กกว่า เนื้อดินหยาบเหมือนกัน เข้าใจว่าแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้พิมพ์ของวัดประตูลี้เป็นแม่แบบ ด้านหลังเรียบ

              ๔.พระลือพิมพ์เล็ก กรุเทศบาล พิมพ์ทรงองค์พระโดยรวม มีส่วนคล้ายกับพระลือหน้ามงคล แต่รายละเอียดน้อยกว่า ลักษณะเป็นการแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่ ตามจินตนาการของช่าง มากกว่าที่จะใช้ พระลือหน้ามงคล เป็นแม่แบบ ขนาดใหญ่กว่า พระรอด เล็กน้อย เนื้อดินหยาบ หลังเรียบ

              ๕.พระลือหน้ายักษ์ กรุเทศบาล พิมพ์เดียวกับ “พระปลอม” ที่กดพิมพ์จากพิมพ์จริงที่ขุดได้สมัยก่อน  ศิลปะและฝีมืองานช่างสวยงามกว่าพระทั้ง ๔ พิมพ์ที่กล่าวมาแล้ว พิมพ์ทรงองค์พระโดยภาพรวม คล้ายกับ พระลือหน้ามงคล แต่องค์พระนั่งปางสมาธิ ขัดเพชร ลักษณะใบโพธิ์ คล้ายกับโพธิ์ของ พระเปิม เนื้อดิน ก็ละเอียดกว่า ด้านหลังเรียบ

              การกำหนดอายุสมัยการสร้าง

              พระกรุเทศบาล ตอนขึ้นจากกรุใหม่ๆ เนื่องจากพิมพ์พระแปลกตา เนื้อพระฟ่ามและฟู ชวนให้สงสัย พอเวลาผ่านมาหลายปี พระเมื่อถูกอากาศนานๆ ดินเริ่มเซตตัวลง ทำให้เนื้อพระแห้ง และผิวพระยุบตัวลง ดูเก่าง่ายกว่าตอนพระขึ้นจากกรุใหม่ๆ

              มาจนถึงเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ โครงการอนุรักษ์และเผยแพร่พุทธศิลป์ล้านนา สำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดสัมมนาวิชาการ พระสกุลลำพูน จากล้านนาสู่สากล ได้ข้อสรุปว่า พระกรุเทศบาลเมืองลำพูน นั้นเก่าจริง ทำให้พระกรุเทศบาลได้รับความนิยมจากนักสะสมพระมากขึ้น

              กล่าวโดยสรุป พระคง พระบาง พระเลี่ยง และพระลือพิมพ์เล็ก กรุเทศบาล น่าจะสร้างในสมัยหริภุญชัยยุคปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

              ส่วน พระลือหน้ายักษ์ ทั้งศิลปะ ฝีมืองานช่าง และเทคนิคการสร้างสูงกว่า เมื่อเทียบลักษณะใบโพธิ์กับ พระเปิม
แล้ว น่าจะสร้างก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แล้วมีผู้นำมาฝากกรุ...ทุกวันนี้ พระลือหน้ายักษ์ องค์สวยๆ ราคาขึ้นหลักแสน แต่ไม่ค่อยมีพระหมุนเวียนเปลี่ยนมือกันบ่อยนัก เนื่องจากพระที่ขุดพบมีน้อยมาก ประมาณ ๕๐ องค์ เท่านั้น

              (ขอขอบพระคุณ ข้อมูลและภาพจาก...คุณน้อย ไอยรา www.pralanna.com)