พระเครื่อง

สมี - เดียรถีย์ : คำวัด

สมี - เดียรถีย์ : คำวัด

09 ส.ค. 2556

สมี - เดียรถีย์ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

               ดีเอสไอเผยพยานปากสำคัญให้การมัด "สมีคำ" นายวิรพล สุขผล หรืออดีตพระวิรพล ฉัตติโก (หลวงปู่เณรคำ) เสพเมถุน สีกา-ยาเสพติด พบภาพถ่ายนอนคู่สีกาไม่ใช่น้องชาย จ่อออกหมายเรียก พ่อแม่ น้องชาย เข้าให้ปากคำ

               คำว่า "สมี" (สะ-หมี) หมายถึง คําเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก คำเรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต เช่น สมีคำ (หลวงปู่เณรคำ)

               ส่วนคำว่า เดียรถีย์ (เดีย-ระ-ถี) พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้มีลัทธิดังท่าน้ำอันเป็นที่ข้าม หรือข้ามน้ำผิดท่า หมายถึงนักบวชนอกศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล (ที่แปลว่า "ข้ามน้ำผิดท่า" นั้น อุปมาถึงบุคคลผู้ออกบวชหวังความพ้นทุกข์ แต่กลับแสวงหาทางที่ผิดหรือศรัทธาปฏิบัติในลัทธิความเชื่อที่มิใช่พระพุทธศาสนา อันเปรียบเหมือนผู้ที่ข้ามแม่น้ำไปขึ้นท่าน้ำที่ไม่ดี ทำให้เสียประโยชน์อันพึงได้ไป)

               เดียรถีย์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัญเดียรถีย์ หมายถึงพวกที่มีลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

               เดียรถีย์ สมัยพุทธกาลมีหลายพวก เช่น ปริพาชก นิครนถ์ ดาบส อเจลก (ชีเปลือย)

               ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้เรียกผู้ทำนอกเรื่องหรือนอกรีตนอกรอย ประพฤตินอกธรรมนอกพระวินัยว่า พวกเดียรถีย์ ซึ่งถือเป็นคำดูถูกหรือคำด่า

               ในสมัยพุทธกาล คำว่า เดียรถีย์ จะหมายถึง "นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล" เป็นคำกลางที่ทางพุทธศาสนาใช้เรียกนักบวชอื่นๆ บางที่ตามเดิม อัญญะ ซึ่งแปลว่า อื่น เข้าไปข้างหน้าเป็นอัญญเดียรกีย์ ก็มี

               พวกเดียร์ถีย์ในสมัยพุทธกาลมีอยู่มากมาย และมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เรียกตามชื่อลัทธิก็มี เรียกตามชื่อสำนักก็มี และเรียกตามลักษณะอาการ หรือพรตที่ประพฤติปฏิบัติก็มี แยกออกเป็นประเภทๆ ได้ เช่น

               ดาบส หมายถึง ผู้บำเพ็ญพรต เป็นนักบวชประเภทนุ่งขาว

               มุนี หมายถึง ผู้บำเพ็ญโมเนยปฏิบัติ คือ ถือความวิเวก สงบ สงัด ไม่พูดจากับใคร

               ปริพาชก หมายถึง  ผู้เร่ร่อน ไม่ค่อยอยู่ประจำที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง

               อาชีวกหมายถึง ผู้เลี้ยงชีพ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยทั่วไปเป็นนักบวชในศาสนาเชนนิกายหนึ่ง

               อเจลก หมายถึง ผู้ไม่นุ่งผ้า ใช้เรียกนักบวชในศาสนาเชนนิกายทิกับพร

               นิคันถะ หมายถึง นิครนถ์แปลว่าผู้ปราศจากกิเลสเครื่องร้อยรัดเป็นชื่อเรียนับวชในศาสนาเชน

               ชฎิล หมายถึง ผู้ไว้ผม นิยมเกล้าเป็นชฎา นับถือการบูชาไฟ

               มณทกะ หมายถึง ผู้มีศีรษะโล้น

               เครุยะ หมายถึง ผู้นุ่งขาวห่มขาว เห็นจะเป็นพวกชีผ้าขาว

               เคคัณติกะ หมายถึง ผู้ถือไม้เท้าสามหัว ผ้าจะเป็นพวกฤาษี