เผย'กะดีจีน'ดันบูรณะเจดีย์วัดประยุรฯรับโล่
ยูเนสโกเผย'ชุมชนกะดีจีน'ดันบูรณะเจดีย์วัดประยุรฯรับโล่ เตรียมทำพิธีมอบรางวัล 16พ.ย.แสดงศิลป์ 3 ท่ากะดีจี
12ก.ย.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำประเทศไทย แจ้งว่า ยูเนสโกได้ประกาศผลการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมใน ภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2556 เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยในปี 2556 มีการส่งเข้าประกวดในโครงการดังกล่าวกว่า 47 โครงการ จาก 16 ประเทศ
ผลปรากฏว่า โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ของประเทศไทย ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence ด้วยเหตุผลว่า มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลานี้สะท้อนความเข้าใจทางเทคนิค และเป็นโครงการอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง
เมื่อเวลา 10.00น.วันนี้(12ก.ย.) ที่วัดประยุรวงศาวาส พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) นางจูเลีย เดววี่ ผู้แทนองค์การยูเนสโกกรุงเทพฯ ผูแทนชุมชนกะดีจีน – คลองสาน ผูแทนสถาปนิก ได้ร่วมกันแถลงข่าว
พระพรหมบัณฑิตกล่าวว่า หลังจากยูเนสโกประกาศให้วัดประยุรฯได้รับรางวัลดังกล่าว ได้มีหนังสือแจ้งว่าเมื่อได้รับรางวัลแล้วควรที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการบูรณะให้กับหน่วยงานต่างๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ได้ทราบโดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมแรงร่วมใจกับชุมชนในท้องถิ่นนี้ถือชุมชนกะดีจีนในการบูรณะอย่างไร
"อย่างไรก็ตามในวันมอบรางวัลนี้คือวันที่ 16 พ.ย.นี้ซึ่งก่อนวันลอยกระทงหนึ่งวัล โดยในวันดังกล่าวจะมีการแสดงศิลป์ 3 ท่าแห่งชุมชนกะดีจีนด้วย" เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าวและว่า
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการบูรณะพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ได้รับรางวัล นอกจากเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนโดยรอบวัดแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาร่วมบูรณะกับเทคนิคสมัยโบราณ โดยเฉพาะบริเวณแกนกลางของเจดีย์ ซึ่งมีความสูง 20 เมตร น้ำหนัก 144 ตัน แต่เดิมมีลักษณะหักและพิงไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้พระบรมธาตุมหาเจดีย์เอียง หากมีการรื้อแกนกลางออก ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ยืนยันว่า ตัวเจดีย์จะยังอยู่ได้ แต่ทางกรมศิลปากร ไม่อนุญาต เนื่องจากเจดีย์ที่มีแกนกลางเทคนิคแบบอยุธยา เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้น และยังมีอุโมงค์ที่จะให้คนเข้าไปดูได้
“ทางสจล.เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการบูรณะครั้งนี้ จึงคิดค้นแนวทางในการบูรณะเสาแกนกลางใหม่ โดยที่นำโครงเหล็กมาหุ้มแกนกลางก่อนใช้แม่แรงยกเสาแกนกลางให้กลับมาตรงเช่นเดิม ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการใหม่ จึงมีการจดลิขสิทธิ์รูปแบบการบูรณะเสาแกนกลางด้วยวิธีดังกล่าวไว้แล้ว”เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กล่าว
ด้านนางจูเลีย เดววี่ กล่าวว่า "ในนามของยูเนสโกกรุงเทพ ข้าพเจ้าใคร่ขอถือโอกาสนี้ แสดงความยินดีต่อความมุ่งมั่น และวิสัยทัศน์ของท่านเจ้าอาวาสแห่งวัดประยุรฯ พระพรหมบัณฑิต และสมาชิกในทีมงานทั้งหมดที่ได้มีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์โครงการนี้จนได้รับรางวัลแห่งความเป็นเลิศในปี2013 (พ.ศ.2556) รางวัลยูเนสโก เอเชีย-แปซิฟิก สำหรับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
ตั้งแต่ยูเนสโกกรุงเทพ ได้ริเริ่มให้มีรางวัลนี้ขึ้นในปี 2000 (พ.ศ.2543) นับเป็นครั้งแรกที่โครงการของไทยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ์สูงสุด ทางเรายินดีที่ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่ามีโครงการอื่นของไทยเป็นจำนวนถึงสิบโครงการที่เคยได้รับรางวัลในปีที่ผ่าน ๆ มา โดยในปี2011 (พ.ศ.2554)โครงการของไทยที่ชนะการประกวดได้กวาดไปถึงสามรางวัล
ทุกหนแห่งของสถานที่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกอยู่ภายใต้การคุกคาม เนื่องจากสิ่งก่อสร้างทางมรดก และทรัพย์สินต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน บทบาทของเอกชน สถาบันหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำรงไว้ซึ่งสถานที่อันเปราะบางเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
ยูเนสโกยอมรับว่ามรดกทางวัฒนธรรมที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย มีคุณค่าที่แท้จริงสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ร่วมกันของสังคม และความสันติสุข เนื่องจากเป็นแหล่งที่มาของตัวตน นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์นั้น ย่อมประกอบไปด้วยความทรงจำ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งชุมชนสามารถที่จะสร้างอนาคตของพวกเขาเองได้ ความสำเร็จของโครงการนี้ได้สอดคล้องกับเป้าหมายของรางวัลยูเนสโกเอเชีย-แปซิฟิกเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
รางวัลนี้ตระหนักถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยม ในการอนุรักษ์สิ่งก่อสร้างทางมรดก และทรัพย์สินในภูมิภาคได้อย่างสัมฤทธิ์ผลโดยภาคเอกชน หรือ โดยอำนาจการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน ระยะเวลาที่ผ่านมาสิบสามปีนั้น มีโครงการเข้าร่วมทั้งสิ้น 516 โครงการ จากจำนวนกว่า 24 ประเทศ มีจำนวน 168 โครงการที่ได้รับการยอมรับจากยูเนสโกให้เป็นงานอนุรักษ์ที่น่ายกย่อง
ยูเนสโกเชื่อว่าการยกย่องความคิดริเริ่มดังกล่าว จะส่งเสริมให้คนอื่น ๆ หันมารับหน้าที่ของโครงการอนุรักษ์ในอนาคตได้โครงการต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลของยูเนสโก ซึ่งรวมถึงโครงการปฏิสังขรณ์ที่วัดประยุรฯแห่งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการอนุรักษ์ภายในของประเทศเหล่านั้นเอง และในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในการประชุมหลักเกณฑ์การได้รับรางวัล หลายโครงการที่ได้รับรางวัลได้กำหนดมาตรฐานทางเทคนิคในการอนุรักษ์ขึ้นใหม่ คนอื่นๆ ได้ให้การสาธิตการสร้างแรงบันดาลใจจากความเป็นไปได้ทางการเมืองของอาคารประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ และที่สำคัญที่สุด โครงการที่ได้รับรางวัลได้แสดงให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่าการอนุรักษ์ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐบาล และภาคประชาสังคม
คณะกรรมการรางวัลมรดกปี 2013 (พ.ศ.2556) ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์จากทั่วทุกภูมิภาค, ได้กล่าวยกย่องการอนุรักษ์ที่โดดเด่นขององค์เจดีย์หลัก และห้องโถงที่แนบมากับองค์เจดีย์ของวัดประยุรฯ ข้าพเจ้าใคร่ขอแบ่งปันให้ท่านทราบถึงคำอ้างอิงของคณะกรรมการอย่างเป็นทางการว่า :
การปฏิสังขรณ์เจดีย์สำคัญทางประวัติศาสตร์และห้องโถงที่แนบมาด้วยนั้น เป็นการอนุรักษ์อนุสรณ์ ศาสนสถาน อันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของที่สุดของกรุงเทพฯ เป็นการรวมความศรัทธา กับ ความสำเร็จทางวิศวกรรมี่สำคัญ โครงการได้เร่งผลกระทบทางกระแสสังคมอย่างกว้างขวาง ต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ในย่านกะดีจีน
การเสริมสร้างโครงสร้างภายในเจดีย์ ในขณะเดียวกันนั้น ยังคงรักษาเปลือกนอกของเจดีย์ที่มีความลาดเอียงไว้ได้อย่างน่าประทับใจ โครงการได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่มีความซับซ้อนของการจำแนกประเภทของสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จากสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การแทรกแซงทางเทคนิครวมไปถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด เทคนิคการก่อสร้างแบบดั้งเดิม ได้ช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของสมัยโบราณและความรู้สึกของยุค ความร่วมมือที่เป็นแบบอย่างระหว่างพระสงฆ์ ช่างผู้ชำนาญ และคนในท้องถิ่นได้ให้ความหมายของศตวรรษที่21 ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างพุทธสถาน และชุมชนของฆราวาส ในการสนับสนุนให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งโดยเป็นศูนย์รวมใจของชีวิตในชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง
ยูเนสโกมุ่งหวังที่จะนำเสนอแผ่นป้ายทองเหลืองมอบให้วัด ซึ่งได้กำหนดที่จะจัดขึ้นที่วัดนี้ในวันที่ 16 พฤศจิกายน"