วัวธนู-ควายธนูเครื่องรางสังคมเกษตรกรรม
วัวธนู ควายธนูเครื่องรางตามความเชื่อของสังคมเกษตรกรรม : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วัวธนู ควายธนู เป็นเครื่องรางตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม อันมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานในด้านการเกษตร วิชาเหล่านี้เป็นการทำหุ่นพยนต์รูปแบบหนึ่ง หุ่นพยนต์สามารถทำได้ทั้งรูปคนและสัตว์ ที่นิยมมีทั้งวัวธนูและควายธนู สามารถสร้างได้หลายวิธี เช่น สานจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นจากขี้ผึ้ง ไปจนถึงหล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพณ์ เช่น ตะปูโลงศพเจ็ดป่าช้า, เหล็กขนันผีพราย, เหล็กยอดเจดีย์ เป็นต้น เอามาหลอมรวมกันหล่อเป็นรูปควาย
บางสำนักใช้โครงเป็นไม้ไผ่แล้วพอกด้วยครั่งที่ได้จากต้นพุทรา เมื่อทำสำเร็จแล้วต้องปลุกเสกตามพิธีกรรม แล้วเลี้ยงไว้ให้ดี ต้องหาหญ้าและน้ำเลี้ยงเสมอ เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ ทั้งป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย และสามารถสั่งให้ไปสังหารคู่อริได้อีกด้วย มีคาถาใช้เสกเมื่อทำควายธนูว่า โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ
ความเชื่อเรื่องควายธนูมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย บางท้องถิ่นเชื่อว่าผู้เลี้ยงต้องดูแลอย่างดีหมั่นให้อาหารและปล่อยออกไปท่องเที่ยว จะประมาทหลงลืมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นควายธนูจะหวนมาทำร้ายเจ้าของเสียเอง แต่บางแห่งก็ถือเป็นเสมือนเครื่องรางธรรมดาสำหรับใช้พกพาติดตัว การสานวัวหรือควายธนูที่ทำจากไม้ไผ่นั้นมีแบบมาจากสายพ่อค้า การทำธนูมือแต่วัวหรือควายธนูนี้จะแรงมากก็คือการปราบเสือเย็น (เสือสมิง) และยังใช้ทำน้ำมนต์ประพรมสิ่งของขายดีต่างๆ นานา เพราะแบบนี้จึงเป็นสายพ่อค้าแต่แบบไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน อาจต่างที่รูปมวลสารอาจเป็นผงเป็นโลหะไม้ไผ่แล้วแต่เจตนาของผู้สร้าง
วัตถุอาถรรพณ์ที่ใช้สร้างวัวธนู-ควายธนู แต่ละชนิดออกไปดังนี้ ๑.วัวทอง เป็นวัวธนูชั้นหนึ่ง สร้างขึ้นด้วยโลหะอาถรรพณ์ มีตะปูตรึงโลงศพ เหล็กขนัน ผีตายท้องกลม งั่ง (ตัวยาซัดทองชนิดหนึ่ง) ทองแดงเถื่อน ดีบุก ทองขวานฟ้า เงินปากผี ทองยอดนพศูนย์ นำมาหล่อหลอมเข้าด้วยกัน แล้วลงอักขระตามตำราที่ใช้บังคับ หรือหล่อเป็นโคถึกหรือกระทิงโทน
๒.วัวขี้ผึ้ง เป็นวัวธนูชั้นสอง ท่านให้ใช้ขี้ผึ้งปิดหน้าผีตายโหง ผีตายท้องกลม ผสมด้วยผมผีตายพราย ผมผีตายลอยน้ำ ตานกกรด ตาแร้ง ตาชะมด กำลังวัวเถลิง เผาไฟให้ไหม้บดเป็นผง ผสมกับเถ้ากองฟอนเจ็ดป่าช้าแล้วนำไปคลุกกับขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปวัวหรือความก็ได้ เสกด้วยอาการ ๓๒ บางตำราเพิ่มคนเลี้ยงอีก ๑คน
๓.วัวไม้ไผ่ เป็นวัวธนูชั้นสาม ใช้ชั่วคราวในเวลาฉุกเฉิน ให้ใช้ไม้ไผ่ที่ขึ้นคร่อมทาง กลั้นหายใจตัดด้วยนะโมตัสสะ กะทีเดียวให้ขาดจากกัน นำมาสานเป็นรูปหัววัว คล้ายเฉลวปักหม้อยาแผนโบราณ
สำหรับภาพวัวธนู ที่นำมาเป็นภาพประกอบเป็นภาพวัวธนูมหาอำนาจเสริมบารมีรุ่นแรกครูบาจง อุปลวณฺโณ (ตุ๊จง) วัดศรีสว่าง (วัวลาย) อ.หางดง จ.เชียงใหม่ จาก " www.krubajong.com" และ " www.watsisawang.com"