พระเครื่อง

สันติภาพโบยบินสู่ถิ่นที่ประสบอุทกภัย

สันติภาพโบยบินสู่ถิ่นที่ประสบอุทกภัย

19 ต.ค. 2556

สันติภาพโบยบินสู่ถิ่นที่ประสบอุทกภัย : โดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หัวหน้าโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา และผอ.สถาบันภาษา มจร รายงาน

              "สันติภาพจะมีประโยชน์อะไร ถ้ายังมีพี่น้องจำนวนมากลำบากยากเข็ญจากวิกฤติการณ์ต่างๆ" ถ้อยคำของยุวชนอาเซียนเพื่อสันติภาพจากกัมพูชานาม "คิม รองเว" ยังคงย้ำเตือนโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา อยู่ตลอดเวลาในช่วงที่เธอเดินทางมาเยือน และทำกิจกรรมร่วมกับยุวชาอาเซียนจาก ๑๓ ประเทศในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

              ความจริงแล้ว สันติภาพไม่ได้หมายถึงความสุขสงบอันเกิดจากใจที่ปราศจากความโลภ ความโกรธเกลียด และลุ่มหลงมัวเมาเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงสันติภาพที่เกิดจากการไร้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างอันเกิดจากสถานการณ์ความหิวโหย ความอดอยาก และความลำบาก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามารุมเร้า และคุกคามมนุษย์ชาติ

              จากตัวแปรดังกล่าว จึงทำให้โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ ได้ตระหนักรู้ถึงความหมายที่แท้จริงของสันติภาพทั้งภายในและภายนอก โดยตลอดระยะเวลาของการศึกษาเล่าเรียนที่ผ่านมาได้พัฒนาสันติภาพภายใน (Inner Peace) ให้เกิดความสุข สงบเย็นขึ้นภายในจิตใจ ผ่านกิจกรรมสันติภาวนา การฟังเสียงลมหายใจ และเสียงของความเงียบสงบที่นอนนิ่งอยู่ภายในจิตใจ การทำกิจกรรมศิลปะเพื่อสันติภาพ รวมไปถึงการเดินธรรมยาตราเพื่อสันติภาพ

              ในขณะเดียวกัน นิสิตสันติศึกษาได้เรียนรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ วิธีการ และการใช้เครื่องมือในการสร้างสันติภาพภายนอก (Outer Peace) จากนักสันติภาพจำนวนมาก ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ภายในห้องสันตภาพ อีกทั้งเดินทางไปดูแบบอย่างของการสร้างสันติภาพในพื้นที่จริงในเกี่ยวกับประเด็น "จากความขัดแย้งสู่ชุมชนสันติสุข" ทั้งในพื้นที่ตำบลปากดุก จังหวัดเพชรบูรณ์ และตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม

              ตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ และเข้าใจหลักการ วิธีการ และเครื่องมืออย่างแจ่มชัดในทุกมิตินั้น คือ "การปฏิบัติจริงในสถานการณ์จริง" ด้วยเหตุนี้ โครงการฯ จึงได้จัด "ค่ายสันติศึกษา: ปันน้ำใจ ฟื้นฟูภัยน้ำท่วม" ณ บ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างหนักในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ไม่ได้สูญเสียสมบัติภายนอกเท่านั้น หากแต่ได้สูญเสียสมบัติภายในที่สำคัญ คือ "ความศรัทธา"

              ความสูญเสียทรัพย์ภายนอก ได้นำไปสู่ความสูญเสียทรัพย์ภายใน คือ "ความเชื่อมั่นในตนเอง" ความเศร้าโศกเสียใจต่อทรัพย์ภายนอกที่แสวงหามาด้วยความยากลำบาก ความหวาดกลัวต่อปัจจัยภายนอก จนเป็นที่มาของภาวะที่ไร้ความหวัง ความฝัน และแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้กับชีวิตเพื่อความอยู่รอด และเอื้อต่อการแสวงหาความดี ความงาม และความสุขในชีวิต

              กิจกรรมที่นิสิตทุกท่านจะทำหน้าที่เป็น "วิศวกรสันติภาพ" ทั้งวันที่ ๒๕-๒๗ คือ การเสริมสร้างสันติภายในและภายนอก การเสริมสร้างสันติภายนอกจะประกอบด้วยกิจกรรมเข้าไปมอบของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพร่วมกับมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ (MOL) กิจกรรมสันติสนทนาที่นิสิตจะร่วมรับฟังอย่างมีสติ (Mindful Listening) เกี่ยวกับความทุกข์ และความขัดแย้งภายในใจที่ชาวบ้านได้ประสบทั้งอดีต และปัจจุบัน ซึ่งการฟังคือการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transformation) ความสุขและทุกข์ระหว่างกันและกันอันจะนำไปสู่การแบ่งเบาและหาทางออกต่อไป

              ในขณะที่กิจกรรมการเสริมสร้างสันติภายใจจะเป็นมุ่งกิจกรรม "ทำบุญหมู่บ้าน" โดยการเสริมสร้างพลังใจผ่านกิจกรรมสวดมนต์หมู่เพื่อสันติ การภาวนาเพื่อสันติ การสนทนาธรรมเพื่อสันติ การถวายพระพุทธรูป "พระพุทธสันติบารมี" ร่วมไปถึงการทำบุญทอดกฐินสามัคคีเพื่อความสันติของชุมชนที่เน้นความสมัครสมานสามัคคีภายใต้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น

              เชื่อมั่นว่า ภายใต้กรอบแนวคิดของการเสริมสร้างกิจกรรมที่มุ่งเน้น และอยู่ในกรอบของคำว่า "ค่ายสันติภาพ: ปันน้ำใจ ฟื้นฟูภัยน้ำท่วม" จะสามารถทำให้หมู่บ้านแห่งนี้พัฒนาไปสู่การเป็น "สันติคาม" (Peace Village) ในอนาคตอันใกล้บนฐานของความร่วมแรงร่วมใจของชุมชนที่ประกอบด้วยบ้าน วัด โรงเรียน และวิศวกรสันติภาพ เรามุ่งหวังที่จะทำให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนต้นแบบในการพัฒนา "หมู่บ้านสันติ" หรือ "สันติคาม" เพื่อความสุข สงบเย็นของชีวิต และสังคม สอดรับกับแนวทางของโครงการสันติศึกษาที่ว่า "สันติศึกษา พัฒนาชีวิตและสังคม อุดมสันติ" ต่อไป

              กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ รุ่นที่ 1 ส่วนรุ่นที่ 2 กำลังเปิดรับตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มีนาคม 2557 ท่านที่สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 080 279 4184, 035 248 098 หรือเว็บไซต์ www.ps.mcu.ac.th