พระเครื่อง

พระสมณทูตผู้นำพระพุทธศาสนาสู่'สุวรรณภูมิ'

พระสมณทูตผู้นำพระพุทธศาสนาสู่'สุวรรณภูมิ'

08 พ.ย. 2556

พระโสณะพระอุตตระพระสมณทูตผู้นำพระพุทธศาสนาสู่'สุวรรณภูมิ' : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

             "องค์พระปฐมเจดีย์" วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม สันนิษฐานกันว่าได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวที่พระสมณทูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

             เนื่องจากเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะทรงบาตรคว่ำแบบเดียวกับสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นในกรุงอนุราชบุรี เกาะสิงหลทวีป ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ หลังจากทรงลาผนวชและได้เสวยราชสมบัติแล้ว โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร และพระราชทานนามพระสถูปเจดีย์ว่า “พระปฐมเจดีย์” เพราะทรงเชื่อมั่นว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ

             เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีในกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะและพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้

             พระโสณะและพระอุตตระได้เดินทางจากแคว้นมคธ เข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนกลางของไทยในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น

             พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่า ศิลปะทวารวดี

             พระโสณะและพระอุตตระเป็นชาวอินเดีย  มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่ปรากฏประวัติก่อนบวช ปรากฏแต่ว่า  เมื่อท่านทั้งสองอุปสมบทแล้วเป็นผู้มีความแตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นกำลังสำคัญในการสังคายนาพระธรรมวินัย และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยท่านทั้งสองได้รับมอบหมายให้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

             เมื่อครั้งที่พระโสณะและพระอุตตระเดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยนั้น ประชาชนกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวผีเสื้อสมุทรซึ่งมักจับทารกกินเป็นอาหาร ท่านทั้งสองได้สร้างขวัญกำลังใจ ทำให้ประชาชนหายหวาดกลัวโดยใช้อุบายธรรมนำ "พรหมชาลสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความเห็นผิดมาเทศนา และได้เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ รวมทั้งสมาทานศีล ๕ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อที่ถูกต้องและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนพากุลบุตรและกุลธิดามาบวช ทำให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนสุวรรณภูมิ และเจริญสืบเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

             พระโสณะและพระอุตตระ แม้จะเกิดไม่ทันสมัยพุทธกาล แต่เมื่ออุปสมบทแล้ว  ท่านทั้งสองได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมและศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มีความรู้ ความสามารถ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน แม้ว่า เดินทางจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิซึ่งไกลและใช้เวลามาก ย่อมประสบกับความลำบากมากมาย แต่ท่านทั้งสองก็ไม่ย่อท้อ ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จึงอดทนต่อสู้ต่อความเหนื่อยยาก


พระพุทธรูปปางทรงรับผลมะม่วง


             พระศรีวิสุทธิวงศ์ บอกว่า ความพิเศษของพระพุทธรูปรอบๆ องค์พระปฐมเจดีย์ คือ มีพระพุทธรูปครบทุกปาง ส่วนปางพระพุทธปางหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนไม่คุ้นตา เช่น ปางทรงรับผลมะม่วง เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาถือผลมะม่วง หงายหลังพระหัตถ์ไว้บนพระชานุ (เข่า)

             ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่ที่พระเพลา (ตัก) บางแบบประสานพระหัตถ์วางที่พระเพลา พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท

             พระพุทธรูปปางทรงรับผลมะม่วง สร้างตามพุทธประวัติเมื่อครั้งเศรษฐีผู้หนึ่งในเมืองราชคฤห์ นำบาตรไม้จันทร์แดงไปแขวนไว้สูง ๖๐ ศอก พร้อมประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์มีจริง ขอให้แสดงฤทธิ์เหาะมาเอาบาตรนี้ไปเถิด หากพ้น 7 วัน แล้วไม่มีผู้ใดกระทำได้ ตนจะถือว่ามิได้มีพระอรหันต์ในโลก พระปิณโฑลภารทวาชะได้เหาะไปนำบาตรมา มหาชนทั้งหลายอยากชมปาฏิหาริย์ จึงติดตามมาจนถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ จึงตรัสตำหนิพร้อมมีคำสั่งห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์

             พวกเดียรถีย์ประกาศว่าพวกตนจะแสดงปาฏิหาริย์ แข่งกับพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศว่า จะทรงแสดงพระปาฏิหาริย์ ณ คัณฑามพฤกษ์ (ต้นมะม่วง) ณ กรุงสาวัตถี พวกเดียรถีย์ จ้างพวกนักเลงโค่นต้นมะม่วงจนหมดสิ้น เว้นแต่ที่ปลูกอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อ คัณฑะ ได้ถวายผลมะม่วงสุกผลหนึ่งแด่พระพุทธองค์ พระอานนท์ได้นำมะม่วงผลนั้นทำน้ำปานะถวาย


งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ปี ๒๕๕๖


             "เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์" หรือชาวบ้านเรียกว่า "กลางเดือนสิบสอง" และ "งานองค์พระ" เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน โดยในปี ๒๕๕๖ นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๒๒ พฤศจิกายน ทั้งนี้วัดเปิดให้การเปิดร้านขายของล่วงหน้า ๗ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ อีก ๗ วัน

             พระศรีวิสุทธิวงศ์ (พระมหาสุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู) เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๕ ฝ่ายมหานิกาย และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารบอกว่า งานองค์พระมิใช่เพียงแค่งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อย่างเดียว หากเป็นงานนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหารต่างๆ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐมพระพุทธรูปคันธราษฎร์ พระนอน พระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทุกปาง โดยเฉาะก่อนงาน ๕ วัน เป็นงานวันพระร่วงโรจนฤทธิ์

             นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ มี ๒ วัน คือ วันแรกลอยกระทง คือ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระปฐมเจดีย์ ส่วนวันสุดท้ายจะห่มรอบฐานองค์พระปฐมเจดีย์ ในคืนวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น.