
พระสมเด็จบางขุนพรหมปี๐๙
พระสมเด็จบางขุนพรหมปี๐๙ : พระองค์ครู เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
การจัดสร้างพระสมเด็จบางขุนพรหม วัดใหม่อมตรส หรือวัดบางขุนพรหมใต้ พ.ศ.๒๕๐๙ ได้มีการจัดสร้างและเตรียมการมาก่อน คือเริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนตุลาคม มาแล้วเสร็จเอาเมื่อประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ทำพิธีการสร้างตำผง และกดพิมพ์พระกันภายในพระอุโบสถ โดยหลวงพ่อชม เป็นผู้กดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นคณะกรรมการต่างๆ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา ต่างร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำจนสำเร็จ
เมื่อกดพิมพ์พระไปสักระยะแม่พิมพ์จะเริ่มชำรุดเสียหาย เนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์ในครั้งนั้นชำรุดแตกหักได้ง่าย เช่น ปูนพาสเตอร์ ซีเมนต์ขาว ยางทำฟัน เป็นต้น ต้องถอดพิมพ์มาทำบล็อกใหม่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไปจนกว่าจะได้จำนวนพระตามต้องการ เฉพาะพระพิมพ์ใหญ่เพียงพิมพ์เดียว มีแม่พิมพ์ถึง ๒๗ บล็อก ส่วนพิมพ์เกศทะลุซุ้มนั้น แรกๆ ก็เป็นพิมพ์ใหญ่แบบธรรมดา ต่อมาตรงซุ้มเกิดการกะเทาะจึงได้แต่งเพิ่มมาใหม่กลายเป็นพิมพ์เกศทะลุซุ้ม เป็นพิมพ์ใหม่อีกพิมพ์ไปเลยอย่างนี้ เป็นต้น
พระพิมพ์ต่างๆ ในชุดปี ๐๙ ประกอบด้วยพิมพ์พระต่างๆรวมแล้ว ๑๒ พิมพ์คือ ๑.พิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์พระประธาน ๒. พิมพ์เส้นด้าย ๓.พิมพ์ทรงเจดีย์ ๔.พิมพ์เกศบัวตูม ๕.พิมพ์สังฆาฏิ ๖.พิมพ์ปรกโพธิ์ ๗.พิมพ์ฐานคู่ ๘.พิมพ์ฐานแซม ๙. พิมพ์อกครุฑ ๑๐.พิมพ์ไสยาสน์ ๑๑.พิมพ์คะแนน ๑๒.พิมพ์จันทร์ลอย
โดยได้ช่างผู้แกะบล็อกแม่พิมพ์ทั้ง ๑๒ พิมพ์ ๔ ฝีมือช่าง คือ ๑.ลุงแฉล้ม บัวเปลี่ยน ๒.ช่างมานิตย์ ปฐพี ๓.ช่างเกษม มงคลเจริญ ๔.บล็อกกรรมการ คือผู้ที่มีจิตศรัทธาได้เข้ามาช่วยในการสร้างจึงนำพระบางขุนพรหมมาถอดเป็นแม่พิมพ์ ซึ่งแบบคล้ายของเดิมแต่จะเล็กกว่าเล็กน้อย
การสร้างในครั้งนี้ได้มีการแบ่งพระออกเป็น ๒ ประเภทคือ ๑.ประเภทบูชาเพื่อนำไปบรรจุกรุในพระเจดีย์ โดยให้ผู้มีจิตศรัทธาทำบุญองค์ละ ๑ บาท จำนวนรวมกันทั้งหมดทุกพิมพ์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ด้านหลังองค์พระปั๊มคำว่า “บรรจุ”
๒.ประเภทให้บูชาติดตัวกลับบ้าน โดยให้ผู้มีจิตศรัทธาทำบุญองค์ละ ๑๐ บาท ยกเว้นพิมพ์ไสยาสน์ ทำบุญองค์ละ ๒๕ บาท รวมไปถึงทำบุญเป็นกล่องชุด ๑๑ พิมพ์ (ยกเว้นพิมพ์ไสยาสน์) ทำบุญุชุดละ ๑๐๐ บาท ด้านหลังองค์พระปั๊มตราสัญลักษณ์ “เจดีย์” จำนวนการสร้างพระในประเภทนี้มีทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ องค์ แต่ภายหลังมีพระที่ชำรุดแตกหักไม่สมบูรณ์จึงเหลือเพียงประมาณ ๗๒,๕๑๘ องค์ เนื้อหามวลสารหลักของพระขุนพรหม ปี ๒๕๐๙ ชุดนี้คือ ชิ้นส่วนพระชำรุดแตกหักที่ได้จากการเปิดกรุของวัดเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ผงพุทธคุณจากพระคณาจารย์ รวมไปถึงปูนขาว ปูนเปลือกหอย นำมันตัวอิ๊ว น้ำผึ้ง เกสรดอกบัวหลวง ดอกพิกุล และสิ่งมงคลต่างๆ มาเป็นส่วนผสม
ในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก มีพระเกจิชื่อดังแห่งยุคมานั่งปรกหลายรูป เช่น ๑.พระเทพสิทธินายก (หลวงปู่นาค) วัดระฆังโฆสิตาราม กทม. ๒.พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม นครปฐม ๓.หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม นครปฐม ๔.พระครูวิสัยโสภณ (พระอาจารย์ทิม) วัดช้างให้ ปัตตานี และ ๕.พระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาส กทม. เป็นต้น