'โบสถ์ อุโบสถ พระอุโบสถ'
'โบสถ์ อุโบสถ พระอุโบสถ' : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
สถาปัตยกรรมที่ใช้สร้างโบสถ์ ส่วนใหญ่หลังคาสูงแบบบ้านเรือนไทย นิยมสร้างบ้านชั้นเดียวติดกับพื้นยกพื้นสูงขึ้น วิหาร หมายถึง อาคารที่สร้างขึ้นโดยมีหลังคา ๒ ปีก หรือหลังคาที่ลาดลงไป ๒ ข้างอีกนัยหนึ่งคือหลังคาที่มีสันหลังคาหรืออกไก่ หรือหลังคาที่มียอดแหลม อย่างทรงพีระมิดก็ได้ หลังคานี้อาจจะเป็น "หลังคาทรงมลิลา" โดยมีหน้าจั่วหัวท้ายหลังคาก็ได้ หรือจะไม่มีหน้าจั่วแต่เป็นทรงปั้นหยาก็ได้ หรืออาจจะผสมกันทั้ง ๒ แบบก็ได้
อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัดเนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง "สีมา" เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายในพระอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก พระอุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม
ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายคำว่า "โบสถ์" ไว้ว่า เป็นคำเรียกสถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่นสวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา
โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือโรงอุโบสถ ถ้าเป็นของพระอารามหลวงเรียกว่า พระอุโบสถ บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือสิม
โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา
ก่อนที่จะมาเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยจะต้องมีสังฆกรรมที่เรียกว่าผูกสีมา หรือผูกพัทธสีมาก่อน
ส่วนคำว่า "พัทธสีมา" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมของสงฆ์ เป็นเขตชุมนุมสงฆ์โดยเฉพาะ ซึ่งพระสงฆ์กำหนดว่าผู้อยู่ในเขตนั้นจะต้องร่วมกันทำสังฆกรรมโดยความพร้อมเพรียงกัน
พัทธสีมา หมายถึงสีมา หรือเขตแดนที่พระสงฆ์ผูกไว้แล้ว คือพระสงฆ์ร่วมกันกำหนดให้เป็นเขตทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกพิธีกรรมที่กำหนดอย่างนั้นว่า ผูกสีมา โดยทั่วไปเรียกพัทธสีมาว่า โบสถ์ หรืออุโบสถ
เขตหรือแดนที่จะผูกเป็นพัทธสีมานั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน เพราะต้องเป็นเขตแยกต่างหากจากเขตแดนบ้าน ซึ่งเรียกว่า วิสุงคามสีมา