
นิโรธ-นิโรธสมาบัติ
นิโรธ-นิโรธสมาบัติ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
"การปฏิบัติเข้า-ออกนิโรธกรรม" ประจำปีของพระครูสิริศีลสังวร หรือครูบาน้อย เตชปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล จ.เชียงใหม่ เป็นแบบเฉพาะที่ผสมผสานกับธุดงควัตร หมายถึง นิโรธกรรมสมมติสงฆ์ ดำเนินตามรอยของท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา อันเป็นกุศโลบายเฉพาะ มุ่งขัดเกลากิเลสให้บางเบาลงไปเป็นครั้งเป็นคราว
ครูบาน้อย เข้านิโรธกรรม ปีที่ ๑ พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา โดยใน พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ จะเป็นที่ ๒๑ ท่านจะเข้านิโรธกรรม ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
คำว่า "นิโรธ" (อ่านว่า นิ-โรด) พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายไว้ว่า ความดับ (ทุกข์) คือ ความสำรอกออก สลัดทิ้ง ปลดปล่อย ไม่มีเยื่อใยสมุทัยอันเป็นบ่อเกิดทุกข์ได้สิ้นเชิง
นิโรธ หมายถึง การทำลายสมุทัย และดับสมุทัย คือ ตัวตัณหาให้สิ้นไปจนไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกเหมือนไฟสิ้นเชื้อ ด้วยอำนาจจากการดำเนินตามมรรคจนได้บรรลุมรรคญาณนั้นๆ
นิโรธ จัดเป็นอริยสัจอันดับ ๓ ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
นิโรธ โดยสภาวะก็คือ พระนิพพานนั่นเอง
นิโรธ ๕ หมายถึง ความดับกิเลส ภาวะไร้กิเลสและไม่มีทุกข์เกิดขึ้นนิโรธเป็นธรรมะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นิโรธ มี ๕ ประการ โดยมีชื่อเรียกอย่างอื่นอีก เช่น
๑.วิกขัมภนนิโรธ ดับด้วยข่มไว้ คือ การดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌานขึ้นไป ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น
๒.ตทังคนิโรธ ดับด้วยองค์นั้นๆ คือ ดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฐิด้วยความรู้ที่กำหนดแยกรูปนามออกได้ เป็นการดับชั่วคราวในกรณีนั้นๆ
๓.สมุจเฉทนิโรธ ดับด้วยตัดขาด คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นเด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อ สมุจเฉทนิโรธ
๔.ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับด้วยสงบระงับ คือ อาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ
๕.นิสสรณนิโรธ ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป คือ ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่ดับกิเลสแล้วนั้น ยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อนิสสรณนิโรธ ได้แก่อมตธาตุ คือ นิพพาน
ส่วนคำว่า "นิโรธสมาบัติ" (อ่านว่า นิ-โรด-สะ-มา-บัด) เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า การเข้านิโรธ การเข้าถึงความดับ
นิโรธสมาบัติ หมายถึง การเข้าถึงความดับสัญญา (ความจำ) และเวทนา (ความรับอารมณ์) ทั้งหมด ซึ่งสามารถดับได้ถึง ๗ วัน เรียกว่า เข้านิโรธสมาบัติ เรียกย่อว่า เข้านิโรธ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
นิโรธสมาบัติ ต้องเป็นพระอรหันต์ และพระอนาคามีผู้ได้สมาบัติ ๘ จึงจะสามารถเข้าได้
ถือกันว่าผู้ได้ถวายอาหารแด่พระสงฆ์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติมื้อแรกจะไรบอานิสงส์ทันตา ทั้งนี้เพราะเป็นอาหารมื้อสำคัญหลังจากท่านอดมานานถึง ๗ วัน ร่างกายจึงต้องการอาหารมากเป็นพิเศษ