พระเครื่อง

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม๕๔ล้านบาท!

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม๕๔ล้านบาท!

10 ก.พ. 2557

พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม ใครอยากได้ไว้ครอบครองต้องแลกด้วยเงินสูงถึง ๕๔ ล้านบาท! : พระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู

             "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม" เป็นพระที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นผู้สร้างขึ้น กล่าวกันว่าท่านเริ่มสร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๙ ภายหลังจากโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระสมเด็จพุฒาจารย์ จึงเรียกขานพระเครื่องที่สร้างขึ้นว่า "พระสมเด็จ" และได้สร้างเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๔๑๕ โดยได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติโยมที่มาเยี่ยมเยียน และเมื่อครั้งออกบิณฑบาตในตอนเช้า ครั้นหมดก็สร้างใหม่ ปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร ผู้แกะพิมพ์ถวาย คือ หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองในราชสำนัก
 
               พระสมเด็จวัดระฆัง มีหลายพิมพ์ด้วยกัน แต่ที่นิยมได้แก่ พิมพ์พระประธาน พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์ปรกโพธิ์ โดยเฉพาะพิมพ์พระประธาน หรือพิมพ์ใหญ่เป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในบรรดาพิมพ์พระทั้ง ๕ พิมพ์

               พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม เป็นพระพิมพ์ของวัดระฆังที่พบจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาพระพิมพ์ทั้งหมด ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ พระพักตร์กลมป้อม พระเกศเป็นมุ่นมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม (เป็นที่มาของชื่อพิมพ์) อยู่เหนือพระเศียร และพุทธศิลปะจะแลดูสง่างาม ล่ำสัน ไม่อ่อนช้อยนัก ต่างจากพิมพ์อื่นตรงที่ปลายพระเกศไม่จรดเส้นซุ้ม องค์พระเป็นล่ำสัน มองเห็นเส้นสังคาฏิชัดเจน

               "พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม" จะไปละม้ายคล้ายกับ "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม" แล้ว ยังไปคล้ายกับ "พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ" อีกด้วย หรือที่คนโบราณมักนิยมเรียก "พิมพ์ฏิ-ตูม" คือ พิมพ์สังฆาฏิบวกกับพิมพ์เกศบัวตูมนั่นเอง
 
               ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่ม ๑ เรื่อง พระสมเด็จ พ.อ.ผจญ กิตติประวัติ หรือ อ.ตรียัมปวาย ผู้ขนานนาม "พระเครื่องชุดเบญจภาคี" ได้เขียนถึงขนาดของพระสมเด็จว่า “เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขนาดพระสมเด็จเป็นมาตรฐาน เพราะพระสมเด็จนั้นถูกสร้างด้วยพิมพ์หลายพิมพ์ ซึ่งแต่ละพิมพ์ก็มีขนาดแตกต่างออกไปบ้าง ขณะเดียวกันส่วนผสมของเนื้อไม่ได้เกณฑ์มาตรฐาน บางชนิดเวลาผ่านไปเนื้ออาจจะฟูขึ้น บางชนิดกลับหดตัวลง รวมทั้งการตัดพิมพ์บางคนก็ตัดชิด บางคนก็เหลือปีกไว้มาก ส่วนขนาดความหนาก็เอาความแน่นอนไม่ได้บางคนมือหนักบางคนมือเบา
 
               ทั้งนี้ อ.ตรียัมปวาย ได้วัดนาดของพระไว้ทุกพิมพ์เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงใหญ่ กว้าง ๒.๓๐ ซม. ยาว ๓.๓๕ ซม. หนา ๐.๔๐-๐.๖๕ ชม. พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงใหญ่ กว้าง ๒.๓๐ ซม. ยาว ๓.๓๕ ซม. หนา ๐.๔๐-๐.๗๐ ชม. พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ กว้าง ๒.๒๐ ซม. ยาว ๓.๔๐ ซม. หนา ๐.๔๐-๐.๖๕ ชม. พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ทรงเจดีย์ กว้าง ๒.๒๐ ซม. ยาว ๓.๔๐ ซม. หนา ๐.๔๐-๐.๖๕ ชม.

               สำหรับภาพพระองค์ครูฉบับนี้เป็น "พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม" ที่ติดโชว์ให้ชมบารมีไว้ในศูนย์พระเครื่อง ๙๙๙ พุทธรัตนะ ซึ่งเปิดร้านอยู่ตรงข้ามกับวัดดอนเมือง หากใครอยากได้เป็นเจ้าของครอบครองแต่เพียงผู้เดียว ว่ากันว่าอาจจะต้องแลกด้วยเงินสูงถึง ๕๔ ล้านบาท!