พระเครื่อง

'สีของจีวร'สีที่มิใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา

'สีของจีวร'สีที่มิใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา

25 ก.พ. 2557

'สีของจีวร'สีที่มิใช่แก่นแท้ของพุทธศาสนา : รูป/เรื่อง โดยไตรเทพ ไกรงู

               ประกาศคณะสงฆ์คณะธรรมยุต เรื่องการครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม โดยให้พระสงฆ์คณะธรรมยุตเปลี่ยนสีจีวรจาก “สีกรัก” เป็น “สีพระราชนิยม” ของสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต เกือบจะกลายเป็น "ศึกแห่งสีของจีวรระหว่างพระสายป่ากับพระเมือง" ในที่สุดก็ต้องยอมถ่อยแบบไม่เป็นท่า โดยพระป่านั้นยังให้ครองจีวรเช่นเดิมตามแนวปฏิบัติของครูบาอาจารย์ แม้ว่าจะรับกิจนิมนต์เข้ามาในเมืองก็ไม่ต้องเปลี่ยนจีวรเป็นสีพระราชนิยม นอกจากจะได้รับกิจนิมนต์เข้าร่วมในงานพระราชพิธี
 
               "สีของจีวรและรูปแบบการห่ม" ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวงการสงฆ์ มักจะไม่ทราบว่าเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวมิใช่น้อยเลย ข้อถกเถียงเรื่องสีและวิธีการห่มจีวรนั้นไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่มีกันมานานแล้ว และก็จะมีต่อไป การศึกษาเรื่องจีวรของพระภิกษุนั้น ย่อมทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ที่แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชียได้เป็นอย่างดี

               พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) หรือพระมหาไสว ป.ธ.๖ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มจร. บอกว่าเรื่องจีวรของพระภิกษุ จึงยังมีช่องว่างที่ทำให้ตีความได้หลายประเด็นอย่างวิธีการห่มจีวรของพระภิกษุในปัจจุบันที่เราพบเห็นกันในประเทศไทย พม่า รวมถึงศรีลังกา ต่างก็ถือว่าถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น สีจีวรที่ออกเหลืองหม่น หรือสีเหลืองทอง ต่างก็มีปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก

               โดยเฉพาะในหมู่นักบวช ซึ่งถือวินัยการห่มจีวรว่าเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของความบริสุทธิ์ของนิกายที่ตนนับถือหรือบวชอยู่ แม้พระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ๆ แต่ก็เชื่อว่าสีคงจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดแน่นอน คงจะมีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตสีที่ใช้ย้อมจีวรผ้ากาสายะ และสีใกล้เคียงอีกหลายชนิดหรืออาจมองได้อีกประการหนึ่งว่า ทรงมีพุทธวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้เนื่องจากไม่ใช่แก่นของพระพุทธศาสนา ซึ่งมุ่งกำจัดความทุกข์ทางใจ

               พระมหาไสว ยังบอกว่า ในพระวินัยปิฎก เมื่อกล่าวถึงการห่มจีวรของภิกษุก็ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดมากนัก มีคำกล่าวไว้อย่างง่ายว่า พระพุทธองค์ทรงนุ่งสบง ทรงจีวร ซ้อนสังฆาฏิ เข้าสู่ละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาต กฎเกณฑ์ในเรื่องจีวรของพระภิกษุ จึงยังมีช่องว่างที่ทำให้ตีความได้หลายประเด็นอย่างวิธีการห่มจีวรของพระภิกษุในปัจจุบันที่เราพบเห็นกันในประเทศไทย พม่า รวมถึงศรีลังกา ต่างก็ถือว่าถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น สีจีวรที่ออกเหลืองหม่น หรือสีเหลืองทอง ต่างก็มีปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎก

               สีของจีวร หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงสีของจีวรของนักบวชนั้น มีบัญญัติในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงจีวรของนักบวชที่เรียกว่า สันยาสิน ซึ่งสวมใส่จีวรสี “เปลวเพลิง” มีอาศรมอยู่บริเวณชายป่า หรือการห่มผ้าสีเหลืองส้มของพระทางสายลังกาวงศ์ ซึ่งในปัจจุบันนิยมเรียกกันในเมืองไทยว่า “พระมหานิกาย” นั้นก็สามารถเทียบเคียงได้กับที่บรรยายในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์นี้ แม้ในปัจจุบันนักบวชหรือนักพรตฮินดูนิกายต่างๆ ก็ยังนิยมนุ่งห่มจีวรสีเดียวกันนี้อยู่

               "การที่จะยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงใช้จีวรสีใดย่อมเป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนได้ เป็นปัญหาหนึ่งที่เป็นที่สนใจของชาวพุทธอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เนื่องจากไม่เคยมีใครได้พบเห็นพระพุทธองค์ด้วยตัวเอง แต่สามารถประเมินได้จากหลักฐานพระคัมภีร์ในหลายแห่งที่พอเปรียบเทียบได้ คือ ๑.พระผู้มีพระภาคเจ้า (พระพุทธเจ้า) ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งมีสีดุจทอง ออกจากระหว่างบังสุกุลจีวรอันมีสีแดง ๒. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนุ่งผ้าสองชั้นที่ย้อมดีแล้ว ทรงห่มจีวรมหาบังสุกุล ได้ขนาดสุตตประมาณ ปานผ้ารัตตกัมพล (ผ้าสีแดง) ๓.พระผู้มีพระภาค ทรงห่มบังสุกุลจีวรอันประเสริฐสีแดงมีสีคล้ายสียอดอ่อนของต้นไทร" พระมหาไสว กล่าว


สีแห่งความปลอดภัย


               ลักษณะการห่มจีวรนั้น พระมหาไสวบอกว่ามีหลักฐานเป็นวัตถุธรรมที่เก่าแก่ที่สุด ที่นักโบราณคดีค้นพบในวัดทางตอนเหนือของอินเดีย เป็นภาพพระภิกษุกำลังยืนแต่นุ่งเฉพาะผ้าสบง กายท่อนบนมิได้ห่มผ้าใดๆ อยู่ด้วย พระภิกษุอินเดียในยุคแรกจึงไม่น่าจะสวมผ้าอังสะในขณะที่ตนเองอยู่ในวัด ส่วนการครองจีวรท่อนบนนั้นคงห่มเฉพาะตอนที่ตนเดินทางออกจากวัดเข้าไปในเขตหมู่บ้าน

               นอกจากนี้แล้วรูปปั้นและหินสลักของศิลปะคันธาระ แสดงให้เห็นถึงวิธีการห่มที่คล้ายการห่มของพระลังกาวงศ์โดยห่มปิดไหล่ทั้งสองข้างเช่นกัน และยังมีภาพหินสลักที่พบในปากีสถานอันอยู่ในเส้นทางที่มีชื่อเรียกว่า “กะราโกรัม” ว่าพระภิกษุห่มผ้าที่ยาวคล้ายทรงกระบอกไม่มีรอยแหวกด้านข้าง คล้ายกับที่พระลังกาวงศ์หรือมหานิกายสวมใส่เวลาครองผ้าออกนอกวัด วิธีการห่มจีวรของพระมหานิกายของไทยนั้นอาจมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานิกายที่เผยแพร่ในตอนเหนือของอินเดียหรือแคชเมียร์ในยุคเมื่อประมาณ ๒,๒๐๐ ปี มาแล้ว

               เมื่อพระพุทธศาสนาจากอินเดียเผยแผ่เข้าไปในจีน เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องสีของจีวรเนื่องจากสีเหลืองนั้นเป็นสีของฮ่องเต้ประชาชนธรรมดาไม่มีสิทธิ์สวมใส่ ใครสวมใส่ชุดสีเหลืองต้องได้รับโทษ ผลคือพระจีนต้องเปลี่ยนสีจีวรเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ โดยมีจีวรสำหรับเณรเป็นสีดำ และอากาศที่หนาวเย็นทำให้พระจีนต้องปรับตัวมีชุดกันหนาวข้างใน และใส่รองเท้าให้มิดชิด

               ในทิเบตก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันในเรื่องของชุดกันหนาว ซึ่งพระลามะสวมเสื้อกั๊กกันหนาวข้างใน หมวกและผ้าจีวรก็เป็นผ้าที่หนาทำจากขนสัตว์ และสีจีวรก็เปลี่ยนแปลงเป็นสีแดงปนม่วง สีนี้นิยมใส่กันมากในหมู่ชนเผ่าทั้งหลายที่อยู่ในที่ราบสูง เนื่องจากจะตัดกับสีของท้องฟ้าเป็นอย่างดีทำให้เห็นได้แต่ไกล และเป็นสีแห่งความปลอดภัยในพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย
 
               ภิกษุของมองโกเลียนั้นได้รับอิทธิพลจากทิเบต ส่วนที่เกาหลีและญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาในประเทศจีน สีจีวรจึงคล้ายกัน แต่ในญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการเรื่องจีวรอย่างมากโดยเฉพาะในนิกายชิงกง หรือวัชรยานของญี่ปุ่นซึ่งนำมาทอและวาดเป็นลวดลายวิจิตรพิสดารยิ่ง แต่ก็ยังคงลักษณะที่เป็นรูปคันนาเป็นตารางสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่น้อยให้สังเกตได้

               สำหรับการห่มจีวรที่ยุ่งยากที่สุดซับซ้อนและหลากหลายที่สุดนั้น มหาไสว บอกว่า ต้องยกให้พระในนิกายมหายาน เพราะพระลามะใส่จีวรที่มีสีแดงสด น่าดูที่สุด ส่วนการจะแยกว่าใครอยู่นิกายไหนนั้น ให้ดูที่สีผ้าอังสะ เช่นสีเหลืองนิกายเกลุก สีแสดนิกายศากยะ เป็นต้น


แจกฟรี! เหรียญสามบุรพาจารย์หลวงปู่คำบุ


               "สนามบินน้ำมาร์เก็ต พาร์ค โปรเจกต์" ตั้งอยู่บริเวณตรงสามแยกสนามบินน้ำเลี่ยงเมืองนนทบุรี บริหารงานโดย “คุณบงกชรัตน์ ขจรประศาสน์” หรือ "คุณออม" ลูกสาวคนโตของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเรียกตลาดแห่งนี่ว่า "ตลาดเสธ.นั่น" พื้นที่รวมทั้งหมด ๑๖ ไร่ เป็นตลาดใหม่ที่สะอาดสะอ้านดี มีที่จอดรถสะดวกสบาย

               ด้วยทำเลและที่ตั้งไม่ไกลจากพันธุ์ทิพย์พลาซ่า งามวงศ์วาน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของตลาดพระเครื่อง นายเสมอ งิ้วงาม สุดยอดแฟนพันธุ์แท้พระเครื่องและอุปนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยคนที่ ๓ จึงได้ขยายสาขาของร้านจากพันธุ์ทิพย์พลาซ่า มาเปิดศูนย์พระเครื่อง “สยามรวมใจ” ณ ตลาดเสธ.หนั่น โดยในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ นี้ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ชัยมงคลคาถา พร้อมจัดถวายภัตตาหารเพลเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เพื่อนสมาชิก

               อย่างไรก็ตามในวันดังกล่าว "ร้านโอมพระดี ดอทคอม" ซึ่งภายในศูนย์พระเครื่องสยามรวมใจได้นำเหรียญสามบุรพาจารย์หลวงปู่คำบุ คุตฺตจิตฺโต เหรียญนี้หลวงปู่คำบุ อธิษฐานจิตปลุกเสกเมื่อครั้งเททองหล่อพระกริ่งที่วัดศรีสุดาฯ ย่านบางขุนนนท์ ตลิ่งชัน กทม. เมื่อ พ.ศ.๒๕๓ มาแจกฟรีสำหรับผู้ไปร่วมงาน ทำบุญฉลองเปิดศูนย์พระเครื่อง “สยามรวมใจ” โดยขอรับได้ตั้งแต่เวลา ๑๒.๐๐ น.เป็นต้นไปจนกว่าของจะหมด สอบถามรายระเอียดได้ที่ โทร.๐๘-๖๘๔๕-๘๑๓๑