พระเครื่อง

พระกริ่งอะระหัง'หลวงปู่แหวน'สุดยอดพระกริ่งแดนล้านนา

พระกริ่งอะระหัง'หลวงปู่แหวน'สุดยอดพระกริ่งแดนล้านนา

27 ก.พ. 2557

พระกริ่งอะระหัง'หลวงปู่แหวน'สุดยอดพระกริ่งแดนล้านนา ปี ๒๕๑๗ : พระคณาจารย์ล้านนา โดยไก่ สวนดอก

               หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระกรรมฐานศิษย์สาย "พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต" พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐาน (พระป่า-อรัญวาสี) แห่งภาคอีสาน
    
               หลวงปู่แหวน เดิมชื่อ "ญาณ" หรือ "ยาน รามศิริ" เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๓๐ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน ณ บ้านหนองบอน  ต.หนองใน (ปัจจุบันคือ ต.นาโป่ง) อ.เมือง จ.เลย
    
               ท่านเกิดในตระกูล ช่างตีเหล็ก เป็นบุตรคนที่ ๒ (คนสุดท้อง) โยมพ่อชื่อ "ใส" (สาย) โยมมารดาชื่อ "แก้ว" มีพี่สาวร่วมท้องเดียวกัน ๑ คน
    
               หลวงปู่ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ ขณะมีอายุ ๙ ปี ที่วัดโพธิ์ชัย ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย โดยมี พระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระอาจารย์อ้วน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระพี่เลี้ยง
    
               ต่อมาท่านได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่หลายปีที่สำนักวัดสร้างถ่อ อ.หัวสะพาน จ.อุบลราชธานี จนอายุครบบวชพระ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกายที่ วัดสร้างถ่อนอก โดยมี พระอาจารย์แว่น เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๕๑
    
               ต่อมาโยมอุปัฏฐาก ได้บอกว่า พระอาจารย์จวง วัดธาตุเทิง อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ได้ไปกราบ "ญาคูมั่น" เพิ่งกลับมา ท่านจึงได้ไปนมัสการพระอาจารย์จวง เพื่อขอทราบที่อยู่ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยความรู้สึกศรัทธาในกิตติศัพท์แห่งความรู้ ความเก่งกล้าสามารถของ พระอาจารย์มั่น ยิ่งนัก...จนได้พบกับ พระอาจารย์มั่น ตามความตั้งใจ
    
               คำแรกที่ พระอาจารย์มั่น สั่งสอน คือ  "ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมา ให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน" ทำให้ท่านรู้สึกยินดีมากเพราะได้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจ
    
               ประมาณ พ.ศ.๒๔๖๔ ท่านได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาธรรมกับ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส ซึ่ง พระอาจารย์มั่น ยกย่องอยู่เสมอว่า เชี่ยวชาญทั้งทางการเทศน์ และการปฏิบัติธรรม ท่านได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระอุปาลีคุณูปมาจารย์ ด้วยดีตลอดมา
    
               ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ ท่านเจ้าคุณเห็นว่า หลวงปู่แหวน เป็นผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มีความวิริยะอุตสาหะ ปรารภความเพียรสม่ำเสมอ ไม่ท้อถอย มีข้อวัตรปฏิบัติดี มีอัธยาศัยไมตรีสม่ำเสมอ ไม่ขึ้นลง คุ้นเคยกันมานาน เห็นสมควรจะได้ญัตติใหม่ จากพระสายมหานิกาย เป็นพระธรรมยุติกนิกาย หลวงปู่แหวนจึงตัดสินเปลี่ยนญัตติ (บวชใหม่) ณ พัทธสีมา วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ โดยมี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระนพีสิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    
               ต่อมา หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิกร่วมธุดงค์ด้วยกัน ก็ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเหมือนกัน
    
               ในระหว่างที่จาริกแสวงหาวิเวกอยู่ทางภาคเหนือ ท่านได้พบกับ หลวงปู่ขาว อนาลโย โดยได้แยกย้ายกันจำพรรษาตามป่าเขา พอออกพรรษา พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์พร สุมโน ได้มาสมทบที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ขณะนั้น พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี พระอาจารย์อ่อน ญาณสิร ได้มาร่วมสมทบด้วย
    
               เมื่อทุกท่านได้รับโอวาทจาก หลวงปู่มั่น แล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป หลวงปู่แหวนพร้อมหลวงปู่ขาว พระอาจารย์พร ไปที่ดอนมะโน (ดอยน้ำมัว) ส่วน พระอาจารย์มั่น อยู่ที่กุฏิชั่วคราว ที่ชาวบ้านสร้างถวาย ที่ป่าเมี่ยงขุนปั๋ง นั่นเอง
    
               พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดบ้านปง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เกิดอาพาธแผลที่ขาอักเสบ ทรมานมาก ท่านจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว ชาวบ้านไม่เอาใจใส่
    
               ต่อมาเมื่อ พระอาจารย์หนู สุจิตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ทราบข่าว จึงพาหมอมาจี้ และทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องฉีดยาชา ใช้มีดผ่าตัดเพียงเล่มเดียว หลวงปู่มีความอดทนมาก ให้ทำจนสำเร็จ และหายได้ในที่สุด อีกหลายปีต่อมา พระอาจารย์หนู เห็นว่า หลวงปู่ชราภาพมากแล้ว ไม่มีผู้อุปัฏฐาก จึงชักชวนญาติโยมไปนิมนต์ให้ท่านมาจำพรรษาที่วัดดอยแม่ปั๋ง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นต้นมา ในฐานะพระผู้อาวุโส ทำหน้าที่ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่อื่นใด
    
               ในครั้งนั้น หลวงปู่ได้ตั้งสัจจะว่า จะไม่รับนิมนต์ ไม่ขึ้นรถ ไม่ลงเรือ แม้ที่สุดจะเกิดอาพาธหนักเพียงใด ก็จะไม่ยอมเข้านอนในโรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติตามที่ตั้งใจไว้ได้ทุกประการ
    
               หลวงปู่แหวน เป็นพระบริสุทธิสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก เมตตาบารมีธรรมของท่านยังผลให้กุลบุตรกุลธิดาใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรม สืบสานสร้างเสริมความมั่นคงให้แก่พระศาสนาตลอดมา ทำให้เกิดมีการก่อสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงพยาบาล วัด อาคาร ท่านได้อำนวยคุณประโยชน์ต่างๆ แก่สังคมสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
    
               แม้ชีวิตและสังขารของท่านได้ดับสลายไปแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านก็ยังตรึงแน่นอยู่ในจิตสำนึกของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่มี วันเสื่อมคลาย เพราะท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบในฐานะพุทธชิโนรส เป็นเนื้อนาบุญของผู้ต้องการบุญในโลกตลอดเวลา
    
               ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ สุขภาพของท่านได้ทรุดลงมาก มีอาการซูบเหนื่อยอ่อน เวียนศีรษะถึงกับเซล้มลง และประสบอุบัติเหตุขณะครองผ้าจีวร เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นวันที่ทางวัดจัดงานผูกพัทธสีมา ส่งผลให้ท่านมีอาการเจ็บที่บั้นเอวและกระดูดสันหลัง ลุกไม่ได้ ต้องนอนอยู่กับที่ รักษาอยู่เดือนหนึ่งก็หายเป็นปกติ
    
               แต่เนื่องจากหลวงปู่อายุมากแล้ว จึงมีอาการอาพาธมาโดยตลอด คณะแพทย์ก็คอยให้การรักษาด้วยดีเช่นกัน จนกระทั่งในวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘ เวลา ๒๑.๕๓ น. หลวงปู่ได้ละสังขารอันเป็นขันธวิบากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ ๙๘ ปี
    
               ตลอดระยะเวลาที่ หลวงปู่แหวน พำนักอยู่ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง ได้มีลูกศิษย์ และคณะศรัทธาทั้งหลาย ขออนุญาตท่านจัดสร้างวัตถุมงคลหลายรุ่น ซึ่งทุกรุ่นล้วนมีความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังในทุกด้าน จนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง และหนึ่งในจำนวนวัตถุมงคลดังกล่าว ก็คือ
    
               พระกริ่งอะระหัง รุ่นแรก อันเป็น "พระกริ่งยอดนิยมแดนล้านนา" ของพระอรหันต์แห่งเมืองพร้าว จัดสร้างโดย นพ.สุพจน์ ศิริรัตน์ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๑๗ โดย หลวงปู่ได้จับสายสูตรเททองจากมือของท่านสู่เบ้าหลอม
    
               พระกริ่งรุ่นนี้ สร้างด้วย เนื้อทองคำ ๑๖ องค์  เนื้อนวโลหะ ๒,๕๑๗ องค์
    
               ในโอกาสนี้ได้จัดสร้าง พระชัยวัฒน์ อะระหัง อีกจำนวนหนึ่ง ประกอบด้วย เนื้อทองคำ ๑๖ องค์ เนื้อเงิน ๑๓ องค์ เนื้อนวโลหะ ๑,๙๐๐ องค์
    
               พระกริ่งส่วนหนึ่งได้นำไปกะไหล่ทอง และ กะไหล่เงิน จัดเป็นชุดกรรมการ ใต้ฐานตอกโค้ดรูปเจดีย์ และยันต์ ปิดทับด้วยแผ่นทองแดง เป็นรูป หลวงปู่แหวน นั่งอยู่ในกลด บางองค์จะตอกโค้ดเป็นภาษาบาลีว่า "อะ ระ หัง"
    
               พระกริ่งชุดนี้ หลวงปู่แหวน ได้เมตตาจุดเทียนชัย เททองหล่อพระ ด้วยตัวท่านเอง ณ หน้ากุฏิของท่าน ที่ วัดดอยแม่ปั๋ง โดยโยงสายสิญจน์จากองค์พระประธาน ในพระวิหารมารอบกุฏิหลวงปู่ จนถึงต้นไม้ใหญ่กลางแจ้งล้อมรอบ วัสดุสิ่งของและชนวนโลหะต่างๆ ในพิธีทั้งหมด โดยมีพระสงฆ์สวดพระธัมจักรกัปปวัตนสูตร และสวดชยันโต ตลอดพิธี
    
               หลังจากพิธีเททองที่วัดเสร็จแล้ว หลวงปู่ได้เมตตาอธิษฐานจิตให้อีกหนึ่งครั้ง แล้วจึงให้ช่างนำไปตกแต่งเพื่อความเรียบร้อยสวยงามต่อไป เสร็จเรียบร้อยแล้วได้นำกลับมาถวายแด่หลวงปู่แผ่เมตตาอธิษฐานจิตอีกครั้ง รวมทั้งสิ้น ๓ ครั้ง นับว่าเป็นพระกริ่งพระชัยวัฒน์ชุดที่หลวงปู่แหวนได้แผ่เมตตาอธิษฐานจิตให้ยาวนานที่สุด
    
               รายละเอียดของการจัดสร้าง...พระอาจารย์ทองเจือ วัดปากน้ำ เป็นเจ้าพิธี...แผ่นยันต์ ๑๐๘ สร้างตามตำรับวัดสุทัศนฯ...แผ่นยันต์ต่างๆ อาทิ แผ่นยันต์ของหลวงปู่แหวน ๑๐๘ แผ่น, แผ่นยันต์ของท่านเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์, แผ่นยันต์ของหลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล, แผ่นยันต์ของหลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต, ทองชนวนพระกริ่ง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนฯ, วัดพิกุลทอง, วัดกษัตราธิราช, ทองชนวนพระชัยวัฒน์ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม...ฯลฯ...นับว่าพระกริ่งพระชัยวัฒน์ ชุดนี้ควรค่าแก่การสักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง
    
               ค่านิยม พระกริ่งเนื้อทองคำ, พระชัยวัฒน์ เนื้อทองคำ, พระชัยวัฒน์ เนื้อเงิน หลักแสน พระกริ่งเนื้อนวโลหะ และ พระชัยวัฒน์ เนื้อนวโลหะ หลักหมื่นต้น
    
               (ขอขอบบคุณ ข้อมูลจากหนังสือ "อภิญญาฤทธิ์จิตตานุภาพ" นิตยสาร "เตโชทิพย์" หนังสือ "รวมวัตถุมงคลหลวงปู่แหวน สุจิณโณ" โดย จิรา เสตังคะบุตร)