ฤษี ฤๅษี : คำวัด
ฤษี ฤๅษี : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
อิสิปตนะ ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า ฤาษีปัตตนะ หมายความว่า เป็นที่อยู่ของฤาษี หรือบางทีเรียกว่า ฤาษีวาทนะ ป่าอันเป็นที่ตกลงแห่งฤาษี หรือป่าที่ประชุมแห่งฤาษี เพราะเหตุที่พวกฤาษีทั้งหลายในสมัยโบราณชอบมาพัก เพื่อหลีกเร้นตนให้อยู่ในสถานที่สงบ
พวกปัญจวัคคีย์ก็เช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลาย หลังจากที่พากันหนีจากพระสิทธัตถะที่อุรุเวลาเสนานิคมแล้ว ก็พากันมาอยู่ที่นี่หรืออีกชื่อหนึ่งว่า มิคทายะ สันสกฤตว่า มฤคทายะ หรือมฤคทาวะ หรือสารังคนาถ แปลว่า เป็นที่พึ่งแห่งเนื้อและกวาง เพราะป่าในบริเวณนี้เป็นที่สงวนไว้สำหรับกวางของพระราชาในสมัยโบราณ ใช้เป็นเขตอภัยทาน จึงมีกวางไปรวมอยู่กันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเรียกบริเวณนี้ว่า “สารนาถ"
ชื่อของนักบวชนั้นมีอยู่หลายคำ แต่ละคำก็มีความหมายที่แตกต่างกันไป อินเดียโบราณมีนักบวชที่เรียกชื่อต่างๆ กัน แต่ที่สำคัญ ได้แก่ ฤษี ซึ่งเป็นชื่อรวมที่สำคัญที่สุด แล้วยังมีคำอื่นๆ อีกคือคำว่า สิทธา หรือนักสิทธิ์ แปลว่าผู้สำเร็จฌานสมาบัติ หมายถึงผู้ทรงคุณธรรมอย่างมั่นคง เป็นผู้ทำตบะได้ถึงที่สุดแล้ว
คำว่า ฤษี [รึ-] หรือ ฤๅษี [รือ-] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คำนิยามไว้ว่า ฤษี หรือ ฤๅษี หมายถึง นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล เป็นผู้ที่สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ
คำว่า โยคี แปลว่านักบวชผู้ปฏิบัติตามลัทธิโยคะ หมายถึงผู้มุ่งที่จะเข้าถึงเทพที่สูงสุดหรือภาวะทางจิตที่สูงสุด
คำว่า มุนี พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามว่าหมายถึง นักปราชญ์ ฤษี และพระสงฆ์ วรรณคดีสันสกฤตหมายถึง ผู้บำเพ็ญพรตโดยไม่ยอมพูดจาใดๆ ทั้งสิ้น ถือความเงียบเป็นพรตปฏิบัติสูงสุด (ศาสนาพุทธอาจเรียกพระพุทธเจ้าว่า มุนี แต่ความหมายของมุนีทางศาสนาพุทธไม่เหมือนกับทางวรรณคดีสันสกฤต)
ส่วนคำว่า ดาบส หมายถึง ผู้บำเพ็ญตบะเพื่อเผากิเลส มุ่งไปในทางทรมานกายและจิต เช่น นั่งสมาธิโดยไม่ลุกขึ้นเป็นเวลานาน ถ้าเป็นเพศหญิงใช้ว่า ดาบสินี และท้ายสุดคือคำว่า ชฎิล ซึ่งเป็นคำเรียกนักพรตจำพวกหนึ่งที่มีผมมุ่นสูงเป็นชฎา
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความหมายของคำว่า ฤษี หมายถึง ผู้แสวงหาคุณมีฌาน เป็นต้น ผู้เห็น ผู้แต่งพระเวท ใช้ว่า ฤาษี ก็มี
ฤษี ใช้หมายถึงตนศักดิ์สิทธ์ ผู้มีพรสวรรค์ เกี่ยวกับกำลังภายใน ผู้มีตาทิพย์ ได้แก่นักบวชประเภทหนึ่งมีมาก่อนพุทธกาล โดยสละเหย้าเรือนออกไปบวชบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ ใช้ชีวิตอยู่ตามป่าตามเงื้อมเขา เป็นต้น หรือปลูกอาศรมอยู่เป็นหมู่คณะบำเพ็ญพรตอยู่ตามลัทธิของตน
ฤษี หรือ ฤๅษี มีชื่อเรียกไปต่างๆ เช่น นักพรต โยคี มุนี ดาบส เป็นต้น