
นั่งสมาธิแล้วตัวเอียงจะหงายหลังควรทำอย่างไร
นั่งสมาธิแล้วตัวเอียงจะหงายหลังควรทำอย่างไร : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล
บอย ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ผมขอเรียนถามเกี่ยวกับการปฏิบัติภาวนาดังนี้ ผมนั่งภาวนาพุทโธ สูดลมหายใจเข้าออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่า ปวดเมื่อยมากๆ ก็นำจิตมาจดจ่ออยู่ตรงบริเวณที่รู้สึกปวดนั้น แล้วก็กำหนดจิตว่า ต่อให้ปวดเมื่อยแค่ไหน ก็จะไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ขอมอบร่างกาย ถวายชีวิตบูชาแด่พระพุทธเจ้า ปรากฏว่า รู้สึกว่าตัวเอียงๆ เหมือนจะหงายหลัง และรู้สึกเหมือนวิญญาณจะหลุดออกจากร่างกาย แต่ไม่สนใจ นั่งภาวนาต่อไป จนหงายหลังไปกับพื้น ในท่าขัดสมาธิเลย จึงลืมตาตื่นขึ้นมา แล้วอาการปวดเมื่อยก็หายไป เหลือแต่จิตที่สงบนิ่งมากๆ รู้สึกมีความปีติ อย่างบอกไม่ถูก
อยากเรียนถามว่า ถ้ารู้สึกตัวเอียงๆ เหมือนจะหงายหลังนี่ควรจะรู้สึกตัว แล้วดึงตัวกลับมานั่งตรงเหมือนเดิม หรือปล่อยให้ร่างกายเป็นไปเอง เราแค่ดูเฉยๆ และควรปฏิบัติต่อไปอย่างไรครับ
วิสัชนา : ถ้าภาวนาเพื่อเจริญสติ คุณก็ควรจะรู้สึกตัวและรับรู้อาการของกายเมื่อเสียสมดุล แล้วปรับกายให้นั่งอยู่ในท่าปกติ เช่นเดียวกับเวลาใจฟุ้งซ่านหรือถูกอารมณ์ครอบงำ ก็รู้ว่าจิตกำลังเสียสมดุล ไม่ปกติแล้ว ต่างกันนิดหน่อยก็ตรงที่ เมื่อมีสติรู้ทันความฟุ้งซ่าน จิตก็จะหยุดส่งออกนอก กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นปัจจุบัน ส่วนกายนั้น เมื่อรู้ว่ากายเครียดตึงหรือเสียสมดุล เท่านั้นยังไม่พอ ต้องช่วยกายด้วยการผ่อนคลายกายหรือดึงกายให้กลับมาเป็นปกติ
ข้อมูลทางสถิติชี้ว่าผู้มีอายุ ๖๕-๗๔ ปี ไม่มีความสุขจากการปฏิบัติธรรม อธิบายอย่างไร
รุ้งทอง คำมานนท์ ปุจฉา : เรียนพระอาจารย์ ดิฉันทำวิทยานิพนธ์เรื่องความสุข แล้วพบว่าการตักบาตรเป็นประจำและการนั่งสมาธิ ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ๗๕ ปีขึ้นไป แต่กลับไม่มีนัยสำคัญทางสถิติกับผู้สูงอายุ ๖๕- ๗๔ ปี อยากถามว่าจะอธิบายด้วยหลักธรรมอย่างไรดี ขอกราบขอบพระคุณพระอาจารย์มากค่ะ
วิสัชนา : อาตมาไม่แน่ใจว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริงได้มากเพียงใด เป็นไปได้ว่ากลุ่มตัวอย่างของคุณที่เป็นผู้สูงอายุ ๖๕-๗๔ ปี ยังไม่ครอบคลุมหรือเป็นตัวแทนของผู้สูงอายุทั้งหลายได้มากเพียงพอ เรื่องนี้น่าจะอธิบายได้ด้วยหลักการทางสถิติมากกว่าด้วยหลักธรรม อย่างไรก็ตามหากการเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลทำได้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการทำให้มีความสุขไม่มากนักจากการตักบาตรและนั่งสมาธิ เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ ๗๕ ปีขึ้นไป
สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย 'เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี' ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒