
'เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน'พระอาจารย์เรวตะ
'เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน'พระอาจารย์เรวตะ : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า ความทุกข์เกือบร้อยทั้งร้อยมาจากความคิดผิดของเราเอง และในจำนวนแทบทั้งหมดของความคิดผิดคือ 'ความหวัง' ที่ไม่ได้ดั่งใจ
พระอาจารย์เรวตะ ประธานกัมมัฏฐานาจริยะ ธัมมกถิกะ ศูนย์ปฎิบัติธรรมนานาชาติพะอ๊อก ตอยะ เมืองหมอละเหมียง รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ได้รับการอาราธนานิมนต์อีกครั้งโดย ชมรมใฝ่ธรรมวันพุธ มาบรรยายธรรมที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกเมื่อสองเดือนที่แล้ว ครั้งนี้ท่านมาแบ่งปันคำสอนของพระพุทธองค์เรื่อง 'ความหวังที่เกิดจากความคิดเห็นของตัวเอง (The Expectation derived from one's own point of view)'
พระอาจารย์เรวตะ เป็นชาวไทย-มอญ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๔ ณ เมืองหมอละเหมียง รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ท่านเป็นบุตรชายคนที่ ๘ ของคุณพ่อสาธน (ทวี บุญพิทักษ์ ชาวอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และคุณแม่เมียะ จิ่ง (ชาวเมืองหมอละเหมียง รัฐมอญ) สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ในปี ๒๕๓๗ และประกอบอาชีพส่วนตัว โดยสอนคอมพิวเตอร์ที่ถิ่นกำเนิด เมืองหมอละเหมียนเป็นเวลา ๕ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติพระอ๊อก ตอยะ โดยพระอุปัชฌาย์คือ พระอาจารย์ใหญ่ พะอ๊อก ตอยะ สยาดอ (อู อาจิณณะ) อัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ ปัจจุบันท่านเรวตะได้รับมอบหมายจากพระอาจารย์ใหญ่ให้เป็นเลขาธิการที่พะอ๊อก ตอยะ มีหน้าที่ผลิตกัมมัฏฐานาจารย์ ท่านสามารถพูดได้สามภาษา คือ เมียนมาร์ อังกฤษ และไทย ซึ่งคนไทยที่สนใจมาปฏิบัติธรรมที่พะอ๊อก ตอยะ จึงสามารถส่งอารมณ์เป็นภาษาไทยกับท่านได้
ในการบรรยายเรื่องความหวังที่เกิดจากความคิดเห็นของตัวเอง พระอาจารย์เรวตะให้เราถามตัวเราว่า เราต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป จริงหรือไม่ เพราะถ้าเราคิดเห็นเหมือนกันไปหมด วิธีการที่เราดำรงชีวิตก็จะไม่เป็นแบบนี้ ทำไมเราจึงมีมุมมองไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับความรู้ที่เรามี? เราต่างมีความรู้ที่แตกต่างกัน? เราจึงมีความเห็นและความเข้าใจแตกต่างกัน ?
"เพราะความรู้ที่ถูกต้อง จะก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทำให้การดำเนินชีวิตด้วยวิถีที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง และถ้าเรากระทำที่ถูกต้อง เราก็ย่อมจะเห็นผลที่ควรจะเป็น ในทางตรงกันข้าม หากเรามีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง หรือความรู้ที่ผิดๆ เราก็จะไม่เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และเมื่อเราไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง การกระทำของเราทั้งหมดก็ย่อมไม่ถูกต้อง และถ้าหากการกระทำของเรานั้นผิด ผล หรือวิบากที่มาจากการกระทำนั้นก็ไม่ได้ผลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ผลที่บัณฑิตสรรเสริญ "
ในวันนั้น ท่านได้บรรยายมุมมอง ไม่เพียงแต่ของพระพุทธเจ้า แต่เป็นของพระโพธิสัตว์และอริยสาวกทั้งมวล เพื่อให้เราเห็นว่า หากเรามีความคิดที่แตกต่างออกไป ก็จะเป็นโอกาสให้เราปรับปรุงแก้ไขตัวเราเองได้
ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีผู้ชายคนหนึ่งเข้าไปกราบพระพุทธองค์ และกล่าวถึงมุมมองของตนเองว่า ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่เราจะบรรลุความสุขได้นั้น ไม่มีทางด้วยความสุข แต่จะสามารถบรรลุความสุขได้ด้วยความทุกข์ จริงหรือไม่
แล้วพระอาจารย์เรวตะก็หันกลับมาถามผู้ฟังว่า เห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
" เราจะสามารถบรรลุความสุขด้วยความสุข หรือว่า สามารถบรรลุความสุขด้วยความทุกข์? "
จากคำถามนี้เอง ท่านเรวตะได้นำผู้ฟังจะมาสู่ประเด็นที่ว่า เพราะความหวังที่มาจากความคิดของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปในหัวข้อนี้ เช่นเดียวกับในครั้งนั้น บุรุษผู้นี้ก็ถามพระพุทธเจ้าต่อไปว่า พระพุทธองค์มีความเห็นว่าอย่างไร
"พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น ก็ทรงมีความเห็นเช่นนี้เหมือนกัน คือมีความเห็นว่า ไม่สามารถบรรลุถึงความสุขได้ด้วยความสุข จะต้องบรรลุได้ด้วยความทุกข์ ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงละทิ้งพระราชวังออกบวช เพื่อทรงแสวงหาพระธรรม และได้ทรงไปพบกับอาจารย์สองท่าน ซึ่งได้สอนการเจริญกรรมฐานให้กับพระองค์ อาจารย์สองท่านคือ อาฬารดาบสและอุทกดาบส "
พระอาจารย์เรวตะถามผู้ฟังว่า แล้วอาจารย์ทั้งสองท่านสอนอะไรให้กับพระโพธิสัตว์
"สิ่งที่อาจารย์ทั้งสองท่านสอนให้กับพระโพธิสัตว์คือ สมาบัติ ๗ ด้วยการพิจารณากสินเป็นบาทฐาน หากเราพิจารณากสิน ก็สามารถบรรลุรูปฌานได้ มีปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน และหากเราทราบวิธีที่จะเจริญอรูปฌานได้ เราก็สามารถบรรลุถึงอรูปฌานอีก ๔ ตามลำดับ แต่อาจารย์ท่านแรกไม่ได้สอนทั้งหมด ๘ ฌานสมาบัติ สอนแค่ ๗ ฌานแรก ในเมื่อครั้งที่อาฬารดาบสฝึกเองกว่าจะมาถึงตรงนี้ใช้เวลานานมาก แต่พระโพธิสัตว์ฝึกปฏิบัติเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำได้ อาจารย์จึงชื่นชมพระโพธิสัตว์เป็นอันมาก ถึงขั้นที่จะยกสานุศิษย์ครึ่งหนึ่งของสำนักให้กับพระโพธิสัตว์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำ ต้องชื่นชมว่า อาจารย์อาฬารดาบท เป็นอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง"
แต่ก็นั่นแหละ ด้วยปัญญาของพระโพธิสัตว์ทรงทราบว่า นี่ยังไม่ใช่การบรรลุธรรมสูงสุด จึงไม่ทรงรับข้อเสนอใดๆ หลังจากเรียนกับสองอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่จนจบ พระโพธิสัตว์ออกบำเพ็ญทุกรกิริยาอีก ๖ ปี ด้วยคิดว่า จะบรรลุความสุขด้วยความทุกข์ แต่ในที่สุดก็ไม่ใช่อีก เพราะคิดผิด จึงยกเลิกการบำเพ็ญทุกริกริยาเสีย ขณะที่ตอนนั้น ปัญจวัคคีที่ติดตามพระโพธิสัตว์กลับมีความคิดเห็นอีกอย่าง คือมีความเห็นผิดว่า พระโพธิสัตว์ เลิกล้มที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยาคงจะไม่บรรลุธรรมเป็นแน่จึงลิกติดตามพระองค์
พระอาจารย์เรวตะให้ข้อคิดว่า เพราะความหวังอันเกิดจากความคิดนี่เอง ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตของเราว่าจะไปถูก หรือไปผิด
ในกรณีของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียง ๑๕ วันที่ถูกทิ้งจากปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ แล้วพระองค์หันมาเสวยพระกระยาหาร มีแรงขึ้น พระองค์ก็กลับตรัสรู้ความจริง ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั่นเอง ขณะที่ปัจจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่คิดว่า ตนเองเห็นถูก กลับกลายเป็นเห็นผิด เพราะยึดติดกับความคิดเดิมๆ จึงไม่เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
สิ่งสำคัญที่พระอาจารย์เรวตะให้เรากลับมาใคร่ครวญกับความคิดเห็นของเราก็คือ กรณีของพระโพธิสัตว์ที่บรรลุความหวังได้ก็เพราะความคิดเห็นของพระองค์ก็เปลี่ยนไป จากเดิมทรงเห็นว่า จะบรรลุความสุขก็ด้วยความทุกข์ เมื่อเปลี่ยนความคิดเห็นว่า จะบรรลุความสุขด้วยความสุขได้ไหม การปฏิบัติจึงเปลี่ยนไป
"ชีวิตของเราทุกคนก็เช่นกัน เมื่ออกุศลกรรมนำทาง เราคิดว่าถูก แต่ความจริงนั้นผิด เราก็จะดำเนินชีวิตไปบนกองทุกข์ และไม่สามารถพบกับความสุขที่แท้จริงได้ ความคิดเห็นของเราเป็นอย่างไรเล่า เราจะคาดหวังอะไรไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดเห็นของเรา หรือเปลี่ยนแง่มุม หรือเปลี่ยนจุดยืนของเรา"
นี่เป็นคำถามที่ท้าทายมาก กับเราทุกคนที่กำลังคิดว่า ตัวเองคิดถูก ตัวเองมีจุดยืน แต่การกระทำกลับสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นตลอดเวลา นี่จะเรียกว่า อยู่บนหนทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องได้หรือไม่ ?
ขอเชิญฟังธรรมบรรยายเรื่อง 'การเจริญอานาปานสติ'
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก และชมรมใฝ่ธรรมวันพุธ ได้มีการจัดบรรยายธรรม โดยพระอาจารย์ใหญ่ พะอ๊อก ตอยะ สยาดอ อัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ ในวันเสาร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๓๐ น. ณ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เรื่อง การเจริญอานาปานสติ ในโอกาสนี้ทางผู้จัดเตรียม หนังสือ 'การเจริญอานาปานสติ คำแนะนำเบื้องต้น' และ 'อานาปานสติและจตุธาตุววัฏฐาน' ซึ่งรจนาโดยพระอาจารย์ใหญ่ พะอ๊อก ตอยะ สยาดอ อัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ และ หนังสือ 'การเดินทางเพื่อการค้นพบตนเองและการบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ในชีวิตประจำวัน' โดย พระอาจารย์เรวตะ มอบให้กับผู้ร่วมฟังบรรยาย กรุณาสำรองที่นั่ง ๐๒-๓๐๘-๐๗๒๐ ต่อ ๑๒๗ หรือทาง www.wdtmc.org รองรับได้ ๖๐๐ ที่นั่ง