'พุทธทาส'กับความเมตตาต่อลูกผู้หญิง
'พุทธทาส'กับความเมตตาต่อลูกผู้หญิง : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ
"ผู้ชายมีโอกาสลาบวชพระ มีวัดที่จะอยู่ แต่ผู้หญิงไม่มีโอกาส ผู้หญิงไปอยู่วัดไหน ครัวต้องเข้าล้างชาม ล้างกระโถน ว่ากันไป ท่านอาจารย์พุทธทาส เป็นบุคคลที่มีมหาเมตตาต่อเพศแม่มาก มีดำริที่จะสร้างอาศรมธรรมมาตาให้ลูกผู้หญิงได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุด ในลักษณะของธรรมทูตหญิง เป็นการเสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่ ความหมายก็คือ ให้ผู้หญิงมีที่ปฏิบัติ สัปปายะ ไม่ต้องห่วงเรื่องการทำอาหาร เราจึงได้อยู่ชนิดที่ พูดง่ายๆ ว่า ทุกอย่างพร้อมให้เราตั้งใจปฏิบัติ"
อุบาสิกาแพทย์หญิงเสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์ หรือ 'ป้าหมอ' หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ธรรมาศรมธรรมมาตา ตามดำริของท่านอาจารย์พุทธทาส เล่าให้ "คมชัดลึกวันพระ" ฟังในวันล้ออายุท่านพุทธทาส ๑๐๘ ปี ๒๗ พฤษภาคม (๒๔๔๙-๒๕๕๗) กับเรื่องราวของลูกผู้หญิงที่ค่อนข้างมีทางเลือกน้อยกว่าผู้ชายหากจะเดินสู่กระแสแห่งความพ้นทุกข์ในรูปแบบของนักบวช ซึ่งท่านพุทธทาสมีกุศโลบายที่จะทำให้ผู้หญิงได้บวชกายและใจโดยไม่ต้องติดกับรูปแบบภิกษุณีที่ยังไม่เป็นที่รับรองของคณะสงฆ์กระแสหลักของประเทศไทย
ธรรมาศรมธรรมมาตาจึงเกิดขึ้น พร้อมจัดโครงการนำร่อง "ฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม" อย่างเข้มข้นโดยใช้เวลาอยู่ปฏิบัติ ๔ เดือน ปีละหนึ่งครั้ง ภายใต้การนำทีมของอุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง โครงการดังกล่าวจัดมาแล้วมากว่า ๑๕ ปี โดยมีหลัก "โคตมีสูตร" ที่พระพุทธเจ้าประทานให้แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล อันเป็นจุดเริ่มต้นของภิกษุณีสงฆ์ ๘ ประการเป็นเครื่องอยู่ ดังนี้
ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ๑ เป็นไปเพื่อความปราศจากทุกข์ ๑ เป็นไปเพื่อความไม่สะสมกองกิเลส ๑ เป็นไปเพื่อความอยากอันน้อย ๑ เป็นไปเพื่อความสันโดษยินดีด้วยของมีอยู่ ๑ เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่ ๑ เป็นไปเพื่อความเพียร ๑ และเป็นไปเพื่อความเลี้ยงง่าย ๑ ธรรมเหล่านี้ เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ที่มอบไว้ให้กับภิกษุณีในพระพุทธศาสนา
ป้าหมอ กล่าวว่า ท่านอาจารย์พุทธทาส เวลาทำอะไร ทำเต็มที่ ทำดีที่สุด แต่ท่านก็ดูเหตุปัจจัยด้วย เช่น การทำ "อรรถานุกรมธรรมโฆษณ์" เล่มแรก ที่มีศัพท์ทางธรรมอยู่ ๖๐ คำ ท่านพอใจมาก ท่านบอกว่า นี่คืองานของผู้หญิงที่ทำอันนี้ได้ ท่านก็ตั้งใจจะทำอีกสองเล่ม ต่อมา ทำเล่มที่สอง ทำไปได้ ๕ คำก็เลิก เราก็ตั้งข้อสังเกตว่า ท่านคงดูการตอบรับของคนว่ามีการตอบรับน้อยกว่าที่ควร หรือ อาจเป็นสุขภาพของท่านด้วย ทำให้เราเป็นห่วง
"ตอนนั้น ท่านอาจารย์ก็เอ่ยชื่อ คุณเสริมทรัพย์ ไม่ต้องห่วงมาก เราคิดว่าห่วงเรื่องอรรถานุกรม เราไม่สบายทุกครั้งก็ฉลาดขึ้นทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ท่านมีโรคตั้งเยอะแยะ คือท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของธาตุขันธ์ ไม่ใช่เรื่องของกู เมื่อท่านบอกสบายดี เราก็สบายใจ"
ยังมีความเมตตา กรุณา อีกหลายเรื่องของท่านอาจารย์พุทธทาสที่อยู่ในความทรงจำของป้าหมอ ลูกศิษย์ที่ได้รับใช้งานทางธรรมของพระพุทธเจ้า และได้รับใช้ท่านอาจารย์พุทธทาสยามอาพาธ กระทั่งมรณภาพในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖
"ท่านอาจารย์ไม่เคยลืมบุคคลที่เคยช่วยเหลือ ช่วงที่อยู่รับใช้ ตอนนั้นมีหมอตาจากกรุงเทพฯ เพื่อไปรักษาตาให้ท่านอาจารย์ ท่านบอกว่า ต้องบอกหมอตาที่สุราษฎร์ธานีก่อนนะ เขาดูแลอยู่ หรือ เรื่องฟัน เราก็ไปอ้อนวอน เพราะเรามีหมอฟันที่เก่งๆ ให้ท่าน เรียกว่า ตื๊ออยู่หลายครั้ง ท่านไม่ยอมง่ายๆ จนในที่สุดยอมให้หมอทางกรุงเทพฯ ไปดูให้ แต่ท่านบอกเลยว่า ให้บอกหมอฟันที่ดูแลท่านอยู่ให้รู้ก่อนนะ โดยมารยาท นึกไม่ถึงว่าท่านจะละเอียดขนาดนี้
"เท่าที่สังเกต เวลาท่านใช้พระก็เช่นกัน ท่านเรียกใช้เฉพาะเรื่อง เฉพาะคนเช่นว่า เรื่องงานหนังสือ การตอบรับ ธนาณัติ ก็พระรูปหนึ่ง ถ้าดูแลสุขภาพก็อีกท่านหนึ่ง ท่านอาจารย์เป็นคนที่เมตตา อ่อนน้อมถ่อมตนมาก ใครไปหาก็ได้ ท่านพูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้เราสัมผัสอยู่ตลอดเวลา"
นอกจากนี้ สถานที่ก็มีความสำคัญไม่น้อย
"การให้อิสระทางจิตใจ สวนโมกข์ให้มากๆ เลย เราจะเห็นว่า ในสมัยสมัยท่านอาจารย์ไม่มีกฎระเบียบว่า ต้องมาสวดมนต์ เราจะรู้เองว่า ใครใคร่จะทำอะไร ก็ทำ จะไปหาตรงไหนมีอะไร จะเรียนรู้อะไรก็ต้องพึ่งตนเอง ถ้าใครไม่พึ่งตนเอง จะนอนไปสามวันสามคืน ท่านก็คงไม่ว่าอะไร ตอนนั้นเราไม่รู้สึกว่านั่นแหละคืออิสรภาพ แต่ผ่านมาตอนนี้ รู้เลยว่า โอ้โห คุณอยากฝึกอะไรก็ฝึกได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้จิตไม่ถูกกดดันว่า จะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ ต้องเดินตามกฎอย่างนั้นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะท่านอาจารย์บอกว่า ถ้ามีกฎ ก็ต้องมีคนแหกกฎ"
อีกงานหนึ่งที่ป้าหมอประทับใจมากกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจารย์มีต่อศิษย์
"เมื่อตอนปีก่อนครบ ๕๐ ปีสวนโมกข์ วันมาฆบูชา ท่านอาจารย์ประกาศบนโบสถ์พุทธทองว่า ใครมีอะไรอยากจะติชม สวนโมกข์ก็เขียนมา แล้วท่านก็นำไปพิมพ์ หลังจากที่หนังสือออกแล้ว เราไปกราบท่านอาจารย์ ท่านให้หนังสือพร้อมกับเปิดหน้าที่เราเขียนไว้ ความละเอียดอ่อนของท่านอาจารย์มีเป็นพิเศษ ไม่เหมือนใคร ท่านมีความน่ารักมาก"
"อย่างตอนที่เตี่ยตาย เราก็ไม่ได้ส่งข่าวไปที่สวนโมกข์ แต่เข้าใจว่า ท่านคงทราบจากพระ เมื่อท่านดุษฎี เมธังกุโร มางานศพ ท่านอาจารย์ฝากผ้าไตรมาหนึ่งชุดสำหรับทอดผ้าบังสุกุลวันเผา เราก็โอ้โห ปีติสุดๆ เลย เรื่องจะลาออกจากราชการก็เหมือนกัน ได้ยินได้ฟังผู้หญิงคนอื่นๆ เล่าถึงครูบาอาจารย์ของเขามักจะชวนให้ออกมาปฏิบัติธรรมเถอะ แต่สำหรับท่านอาจารย์พอเราอยากจะออก ไปกราบเรียนท่าน ท่านไม่เคยบอกเลยว่าให้เราออก ท่านบอกว่าอย่าออก ทำไมต้องออก ก็ทำไปสิ แต่เมื่อเล่าบางเรื่องให้ท่านฟัง จนในที่สุด ท่านก็บอกว่า ตามใจ พอลาออกมาปี ๒๕๓๓ แป๊บเดียว ท่านอาจารย์ก็ป่วยปี ๒๕๓๕ เราก็ออกมาจังหวะดีมากๆ ได้รับใช้ท่านจนท่านมรณภาพ"
ป้าหมอลาออกจากโรงพยาบาลศูนย์สระบุรีเมื่ออายุ ๕๕ ปี ขณะนั้น ท่านเล่าว่า ไม่เคยรู้สึกเสียใจว่าออกก่อนกำหนด และตอนนั้นก็ไม่มีเออรี่รีไทร์ สถานปฏิบัติธรรม ธรรมาศรมธรรมมาตาจึงเป็นดั่งที่พึ่งสุดท้ายของลูกผู้หญิงก็ว่าได้ แม้ว่าผู้ที่เดินทางไปสู่ความพ้นทุกข์ คือตัวเราเอง แต่ครูบาอาจารย์ที่แนะ ที่สอน ให้อยู่ในทางก็ไม่ใช่ว่าจะหาได้ง่ายนักบนโลกใบนี้
ท่านอาจารย์พุทธทาส แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี คือหนึ่งในนั้น
วารสาร "ธรรมมาตา"
สนใจวารสาร "ธรรมมาตา" เพื่อนธรรมของผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน เขียนไปรษณียบัตรส่งมาที่ธรรมาศรมธรรมมาตา (วารสารธรรมมาตา) อาคารคณะธรรมทาน ๖๘/๑ หมู่ ๖ ต.เลม็ด อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๑๑๐ (พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน)