วัดแสนเมืองมาหลวงผลงานแห่งการพัฒนาของ'ครูบาแอ'
วัดแสนเมืองมาหลวงผลงานแห่งการพัฒนาของ'ครูบาแอ' : ท่องไปในแดนธรรม เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู
วัดแสนเมืองมาหลวง หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “วัดหัวข่วง” ตั้งอยู่ที่ ๑๗๕ ถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันมีพระครูสุวัตถิ์ปัญญาโสภิต (ทรงสวัสดิ์ ปญญาวชิโร) หรือ "ครูบาแอ"
ตามที่บันทึกของพระมหาหมื่น วุฑฺฒิญาโณ วัดหอธรรม (ร้างแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสภา-การศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา) ท่านบันทึกไว้ท้ายของตำนานพระธาตุจอมทองว่า “วัดหัวข่วงเดิมเมื่อแรกสร้างชื่อ วัดลักขปุราคมาราม (วัดที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้าง ) ต่อมาพระเจ้าเมืองแก้ว พ.ศ. ๒๐๖๓ ได้บูรณะเจดีย์วัดหัวข่วงขึ้นใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ตามที่พระมหาหมื่นได้บันทึกไว้ท้ายตำนานพระธาตุจอมทองว่า
ในจุลศักราช ๘๘๒ (พ.ศ.๒๐๖๓) ตัวปีมะโรง ไทยว่า ปีกดสี เดือน ๖ วันศุกร์ ๑๐ ค่ำ พระเมืองแก้วให้ขุดฐานรากเจดีย์วัดลักขปุราคมาราม คือ วัดหัวข่วง ตราบถึงเดือน ๗ ออก ๑๐ ค่ำ วันอาทิตย์ จึงได้ลงมือก่อพระเจดีย์ ฐานกว้าง ๘ วา ๒ ศอก สูง ๑๔ วา ๒ ศอก ถึง จ.ศ.๘๘๓ ตัว ปีมะเส็ง ไทยว่าปีลวงใส้ เดือน ๑๑ ออก ๑๓ ค่ำ วันพุธ ปุพสาธฤกษ์ดาวสัปดับช้าง พระเมืองแก้วกับพระราชมารดาพร้อมพระสงฆ์ ๓ คณะ มีพระราชครู เป็นประธาน บรรจุพระบรมธาตุในมหาเจดีย์วัดลักขปุราคมาราม คือ วัดหัวข่วง บัดนี้ เมื่อสร้างพระเจดีย์เสร็จแล้วทรงโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก ไว้ในหอมณเฑียรธรรม ทรงโปรดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ พ.ศ. ๒๕๔๙ พระครูปลัดทรงสวัสดิ์ ปญฺญาวชิโร พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร จึงได้รื้อถอนหอมณเฑียรธรรม และทำการสร้างขึ้นใหม่
ปัจจุบันโบราณศิลปวัตถุที่สำคัญที่ยังเหลืออยู่ในวัดแห่งนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปูนประธานในพระวิหาร และพระพุทธรูปสำริด หน้าตักกว้าง ๑.๘๘ เมตร สูง ๒.๖๓ เมตร ที่เป็นประธานในอุโบสถ ที่ชาวบ้านบางกลุ่มเรียกว่า พระแสนเมืองมาหลวง รวมทั้งยังมีพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เหลืออยู่ที่พอจะเป็นหลักฐานในการศึกษาได้
พระเจดีย์วัดหัวข่วง เป็นเจดีย์ก่ออิฐขนาดใหญ่ และมีทรวดทรงที่งดงามมากองค์หนึ่งในเมืองเชียงใหม่ ลักษณะเป็นเจดีย์สิบสองเหลี่ยมองค์ระฆังกลม เป็นแบบแผนของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันมากในเมืองเชียงใหม่ นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา เช่น เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ เจดีย์วัดอุโมงค์ เจดีย์วัดชมพู เจดีย์ร้างวัดแสนตาห้อย เจดีย์วัดพระธาตุเสด็จ เจดีย์พระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นศิลปกรรมผสมระหว่างศิลปะเชียงแสนกับสุโขทัย ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชต่อพระเจ้าเมืองแก้ว ในยุคนี้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากทั้งทางสุโขทัยและอยุธยา แต่เนื่องจากการที่พม่าตีเมืองเชียงใหม่จึงทำให้เจดีย์ได้รับความเสียหายบางส่วน
เมื่อได้รับการซ่อมแซมแล้วทำให้ส่วนฐานนับตั้งแต่ฐานหน้ากระดานสามชั้นขึ้นไปจนถึงฐานบัวลูก แก้ว เป็นลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นในเจดีย์ทรงกลมทั้งแบบพื้นเมืองล้านนาและแบบ เชียงใหม่
สำหรับชื่อว่า “วัดหัวข่วง” น่าจะเป็นชื่อที่ได้มาในสมัยหลังอาจจะร่วมสมัยกับคติการสร้างวัดหัวข่วงทั่ง ล้านนา เพราะมีทุกจังหวัดทั่วล้านนาตลอดถึงเชียงตุง เชียงรุ้ง และเมืองยอง โดยเรียกตามที่ตั้งของวัด คือ ทิศเหนือของข่วง (หัว=ทิศเหนือ, ข่วง=สนามของเมือง) วัดหัวข่วง แปลว่า วัดที่ตั้งอยู่ประตูเมืองด้านเหนือ ติดกับข่วง (สนามหลวง) และคุ้มของเจ้าเมือง
ดังนั้น วัดหัวข่วงในอดีตจึงเป็นวัดที่มีความสำคัญ และมีธรรมเนียมตลอดจนแนวคิดให้ชื่อวัดตามที่ตั้ง และใช้วัดหัวข่วงประกอบพิธีทางศาสนาของชาวเมือง เมื่อมีประเพณีหลวงก็จะมาใช้วัดหัวข่วงประกอบพิธีกรรม หรือเมื่อมีการประชุม รวมทั้งเป็นตลาดนัด ชุมนุมฝึกหัดทหาร ฯลฯ เพราะมีเนื้อที่บริเวณกว้าง วัดหัวข่วงเชียงใหม่มีเนื้อที่ ๙๓ ไร่ ( สมัยรัชกาลที่ ๗) ปัจจุบันเหลือเนื้อที่แค่ ๔ ไร่ ๑ งาน ๒๑ ตารางวา
พระนักพัฒนาแห่งล้านนา
นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ที่พระครูสุวัตถิ์ปัญญาโสภิต (ทรงสวัสดิ์ ปญญาวชิโร) หรือ "ครูบาแอ" เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดแสนเมืองมาหลวง จากวัดที่มีสภาพเกือบจะร้าง จนเป็นที่ประจักษ์แก่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ๒๕๔๕ จึงได้มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้วัดแสนเมืองมาหลวงเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง
ผลงานที่ปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้คือ การออกแบบ กุฏิสงฆ์ วิหาร หอไตร การต้องลายตุงกระด้าง เป็นต้น งานแต่ละอย่างนี้จะทำไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ภิกษุ-สามเณรศึกษาเล่าเรียนภาษาล้านนา การฝึกเทศนาแบบพื้นเมือง อนุรักษ์การนุ่งห่มดอง รัดอก แบบพระสงฆ์นิกายเชียงใหม่
ส่งเสริมและสอนงานช่างและงานศิลปะในวัดหลายประการ เช่น
ช่างไม้ ออกแบบและสร้างธรรมาสน์ทรงปราสาท, บุษบก, ธรรมาสน์ปาฏิโมกข์, สัตตภัณฑ์ ตุงกระด้าง และตู้เทียนชัย เป็นต้น
ช่างศิลป์ มีงานต้องลายฉัตร, การเขียนลายรดน้ำ, การต้องกระดาษสา การฝั้นเทียน
พิธีกรรม ฝึกฝน ส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรเรียนรู้ ปฏิบัติในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา อันเนื่องกับประเพณีวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพื่อการประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นความเป็นระเบียบ และเรียบง่าย รวมทั้ง ฟื้นฟูประเพณีการทานเรือสำเภา “ตานส้ายตานแตน”
“จะฟื้นฟูองค์ความรู้ทางด้านงานศิลปวัฒนธรรมของล้านนา ให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะภูมิธรรมภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาซึ่งเคยเล่าเรียนศึกษากันภายในวัด โดยมีพระสงฆ์เป็นสำคัญในการเรียนรู้และถ่ายทอด ให้คงอยู่สืบไป โดยเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง และสอนให้พระภิกษุสามเณรภายในวัดที่สนใจในศาสตร์นั้นๆ" นี่เป็นความตั้งใจของครูบาแอ
บางส่วนของงานเผยแผ่
การอบรมพระภิกษุสามเณร ดังนี้
๑.มีการอบรมให้โอวาทพระภิกษุสามเณร เกือบทุกวันหลังทำวัตรเช้า-เย็น ให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับคุณค่าการศึกษา การรักษาสมณะสารูป ปฏิบัติตนให้อยู่ในครรลองของพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม และ การสอนให้ภิกษุสามเณร เจริญสมาธิภาวนา กล้าแสดงออกในการเทศน์ ทั้งแบบพื้นเมือง และการปาฐกถาธรรม
การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน ๑.มีการอบรมศีลธรรม จริยธรรมแก่ศรัทธาประชาชนทุกวันพระ ๒.มีการอบรม ให้ข้อคิดแก่นักเรียน-นักศึกษาจากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อคณะครู-อาจารย์นำมาทำบุญ,ประกอบกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และถวายเทียนพรรษาที่วัด
๓.จัดให้มีการสอนและนำปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐาน ๔ แก่ประชาชน และเยาวชนผู้สนใจทุกเช้าวันอาทิตย์ ๔.ร่วมกับสภานักธรรมจังหวัดเชียงใหม่ในการส่งพระสงฆ์ที่มีความรู้ มีความชำนาญในการบรรยายธรรมไปเผยแผ่ธรรมในโรงพยาบาลสวนปรุง ทุกวันพฤหัสบดี สุดท้ายของเดือน