พระเครื่อง

'สมาธิ ขณิกสมาธิ' : คำวัด

'สมาธิ ขณิกสมาธิ' : คำวัด

06 มิ.ย. 2557

'สมาธิ ขณิกสมาธิ' : คำวัด พระธรรมกิตติวงศ์

               หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนว่า “การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน ใจนี่แลคือสมบัติอันล้นค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจ คือไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง”

               การนั่งสมาธิภาวนา หลวงปู่มั่น กล่าวไว้ว่า “การภาวนา คือการอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผล อรรถธรรม รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผล อันจะเป็นทางแห่งความสงบสุขใจ ที่ยังมิได้รับการอบรมจากการภาวนา”

               ก่อนอื่นที่เราจะนั่งสมาธิภาวนา ให้หาสถานที่อันเป็นมุมสงบ นั่งเข้าที่เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น ไม่เอียงซ้ายนัก ไม่เอียงขวานัก ไม่ก้มนัก ไม่เงยนัก ทำตัวให้สบายๆ ดูท่าการประทับนั่งของพระพุทธรูปเป็นแบบอย่าง หากไม่สะดวกที่จะนั่งอยู่ขัดสมาธิอยู่กับพื้น ก็ให้นั่งบนเก้าอี้หรืออะไรก็ได้ตามแต่สะดวก

               คำว่า "สมาธิ" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายไว้ว่า ความตั้งมั่นแห่งจิต ความที่จิตตั้งมั่น

               สมาธิ คือ ภาระที่จิตมั่นคง แน่วแน่ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ภายนอกด้วยอำนาจสติที่กำหนดจับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งไว้มั่นคง

               สมาธิ จะเกิดได้ด้วยการบำเพ็ญสมถกรรมฐาน

               สมาธิ เป็นคำเรียกย่อของ อธิจิตตสิกขา ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในไตรสิกขา

               สมาธิ ทั่วไปใช้หมายถึงการทำใจให้สงบ การระงัยอารมณ์ฟุ้งซ่าน เรียกว่าทำสมาธิ จิตที่สงบได้ชั่วคราวเรียกว่า ใจเป็นสมาธิ

               ส่วนคำว่า "ขณิกสมาธิ" แปลว่า สมาธิชั่วขณะ คือสมาธิที่เป็นไปชั่วคราว

               ขณิกสมาธิ หมายถึงภาวะที่จิตสงบระงับได้ชั่วคราว จัดเป็นสมาธิขึ้นต้นอันเกิดจากการปฏิบัติกรรมฐานที่ทำให้เกิดความสุขสบายได้ชั่วครู่ และเป็นเหตุให้ควบคุมสติอารมณ์ได้ในขณะประกอบกิจหรือศึกษาเล่าเรียน ทำให้ใจเย็นระงับอารมณ์ได้

               ขณิกสมาธิ เป็นพื้นฐานให้บำเพ็ญกรรมฐานและได้สมาธิที่สูงขึ้นไปคืออุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ