ยันต์หลังเหรียญหลวงพ่อกลั่นวัดพระญาติการามเนื้อทองคำ๒๔๖๙
ยันต์หลังเหรียญหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เนื้อทองคำ พ.ศ. ๒๔๖๙ : ชั่วโมงเซียน โดยอ.โสภณ
หลวงพ่อกลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้เป็นพระอาจารย์ชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของเมืองไทย ในบรรดาพระอาจารย์เจ้าของเหรียญเป็น คือ เป็นพระอาจารย์ที่ปลุกเสกเหรียญรูปเหมือนของท่านด้วยตัวของท่านเอง เหรียญของท่านที่เป็นพิมพ์นิยมนั้นราคาแพงอันดับหนึ่งในเมืองไทยก็แล้วกันคือแพงหลายล้านบาท
เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรกของท่านสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นเหรียญทรงเสมาถือว่าเป็นเหรียญราคาแพงที่สุด สร้างขึ้นในโอกาสที่ระลึก การปฏิสังขรณ์โบสถ์ ด้านหน้าจะเป็นรูปหลวงพ่อกลั่นท่านนั่งเต็มองค์ห่มจีวรรัดอก ข้างเหรียญเป็นภาษาไทยเขียนเอาไว้ว่า "หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์กลั่น พระญาติ" ใต้ขอบห่วงเหรียญเป็นตัวเลข พ.ศ.๒๔๖๙
ด้านหลังตรงกลางเหรียญจะเป็นตัว "ยันต์นะเฑาะว์สมาธิ" ใต้ตัวเฑาะว์จะเป็นตัว "นะปิดล้อม" หรือ "นะตัวต้น" และมีตัวขอมว่า "พุท ธะ สัง มิ" คือ ตัวย่อหัวใจยอดศีล ใช้ทางมหานิยมและแคล้วคลาด พิมพ์นิยมของเหรียญรุ่นนี้ให้ดูที่เส้นซึ่งแกะพลาดเป็นเส้นเกินตรงขมวดยันต์ มีลักษณะคล้ายเบ็ดตกปลา จึงเรียกบล็อกนี้ว่า พิมพ์ขอเบ็ด
ส่วนเหรียญกลมของหลวงพ่อกลั่น สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนั่งเต็มองค์ ห่มจีวรมีผ้ารัดอก แตกต่างจากเหรียญรุ่นแรกตรงที่ผ้ารัดอกรุ่นแรก ผ้าสังฆฏิจะทับผ้ารัดอก แต่รุ่นพ.ศ.๒๔๗๘ ผ้ารัดอกจะทับผ้าสังฆาฏิ รอบขอบเหรียญจะเป็นตัวขอมอ่านว่า "นะ มะ นะ อะ นอ กอ นะ กะ กอ ออ นอ อะ นะ อะ กะ อัง" ซึ่งเป็น คาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์
ด้านหลัง จะเป็น "ตัวเฑาะว์" เหมือนรุ่นแรก แต่การเขียนแตกต่างกัน และมีตัวขอมเป็นตัวคาถาทางมหาอุด เหรียญรุ่นนี้มีทั้งเหรียญที่เรียกว่า "นะกลม นะรี" ให้ดูตรงใต้ฐานด้านหน้ารูปหลวงพ่อ ตัวนะปิดล้อมจะกลมและรี และอีกบล็อกหนึ่ง เรียกว่า บล็อกตาชั่ง คือตัวนะใต้รูปหลวงพ่อจะติดไม่ชัดเจน เกิดจากการปั๊มเหรียญที่จริงนั้นเกิดจากการกดกระแทกของช่างที่ทำการปั๊มนั่นเอง เครื่องมือสมัยนั้นยังไม่ทันสมัย ประกอบกับใช้การมาก เหรียญมักจะเป็นห่วงเชื่อม เหรียญรุ่นนี้มีเนื้อทองแดงและทองเหลือง ราคาการเช่าหาเป็นหมื่นเหมือนกัน คนในอยุธยาเขานิยมกันมาก มีประสบการณ์ไม่แพ้รุ่นแรกเลย พระอาจารย์ที่ปลุกเสกก็เป็นพระอาจารย์ในยุคนั้นหลายรูปด้วยกัน
ในขณะที่ เหรียญยันต์ตะกร้อ เหรียญรุ่นนี้มีรูปทรงคล้ายรูปอาร์มแต่สวยกว่าอาร์ม หลวงพ่อนั่งเต็มองค์มีตัวขอมอ่านว่า "มะ ผุด ผัด ผิด อิ ติ ปัด ปิด" เป็นคาถาทางคงกระพันชาตรีทางป้องกันอันตราย ด้านหลัง เป็น "ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์" มีเส้นลากลักล้อมตัว "นะ โม พุท ธา ยะ" ถึงสามเส้นซ้อนกัน มีตัวขอมอีกหลายตัวอ่านว่า พุทธ สัง มิ เป็นคาถาทางยอดศีลทางเมตตามหานิยม มะ อะ อุ เรียกว่า แก้วสามประการ ใช้ทางป้องกันอันตรายภัยต่างๆ และตัว พุท โธ ตัวต้นของคาถาบทสำคัญๆ ใช้ย่อมา เหรียญรุ่นนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ หลวงพ่ออั้นและหลวงพ่อต่างๆ อีกหลายท่านด้วยกันร่วมกันปลุกเสก
ปัจจุบันวัดพระญาติการามได้รับการพัฒนาอย่างมากจากหลวงพ่อเฉลิม ท่านสร้างวิหารขึ้นประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่อกลั่น หลวงพ่ออั้น มีคนเดินทางไปกราบไหว้รูปเหมือนของท่านกันไม่ขาด มณฑปท่านสร้างถึงหลายล้านบาทสวยงามอย่างยิ่ง
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณภาพ ของ นายสุขธรรม ปานศรี ผู้จัดการใหญ่ บริษัท แม็กกา อาร์.ดี. (กรุ๊ป) จำกัด เจ้าของธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าอิสระ หรือเกรย์ มาร์เก็ต หรือที่คนในวงการรถยนต์รู้จักในชื่อ “เฮียกุ่ย” นักสะสมพระหลวงพ่อทวดชุดเนื้อทองคำมานานกว่า ๑๐ ปี ที่มีอยู่กว่า ๘๐๐ องค์ รวมทั้งพระเนื้อทองคำชุดอื่นๆ ที่ขึ้นชื่อว่า "เจ้าของรังพระทองคำรังใหญ่ของเมืองไทย" โดยนที่ผ่านมาเขาได้ จัดนิทรรศการเปิดกรุพระเครื่องหลวงปู่ทวด ณ อาคารปานศรี ซอยรัชประชา ๓ ถนนรัชดาภิเษก เชิงสะพานรัชโยธิน กทม. ให้ชมพุทธศิลป์ และได้สัมผัสชื่นชมพระเครื่องหลวงปู่ทวด ด้วยการส่องด้วยแว่นส่องพระที่ท่านติดตัวไปได้ทุกเนื้อ ทุกพิมพ์ โดยเฉพาะพระชุดเนื้อทองคำ มาโชว์ ชนิดที่เรียกว่า "ไม่มีเจ้าของรังพระและคนในวงการพระเครื่องคนไหนใจถึงทำมาก่อน"
เหรียญหลวงปู่ศุขหลัง "ยันต์สาม"
เหรียญหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท นับเป็นเหรียญที่งด งาม มีสนนราคาสูง ได้รับความนิยมอย่างมาก สำหรับเหรียญสำคัญของหลวงปู่ศุขนั้น มีการจัดสร้างขึ้นเป็นเหรียญรูปไข่ค่อนไปทางกลม ห่วงเชื่อม ระบุปี ๒๔๖๖ เนื้อทองแดงเถื่อน เนื้อตะกั่ว ส่วนเนื้อทองคำนั้นพบน้อยมาก พิมพ์ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงปู่ศุข นั่งสมาธิสะดุ้งกลับอยู่เหนืออาสนะลายผ้า ด้านข้างจารึก "ยันต์ อุขึ้น อุลง" มีภาษาไทยล้อมรอบระบุสมณศักดิ์ "พระครูวิมลคุณากรวัดปากคลองมะขามเฒ่า" และด้านล่างระบุปี พ.ศ.๒๔๖๖
ส่วนพิมพ์ด้านหลัง สร้างเป็น "ยันต์สาม" ล้อมรอบยันต์ด้วยหัวใจธาตุคือ "นะ มะ อะ อุ" และหัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ คือ "นะ โม พุท ธา ยะ" อักขระด้านล่างเป็นพระคาถาอำนวยพรคือ "อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง"
เหรียญหลวงปู่ศุข รุ่นแรก ปี ๒๔๖๖ นี้ มีแม่พิมพ์ด้านหน้าเพียงแม่พิมพ์เดียว ส่วนแม่พิมพ์ด้านหลังมีอยู่ ๔ พิมพ์ ได้แก่ ๑.พิมพ์ด้านหลังไม่มีอุ ๒.พิมพ์ด้านหลังมีอุเล็ก ๓.พิมพ์ด้านหลังมีอุใหญ่ และ ๔.พิมพ์หลังอุ และ ดาว
ส่วนสาเหตุที่พิมพ์ด้านหลังมีหลายแบบนั้น สันนิษฐานว่า ในสมัยก่อนการทำบล็อกแม่พิมพ์คงจะไม่แข็งและเหนียวพอ โดยเฉพาะ "แม่พิมพ์ด้านหลัง" ซึ่งเป็นตัวกดย้ำ ทำให้แม่พิมพ์ชำรุดเสียหายก่อนแม่พิมพ์ด้านหน้า จึงจำเป็นต้องแกะแม่พิมพ์ด้านหลังขึ้นมาใหม่
ยันต์หลังเหรียญหลวงพ่อไร่ขิงรุ่นแรก
เหรียญปั๊ม ข้างเลื่อยหลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี ๒๔๖๗ ในสมัย หลวงพ่อใช้ ปติฏโฐ เป็นเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ท่านได้จัดสร้าง เหรียญปั๊มรูปจำลองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ขึ้นเป็นครั้งแรก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้าตรงกลางของเหรียญเป็นรูปจำลองหลวงพ่อวัดไร่ขิง ประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะฐานแบบผ้าทิพย์ ขอบเหรียญแกะลวดลายกระหนก อย่างสวยงาม เหนือพระเศียรเป็นเส้นรัศมีเปล่งออกมาจากขอบเหรียญ ด้านข้างตรงพระชานุทั้ง ๒ ข้าง มีอักษรไทยว่า ที่ ร และ ฤก อันหมายถึงที่รฤก
ใต้อาสนะจารึกอักษรไทยว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง ส่วนพิมพ์ด้านหลังของเหรียญ เป็นยันต์ตารางยันต์ใหญ่ ๒๕ ช่อง ภายในบรรจุอักขระขอม อ่านว่า พุท ธัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ ธัม มัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ สัง ฆัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ ช่องกลางของตารางเป็น ตัวอะ ซึ่งเป็นคำย่อของ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ด้านนอกยันต์ด้านล่าง มีอักขระขอมอีก ๔ ตัว อ่านว่า พุท ธะ สัง มิ อันย่อมาจาก พุท ธัง สะ ระ นัง คัจ ฉา มิ ซึ่งถือเป็นยอดศีล คือ เป็นหัวใจของยันต์ใหญ่ ๒๕ ช่อง
ด้านล่างสุด ระบุปีที่สร้าง พ.ศ.๒๔๖๗ ขอได้รับความขอบคุณ หนังสือพิมพ์ข่าวสด และ คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่องโดย ราม วัชรประดิษฐ์ เหรียญปั๊มข้างเลื่อย หลวงพ่อวัดไร่ขิง ปี๒๔๖๗ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของนักนิยมสะสมพระเครื่องกันอย่างแพร่หลายเพราะมีพุทธลักษณะงดงามและมากด้วยพุทธคุณ ในปัจจุบันหาชมและหาเช่าบูชาในราคานี้ได้ยาก