กตัญญู-กตเวที : คำวัด
กตัญญู-กตเวที : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์
เมื่อเข้าสู่เทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวพุทธนิยมพากันทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และสวดมนต์ เพื่อชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงเนรมิตหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชรจัดกิจกรรมบรรยายธรรมใต้แสงเทียน ภายใต้กิจกรรมธรรมะบรรยายที่มุ่งปลูกจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมให้แก่บุคลากรอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๔ ปีแล้ว
กิจกรรมบรรยายธรรมใต้แสงเทียนครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ ๑๒๒ ที่จัดขึ้น โดยนิมนต์พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี เลขานุการศูนย์ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาวัดสังข์กระจายวรวิหาร มาบรรยายธรรมในหัวข้อ "ความกตัญญูรู้คุณ สร้างความเจริญได้อย่างไร” ให้แก่เกษตรกรและครอบครัวในโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร จ. กำแพงเพชร โดยมี นายสุทธิวิทย์ สายหยุด ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นประธาน
คำว่า กตัญญู พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้ให้ความไว้ว่า ผู้รู้สึกถึงบุญคุณที่เขากระทำแก่ตน คือ ผู้ระลึกว่า ใครเคยทำดี ใครเคยช่วยเหลือเกื้อกูลตนมา ก็ยอมรับแลไม่ลืมบุญคุณของผู้นั้น รวมถึงผู้ที่รู้บุญคุณของสัตว์ บุญคุณของที่ยู่อาศัย บุญคุณของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้ตนได้รับความสะดวกสบาย อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา
ส่วนคำว่า "กตเวที" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ประกาศบุญคุณของผู้มีอุปการะแก่ตนมาด้วยการทำอุปการะตอบแทน คือ ผู้ที่ประกาศยกย่องผู้ทำอุปการะแก่ตนต่อสาธารณชน ไม่ปกปิดคุณงามความดีของผู้นั้น แม้เขาจะเป็นคนต้อยต่ำ รวมหมายถึงผู้ที่สนองคุณของผู้มีบุญคุณแก่ตน เช่น เลี้ยงดูตอบแทน เชื่อฟังคำสอน ดูแลรักษา ไม่ทำลาย เป็นต้น ด้วยความสำนึกในบุญคุณ
ดังที่สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงประพันธ์ไว้เป็นภาษาบาลีว่า "นิมิตฺตํ สาธุ รูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา" หมายถึง "ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี"
กตัญญู กตเวที จัดเป็นบุคคลที่หาได้ยาก เพราะคนทั่วไปมักลืมบุญคุณคนอื่นง่าย