
'พ่อท่านหวาน'ละสังขารปิดตำนานที่พึ่งใจไทยพุทธสะบ้าย้อย
'พ่อท่านหวาน'ละสังขารปิดตำนานที่พึ่งใจไทยพุทธสะบ้าย้อย : เรื่อง/รูป ไตรเทพ ไกรงู
เมื่อวันที่ ๑๐สิงหาคม ๒๕๕๗ “พระครูไพบูลย์สิกขการ” หรือ "หลวงปู่หวาน อภโย" ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอสะบ้าย้อย และเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้ละสังขารอย่างสงบสิริอายุ ๙๗ ปี ถือเป็นการปิดตำนานพระผู้เป็นที่พึ่งของชาวไทยพุทธในพื้นที่รอยต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย อ.จะนะ, เทพา, นาทวี และสะบ้าย้อย ชาวบ้านย่านถิ่นปักษ์ใต้เรียกกันติดปากว่า "พ่อท่านหลวง"
“พ่อท่านหวาน” เป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่ร่วมพิธีสร้างพระหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ และยังเป็นสหมิกธรรมของ “พระครูวิสัยโสภณ” หรือ “พระอาจารย์ทิม” แห่งวัดช้างให้ จ.ปัตตานี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นพระที่เป็นดั่งศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่ที่คอยยืนหยัดทำหน้าที่ปลุกกระตุ้นขวัญให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้คลายความกังวลใจในยามที่เผชิญเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลุกลามเข้าสู่พื้นที่รอยต่อจังหวัดสงขลา
“พ่อท่านหวาน” ได้สร้างคุณูปการแก่ชาวสะบ้าย้อย และพัฒนาวัดให้มีความสวยงาม อีกทั้งยังสร้างถาวรวัตถุ และอาคารเสนาสนะต่างๆ มากมาย ทั้งอุโบสถ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง และหอฉัน แต่ในทางกลับกันเจ้าอาวาสกลับเลือกจำวัดอยู่ในกุฏิเก่าหลังเล็กๆ ด้วยเพราะท่านเป็นพระที่ไม่ยึดติดกับวัตถุและใช้ชีวิตอย่างสมถะ ทำให้ทุกวันครบรอบวันเกิด ๑๓ กันยายนทุกปีจึงมีการจัดงาน “ฉลองกตัญญูพ่อท่านหวาน” โดยมีพุทธบริษัทที่เคารพนับถือและศรัทธาหลั่งไหลเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะร้อนแรงปานใด แต่พ่อท่านหวานยังทำหน้าที่ของภิกษุอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่ก็ตาม ด้วยความมุ่งหวังเดียว คือ ต้องการให้พุทธศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปกติ เหมือนวันวานเมื่อครั้งที่ท้องถิ่นแห่งนี้ยังไม่เกิดเหตุรุนแรง
ปัจจัยที่ญาติโยมถวายในการรับกิจนิมนต์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทุกแห่ง ท่านจะไม่รับเอาไว้เอง แต่จะมอบเป็นทุนการศึกษาให้นักเรียนที่ยากไร้ และบูรณะวัด พ่อท่านหวานเคยพูดไว้ว่า “เงินทองเป็นของนอกกาย เมื่อชาวบ้านเขาถวายเพื่อให้เรานำไปใช้ประโยชน์เพื่อพุทธศาสนา ดังนั้นเราก็นำไปทำในสิ่งดี เพื่อมอบให้ญาติโยม โดยก่อนรับก็จะให้คำสอน และใช้ในทางที่ดี โดยเฉพาะรำลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ คือ เครื่องเตือนสติให้เรามีสมาธิอยู่เสมอ”
นอกจากการยืนหยัดทำหน้าที่ปลุกกระตุ้นขวัญให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่แล้ว พ่อท่านหวานยังทำหน้าที่ของภิกษุอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการรับกิจนิมนต์ของชาวบ้านทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ด้วยความมุ่งหวังเดียว คือ ต้องการให้พุทธศาสนิกชนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อย่างปกติเหมือนวันวาน เมื่อครั้งที่ท้องถิ่นแห่งนี้ยังไม่เกิดเหตุรุนแรง
ทั้งนี้ พ่อท่านหวานเคยให้เหตุผลไว้ว่า “ชาวบ้านต้องการที่พึ่งในเรื่องขวัญและกำลังใจ ดังนั้นคนที่มาวัดแห่งนี้ พวกเขาล้วนทุกข์ร้อนใจทั้งนั้น ดังนั้นหากเราช่วยลดอุณหภูมิความหวาดกลัวแก่เขาได้ พร้อมๆ กับเพิ่มพลังใจให้กลับไปทำหน้าที่ หรือใช้ชีวิตในสังคมนี้ได้ต่อไปเราจะนิ่งดูดายได้อย่างไร ฉะนั้นกุฏิเราเปิดรับชาวบ้านทุกระดับ อย่างเท่าเทียม คำสอนของพระพุทธองค์คือเครื่องเตือนสติให้เรามีสมาธิอยู่เสมอ การมีจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม โดยไม่วอกแวก หรือขาดสติ จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย และฝ่าวิกฤติที่รุนแรงอยู่ในพื้นที่ไปได้”
นายธัญพัฒน์ สุวรรณรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลสะบ้าย้อย และเป็นศิษย์ก้นกุฏิ เล่าว่า ในระยะหลังสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก จึงมีคณะลูกศิษย์ได้คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ก่อนละสังขารท่านได้สั่งเสียกับคณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ว่าเมื่อท่านละสังขารให้จัดการงานศพอย่างเรียบง่าย จัดงานบำเพ็ญกุศลศพ ๗ วันแล้วเผาเลยไม่ต้องเก็บสังขารไว้
หลวงพ่อทวดรุ่นเครื่องบินตก “เสิ่นเจิ้น”
"พ่อท่านหวาน” เป็นพระนักพัฒนาที่ใช้ชีวิตสมถะ แต่ครั้งหนึ่งชื่อเสียงท่านได้โด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่วัดสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้จัดสร้างหลวงพ่อทวดเนื้อว่าน ลอยองค์ เพื่อหารายได้สร้างอุโบสถ เมื่อปี ๒๕๓๙ ซึ่งต่อมาเรียกว่า รุ่นประสบการณ์เครื่องบินตก “เสิ่นเจิ้น” เนื่องเพราะเหตุเครื่องบินตกที่เสิ่นเจิ้น มีผู้รอดตาย ที่พกหลวงปู่ทวดรุ่นนี้เพียงองค์เดียว ปลุกเสกโดยหลวงปู่หวาน (ท่านพระครูไพบูลย์) อาจารย์นอง วัดทรายขาวและท่านเป็นพระเกจิอาจารย์สายปัตตานี (วัดช้างให้) เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการปลุกเสกพระหลวงพ่อทวดที่ร่วมปลุกเสกพระหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด เนื้อว่านรุ่นแรกปี พ.ศ.๒๔๙๗ ร่วมกับท่านพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้และหลวงปู่แดง วัดพระศรีมหาโพธิ์
พระเครื่องหลวงปู่ทวดของพ่อท่านหวานเป็นที่นิยม มากครับ ความศักดิ์สิทธิ์หรือพระพุทธคุณ คุ้มครอง ช่วยให้เราปลอดภัยจากภยันอันตรายต่างๆ แคล้วคลาด ช่วยชีวิตให้เรารอดออกมาในเวลาคับขัน คุ้มครองให้ปลอดภัยจากภยันอันตราย แคล้วคลาดจากอันตรายและอุบัติเหตุทั้งปวง เเละมีประสบการณ์มากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากพระเครื่องแล้ว พ่อท่านหวานยังทำ "ตะกรุด” แจกชาวบ้านที่มาทำบุญอีกด้วย โดยจะลงมือจารตะกรุดด้วยตัวเองทุกแผ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ อส. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน
ชาติภูมิ..."พ่อท่านหวาน"
"หวาน เดชพุฒิ" เป็นชื่อและสกุลเดิมของ "พ่อท่านหวาน" เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๔๖๑ ที่ ต.บางโกระ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บิดาชื่อ นายแก้ว มารดาชื่อ นางจันทร์ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดมะเดื่อทอง ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๑ มีพระครูมนัสสมณคุณ เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ พระอธิการแดง สุนทโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระชุม เกสฺสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากสอบได้นักธรรมชั้นตรี ช่วยเหลือเจ้าอาวาสในการสอนนักธรรมแก่พระภิกษุสามเณรบวชใหม่ และเป็นผู้ช่วยเหลือในการสร้างอุโบสถ วัดมะเดื่อทอง จนสำเร็จ พร้อมกันนี้ได้สร้างกุฏิเจ้าอาวาส และกุฏิสงฆ์ จำนวน ๒ หลัง ต่อมาได้ย้ายสังกัดไปรักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคลองยอ ต.วังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาคณะสงฆ์ อ.เทพา-สะบ้าย้อย ได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นตรีเป็น พระครูไพบูลย์สิกขาการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอสะบ้าย้อย
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดสะบ้าย้อย หลังจากอดีตเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย คือ พระใบฎีกาจ้วน สุปญฺโญ ได้อาพาธและมรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๐ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๑ ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะอำเภอสะบ้าย้อย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นมา
สำหรับกำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ "พ่อท่านหวาน" ณ วัดสะบ้าย้อยระหว่างวันที่ ๑๑-๒๑สิงหาคมวันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๕.๐๐ น.พิธีรดน้ำศพ เวลา๑๙.๐๐น. สวดอภิธรรม วันพุธที่ ๑๓-๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. แสดงพระธรรมเทศนาและสวดพระอภิธรรมทุกวัน วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๓๐ น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป สวดพุทธมนต์ เวลา ๑๓.๐๐ น. สวดมาติกาบังสกุลทอดผ้าบังสกุล กล่าวสังเวคกถา ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ตามลำดับ โดยคณะสงฆ์และพุทธบริษัทอำเภอสะบ้าย้อยร่วมเป็นเจ้าภาพ