พระเครื่อง

'เหรียญหลวงพ่อสด'วัดปากน้ำรุ่นแรก'ถวายภัตตาหาร'ปี๒๕๐๑

'เหรียญหลวงพ่อสด'วัดปากน้ำรุ่นแรก'ถวายภัตตาหาร'ปี๒๕๐๑

21 ส.ค. 2557

'เหรียญหลวงพ่อสด' วัดปากน้ำรุ่นแรก 'ถวายภัตตาหาร' ปี ๒๕๐๑ : ปกิณกะพระเครื่องโดยฐกร บึงสว่าง

                เหรียญหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี รุ่น "ถวายภัตตาหาร" เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ในสายนี้

                เหรียญรุ่นนี้ จัดสร้างโดยคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ในช่วงที่ หลวงพ่อสด ดำรงสมณศักดิ์ที่  "พระมงคลเทพมุนี"

                จุดประสงค์ เพื่อแจกแก่พุทธศาสนิกชนผู้ร่วมทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในวัด โดย หลวงพ่อสด ปลุกเสกด้วยวิชาธรรมกาย อานุภาพความศักดิ์สิทธิ์จึงไม่แตกต่างจาก พระผงของขวัญ

                เหรียญหลวงพ่อสด รุ่น "ถวายภัตตาหาร" พ.ศ.๒๕๐๑ สร้างด้วย เนื้อเงิน เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ลักษณะ เป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว พิมพ์ด้านหน้าขอบโดยรอบยกเป็นเส้นลวดนูนชั้นเดียว และมีจุดไข่ปลาล้อมอยู่อีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อสด หน้าครึ่งองค์ มีอักษรไทยด้านบนจารึกว่า "พระมงคลเทพมุนี"

                ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็น "ดวงปริศนาธรรมกาย" ประกอบด้วยอักขระขอมอ่านว่า "สัมมาอรหํ" มีอักษรไทยล้อมรอบว่า "ที่ระลึกในการถวายภัตตาหาร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ธนบุรี" ตำหนิ ด้านหน้า ๑.เม็ดไข่ปลาใต้หูเหรียญ มีเส้นเชื่อม ๒.หลังคาตัว ค. มีติ่งแหลมแทงขึ้น ๓.เหนือสระ เอ มีติ่งแหลมเล็กๆ แทงขึ้น ๔.ติ่งแหลมใต้ตัว พ. ๕.ติ่งแหลมใต้ตัว น. ๖.เส้นผมหลายเส้นขีด เป็นเส้นเฉียงขนานกัน ๗.เส้นผมข้างขมับซ้ายหลวงพ่อ มีสองเส้นใหญ่ขนานกัน ๘.มีเส้นปากล่างทั้งสองข้าง ด้านหลัง ๑.ขีดล้นที่สระ "า"  ๒.จุดเล็กๆ ที่ศูนย์กลางดวงธรรม ๓.เส้นติ่งใต้หัวตัว "ภ" ๔.สระ อี ล้นที่ด้านข้าง

                อย่างไรก็ตาม จุดตำหนิเหล่านี้ เป็นเพียงแนวทางการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น หากสนใจเช่าหา ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ลึกกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเช่าหาจากบุคคลที่เชื่อถือได้ มีหลักรับประกัน ถ้าเป็น "เหรียญปลอม" ต้องรับผิดชอบ รับคืนเหรียญ และคืนเงิน ตามหลักมาตรฐานสากลนิยม

                ชีวประวัติโดยสังเขป พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

                ชาติภูมิ : เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๒๗ ณ ตำบล/อำเภอ สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

                เรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง ต่อมาได้ศึกษาอักขรสมัยกับ พระอาจารย์ทรัพย์ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

                อุปสมบท เมื่อมีอายุ ๒๒ ปี ณ วัดสองพี่น้อง ได้รับฉายาว่า “จนฺทสโร” โดยมี พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

                จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้ว เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์ ท่าเตียน กรุงเทพฯ)

                การศึกษา ด้านวิปัสสนาธุระ ได้มุ่งธรรมปฏิบัติ เบื้องต้นศึกษาจากการอ่านตำราก่อน โดยมากใช้คัมภีร์ปกรณ์พิเศษวิสุทธิมรรค ท่านได้แสวงหาความรู้ในด้านวิปัสสนาธุระจากพระอาจารย์หลายท่าน อาทิ

                ๑.พระมงคลทิพยมุนี วัดสามปลื้ม ๒.พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล จ.สุพรรณบุรี ๓.พระอาจารย์โหน่ง วัดสองพี่น้อง ๔.พระอาจารย์เนียม วัดน้อย ๕.พระสังวรานุวงษ์ วัดราชสิทธาราม กทม. ๖.พระครูญาณวิรัติ (โป๊ะ) วัดพระเชตุพนฯ ๗.พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ ธนบุรี ๘.พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ฯลฯ

                ในพรรษาที่ ๑๒ พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์ (บน) อ.บางคูเวียง จ.นนทบุรี

                เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พ.ศ.๒๔๖๓ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พ.ศ.๒๔๖๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่ "พระครูสมณธรรมสมาทาน"  พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระภาวนาโกศลเถร" พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระมงคลราชมุนี"  พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระมงคลเทพมุนี"

                มรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ สิริอายุ ๗๕ ปี พรรษา ๕๓

                หลวงพ่อสด ได้สร้าง "พระผงของขวัญ" ขึ้นมา ๓ รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่น ๑ พ.ศ.๒๔๙๓ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ (ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๑.๔ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม.หนาประมาณ ๔-๕ มม. เพื่อมอบให้เป็น "ของขวัญ" แก่ผู้ทำบุญสมทบทุนในการก่อสร้างโรงเรียนพระประยัติธรรม พระรุ่นนี้มีทั้งชนิดที่เคลือบเชลแล็ก และทั้งชนิดที่ไม่ได้เคลือบเชลแล็ก,

                พระผงของขวัญ รุ่น ๒ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ จำนวน ๘๔,๐๐๐องค์ ขนาดองค์พระเท่ากับ พระรุ่น ๑

                พระผงของขวัญ รุ่น ๓ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ โดยได้ทำพิธีบรรจุพุทธานุภาพตามหลักวิชาธรรมกาย ด้วยตัวของท่านเอง ตลอดอายุขัย

                ภายหลังที่หลวงพ่อได้มรณภาพแล้ว ๕ ปี ทางวัดจึงได้นำ พระรุ่น ๓ นี้มาให้ชาวบ้านทำบุญบูชา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นต้นมา จนกระทั่งหมดลงใน พ.ศ.๒๕๑๔ (เนื่องก่อนหน้านี้ พระผงของขวัญ รุ่น ๒ ยังมีเหลืออยู่ที่วัด จึงไม่ได้นำ พระรุ่น ๓ มาให้ทำบุญบูชา)

                พระผงของขวัญ ทั้ง ๓ รุ่นนี้ได้รับความศรัทธาสนใจจากพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก ทุกวันนี้แต่ละองค์เช่าหากันถึงหลักหมื่นขึ้นไป เฉพาะรุ่น ๑ องค์สวยคมชัดมากๆ เช่าหากันถึงหลักแสนขึ้นไป

                (ขอขอบคุณ ข้อมูลบางส่วน จาก www.watpaknam.org )