พระเครื่อง

ร่วมบุญก่อสร้าง'หอพระไตรกลางน้ำ'วัดดอนแก้ว'

ร่วมบุญก่อสร้าง'หอพระไตรกลางน้ำ'วัดดอนแก้ว'

04 ก.ย. 2557

ร่วมบุญก่อสร้าง 'หอพระไตรกลางน้ำ''วัดดอนแก้ว' วัดโบราณ จ.เชียงใหม่ : บุญนำพา - ไก่ สวนดอก

               วัดดอนแก้ว ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นวัดราษฎร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ โดยการนำของ “หาญเสือแผ้ว” หรือ "พญาหาญเสือแผ้ว" (สิทธิ นรา) ซึ่งเป็นขุนนางคนสำคัญของราชสำนักเชียงใหม่ ในสมัยเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น หรือเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๘๙) และอยู่ในหน้าที่ราชการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้ามหาชีวิตอ้าว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๖ (พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๑๓)
    
               วัดดอนแก้ว สร้างขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเข้าสู่ยุคสงบสุข ภายหลังการขับไล่กองทัพพม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองในล้านนา ผ่านไปแล้ว ๖๓ ปี นับเป็นช่วงเวลาหลังการ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” (การรวบรวมผู้คนจากหัวเมืองรอบนอกตามที่ต่างๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตตัวเมือง) ของกษัตริย์เชียงใหม่ ในช่วงฟื้นฟูสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ หลังตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่า เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี
 
               สำหรับชุมชนที่ตั้ง วัดดอนแก้ว และหมู่บ้านดอนแก้ว ในปัจจุบัน (บ้านแพะ บ้านลุ่ม บ้านหนองฟาน และสบสา) ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เป็นแหล่งชุมชนดั้งเดิม ริมฝั่งแม่น้ำ โดยอยู่ห่างจากกำแพงเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ ๑๒ กม. เป็นเขตที่ลุ่ม เชิงเขาฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง ใกล้กับเทือกเขาดอยปุย และดอยแม่สา มีไร่นา เหมืองฝาย หลายสาย ซึ่งเป็นฝีมือการขุดสร้างของคนโบราณ เพื่อนำน้ำเข้าสู่ไร่นาแหล่งเพาะปลูก
   
               ที่ตรงนี้เคยเป็นชัยภูมิที่ตั้งทัพและที่พักไพร่พล ช้าง ม้า ภายใต้การนำของ "พญาหาญเสือแผ้ว" ในสมัยฟื้นฟูสร้างเมืองเชียงใหม่ยุคนั้น โดยมีบริเวณที่เลี้ยงช้างและเตาหลอมโลหะ เพื่อผลิตเครื่องมืออาวุธประเภทต่างๆ อยู่ในหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก มีทั้งพื้นที่เขตหุบเขาและที่ราบลุ่มแม่น้ำ
  
               เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้นจึงไปสร้าง "คุ้ม" ที่พำนักนอกเมืองเอาไว้ในพื้นที่ โดยเชื่อว่าสร้างไว้ตั้งแต่ช่วงการซ่องสุมไพร่พลกองทัพเพื่อขับไล่พม่า ซึ่งใช้เวลาหลายปีก่อนที่จะประสบความสำเร็จ
    
               ประกอบกับมีเส้นทางลำแม่น้ำปิงที่ไม่คดเคี้ยว สามารถใช้แพและเรือเล็กสัญจรไปมาเข้าสู่ตัวเมืองได้สะดวก
 
               เจ้าเมืองเชียงใหม่และบรรดาเจ้านาย รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงนิยมใช้ทางน้ำในการเดินทางไปมาเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่งรวดเร็วกว่าทางเกวียน (ทางบก) ดังนั้นจึงมีที่พำนักของเจ้าเมืองและผู้นำในราชสำนัก ตั้งอยู่หลายแห่งในทางตอนเหนือของตัวเมือง ใกล้กับลำแม่น้ำ เช่น คุ้มหลวงของ “เจ้ามหาชีวิตอ้าว” ที่บริเวณใกล้บ้านสบริม (ท้องที่ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม) ห่างจากชุมชน บ้านดอนแก้ว ขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๔ กม.

               ส่วนที่หมู่บ้านดอนแก้ว (บ้านลุ่ม) เป็นที่ตั้งคุ้มบ้านของ “พญาหารเสือแผ้ว” โดยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงทางตอนใต้ของที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
    
               ลูกหลานของ "พญาหารเสือแผ้ว" เล่าว่า บริเวณหน้าบ้านของพญาหารเสือแผ้ว เป็นที่พักเลี้ยงฝูงช้างและให้ฝูงช้างลงอาบน้ำ...ครั้งใดที่ เจ้ามหาชีวิตอ้าว เสด็จไปเยี่ยม หาญเสือแผ้ว ถึงคุ้มบ้านพัก จะมีการปูลาดผ้าแดงต้อนรับตั้งแต่ประตูรั้วบ้านไปจรดบันไดบ้านเลยทีเดียว
   
               สำหรับความเป็นมาของวัดดอนแก้ว ก่อนที่จะมีการสร้างวัดใหม่ในปี ๒๓๘๐ นั้น เคยมีวัดมาก่อนแล้ว รวม ๒ วัด ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน คือ ๑.วัดห่าง (วัดร้าง) ริมฝั่งแม่น้ำปิง ทางทิศตะวันออกของที่ตั้งวัดในปัจจุบัน
    
               ๒.วัดอรินตอง (รินตอง) ตั้งอยู่บนเนินที่ดอนทางตะวันตกของวัดในปัจจุบัน ระยะ ๕๐๐ เมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านดอนแก้ว โดยวัดแห่งแรก (วัดห่าง) คาดว่าเป็นวัดที่ร้างมาแต่โบราณ อาจเนื่องมาจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ และลำแม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้ตัววัดถูกตัดขาดจากชุมชน กลายเป็นเกาะดอนกลางแม่น้ำ ไม่สะดวกต่อการเดินทางไปมาสู่วัด จึงมีการสร้างวัดแห่งที่ ๒ คือ วัดรินตอง บนที่ดอนเนินเขา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม
   
               วัดแห่งที่ ๒ นี้เชื่อว่าสร้างในสมัยล้านนา ก่อนที่พม่าจะเข้ามายึดครองเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๐ วัดนี้มีเขตอุโบสถกลางน้ำอยู่ที่ “หนองวง” ทางตะวันออกของที่ตั้งโรงเรียนบ้านดอนแก้วในปัจจุบัน
   
               เมื่อถึงสมัยที่พม่ารุกราน ประชาชนได้พากันอพยพหลบหนีออกจากตัวเมือง ไปอยู่ตามแถบป่าเขาเป็นส่วนใหญ่ วัดรินตอง (อรินตอง) จึงกลายเป็นวัดร้าง สิ่งปลูกสร้างเสื่อมสลายตามกาลเวลาในช่วง ๒๐๐ ปีที่ถูกยึดครอง จนมาถึงยุคการฟื้นฟูสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ในสมัยของ พระยาจ่าบ้าน (พ.ศ.๒๓๑๗-๒๓๑๙) และพระยากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๖) จึงมีการชักชวนประชาชนออกจากป่าเขา ลงมาตั้งบ้านสร้างเมืองในแถบตัวเมืองกันใหม่
   
               ดังนั้นชุมชนริมแม่น้ำปิง แถบบ้านลุ่ม บ้านแพะ และบ้านหนองฟาน-สบสา ซึ่งเคยเป็นชุมชนดั้งเดิมมาก่อน จึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ยุคสงบสุข เป็นปึกแผ่นดีแล้ว พญาหาญเสือแผ้ว ผู้นำเหล่าทัพและประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ได้เป็นผู้นำในการก่อสร้างวัดแห่งใหม่ขึ้น แทนที่วัดร้างเดิมทั้งสองแห่ง โดยในชั้นแรกเรียกกันว่า “วัดหาญเสือแผ้ว” แต่ภายหลังเรียกเป็น "วัดดอนแก้ว" เข้าใจว่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ดอนเสือแผ้ว” น่าจะหมายถึงที่ ดอนชายป่า (บ้านแพะ) อันเป็นที่ตั้งไพร่พลฝูงช้างของ พญาหารเสือแผ้ว
    
               ปัจจุบันยังมีศาลาพ่อบ้าน พญาหาญเสือแผ้ว ตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้กับสี่แยกกลางหมู่บ้านดอนแก้วหมู่ ๒ ในทุกวันนี้
   
               สำหรับสิ่งปลูกสร้างภายในวัดดอนแก้ว ของเดิมที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๐ คือ วิหารก่ออิฐถือปูน ทรงศิลปะล้านนา กำแพงวัดซึ่งสร้างด้วยอิฐสอปูน ๔ ด้าน ศาลารายติดกำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออก โรงเรือนกุฏิพระภิกษุสงฆ์สามเณร ซึ่งเป็นอาคารไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบ ๒ ชั้น (ยกพื้นสูง) ด้านใต้ของตัววิหาร และอุโบสถกลางหนองน้ำหน้าวัด (ทิศตะวันออก) ซึ่งสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งและไม้สัก
    
               แต่สิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมดังกล่าวได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา โดยมีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ไปแล้ว อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่ผ่านมา ในสมัยของพระครูบาคำปัน ชยฉนฺโท (พระครูวิวิธสังฆการ) เป็นเจ้าอาวาสวัด ซึ่งได้สร้างวิหารหลังใหม่แทนที่วิหารหลังเก่าที่ทรุดโทรมไป สร้างอุโบสถหลังใหม่ในเขตกำแพงวัด แทนที่อุโบสถกลางหนองน้ำของเดิม รวมทั้งสร้างกุฏิพระภิกษุสงฆ์สามเณร หลังใหม่แทนเรือนไม้หลังเก่า และมีการบูรณะรั้ว ประตูโขงทางเข้าวัดให้เป็นแบบใหม่ แทนที่ของเดิมซึ่งผุกร่อนและทรุดตัว เพราะปัญหาน้ำท่วมแทบทุกปี
   
               ปัจจุบัน วัดดอนแก้ว โดยการปกครองของพระใบฎีกา เจริญศักดิ์ สิริภัทโท เจ้าอาวาสวัด นักพัฒนา ได้จัดทำโครงการเผยแพร่ธรรมปฏิบัติให้แก่ชาวบ้านและเยาวชน มีการเปิดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ให้แก่เยาวชน มีการอบรมปฏิบัติสมาธิให้แก่อุบาสกอุบาสิกา ทุกๆ วันธรรมสวนะ  มีการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาดีแต่ยากจน โดยมีวัดเป็นหลักในการให้การศึกษา ฝึกอบรมบ่มนิสัย ร่วมกับทางเทศบาลตำบลดอนแก้ว
   
               ในการนี้ทางวัดได้ก่อสร้าง หอพระไตรกลางน้ำ เพื่อจะได้ใช้เป็นสถานที่การปฏิบัติธรรม เป็นถาวรวัตถุ สืบทอดไว้ในพระพุทธศาสนา และใช้เป็นที่อบรมพุทธศาสนิกชน ซึ่งวัดยังคงขาดจตุปัจจัยในการก่อสร้างอยู่จำนวนหนึ่ง จึงขอบอกบุญมายังท่านสาธุชนทุกๆ ท่าน โดยบริจาคเป็นทุนทรัพย์ตามกำลังศรัทธาในนามของ "พระเจริญศักดิ์ เอื้องเขียว" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนโชตนา ชื่อบัญชี  "เพื่อการก่อสร้างและบูรณะถาวรวัตถุของวัดดอนแก้ว" เลขที่บัญชี ๗๑๔-๒๑๘๖-๐๘๑ โทร.๐-๕๓๑๒-๐๐๓๗ ท่านเจ้าอาวาส โทร.๐๘-๒๙๓๕-๙๕๙๔ ขอบุญกุศลจงบังเกิดแก่บรรดาท่านสาธุชนทุกๆ ท่านด้วยเทอญ