พระเครื่อง

ทาน-ทานวัตถุ : คำวัด

ทาน-ทานวัตถุ : คำวัด

12 ก.ย. 2557

ทานทานวัตถุ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

                พระครูประชาธรรมนาถ หรือหลวงพ่อแฉ่งของชาวราษฎร์นิยม อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยม ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ท่านได้ละสังขารในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๘ ด้วยอาการสงบ เกือบ ๒ ทศวรรษแห่งการมรณภาพ ลูกศิษย์ยังสำนึกในบุญคณ ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๙ กันยายน ของทุกปี ศิษย์จากทั่วสารทิศจะกลับมาทำบุญที่วัดด้วยการ "ตั้งโรงทาน" โดย "เด็กวัด" ที่ออกไปได้ดิบได้ดีกลับมาร่วง "ตั้งโรงทาน" อย่างต่อเนื่อง

                สำหรับคำว่า "ทาน" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความไว้ว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ วัตถุที่พึงให้

                ทาน ที่แปลว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หมายถึงการให้ทานด้วยจิตใจที่ดีงาม มุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่นที่ให้แก่บิดามารดา ถวายแก่พระสงฆ์ เป็นต้นบ้าง มุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่นที่ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไปด้วยความกรุณาสงสารบ้าง

                ทาน ที่แปลว่า วัตถุที่พึงให้ ย่อมาจาก "ทานวัตถุ" หมายถึงสิ่งของสำหรับให้สำหรับเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่สิ่งของที่ถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่าไทยทานบ้าง ไทยธรรมบ้าง มี ๑๐ อย่าง ทานสูตร ได้แก่ อาหาร, น้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ, มาลัยและดอกไม้, ของหอม (ธูปเทียน), เครื่องลูบไล้ (สบู่เป็นต้น), ที่นอน, ที่อยู่อาศัย, และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่างนี้มีผลอานิสงส์มากเพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ ด้วยจิตใจที่ดีงาม

                ทานเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ทานมัย" คือบุญที่เกิดจากการให้ เป็นสังคหวัตถุ คือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี

                การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญในการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความ ใส สว่าง สะอาดของจิตใจขึ้นมา

                ส่วนประเภทของทานมี ๔ ประเภท คือ

                ๑.ทานที่เป็นอามิส หรืออามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ

                ๒.ทานที่ไม่เป็นอามิส หรือธรรมทาน คือการให้ที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ให้สติ ให้ธรรมะ สอนคุณธรรม ให้กำลังใจ ให้อภัย (อภัยทาน) ให้วิทยาทาน

                ๓.อภัยทาน คือการยกโทษด้วยการไม่พยาบาทจองเวร บัณฑิตกล่าวเป็นทานที่ให้ได้ยากที่สุด โดยเฉพาะการให้อภัยศัตรูหรือผู้ที่ทำร้ายตนอย่างสาหัส

                และ ๔.วิทยาทาน คือการให้ความรู้ทางโลก