พระเครื่อง

มรณภาพละสังขาร

มรณภาพละสังขาร

19 ก.ย. 2557

มรณภาพละสังขาร : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

                การประกาศละสังขารล่วงหน้าในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๒๑.๐๐ น. ของหลวงปู่ธนวัฒน์ สิริพิมโพ หรือหลวงปู่พิมพ์ เจ้าอาวาสวัดป่าเวฬุวัน อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นข่าวที่พุทธศาสนิกชนให้ความสนใจติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง

                ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "มรณภาพ" อ่านว่า “มอ-ระ-นะ-ภาพ” ไว้ว่า ตาย หรือความตาย

                มรณภาพ เป็นกัปปิยโวหารที่ใช้แก่ภิกษุ สามเณรโดยเฉพาะ เว้นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อพระภิกษุสามเณรทุกระดับชั้นตาย ไม่ใช้ว่าตาย มรณะ ถึงแก่กรรม หรือสิ้นลมหายใจ เป็นต้น อันเป็นคำสาธารณะทั่วไป แต่ใช้ว่า มรณภาพ หรือถึงแก่มรณภาพ เหมือนกันหมด เช่นใช้ว่า

                “พระขาวมรณภาพ”

                “มหาเขียวถึงแก่มรณภาพ”

                “สมเด็จฯ มรณภาพในปีนั้นพอดี”

                ในกรณีสมเด็จพระสังฆราช ใช้ว่า สิ้นพระชนม์ อย่างไรก็ตามในภาษาไทยมีการกำหนดใช้คำราชาศัพท์ให้เหมาะกับบุคคลในฐานะต่างๆ จึงมีการใช้คำอื่นแทนความหมายของคำว่า "ตาย" ไว้หลายระดับเฉพาะคำว่า "สิ้นพระชนม์" ใช้กับบุคคล ๓ ระดับ คือ  

                ๑.พระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงพระองค์เจ้า

                ๒.สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

                ๓.สมเด็จพระสังฆราช

                ส่วนคำว่า "สังขาร" เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ การปรุงแต่ง สิ่งที่ถูกปรุงแต่ง สังขารมี ๒ ความหมาย ดังนี้

                สังขารในเรื่องไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณ์สังขารหมายถึงร่างกาย ตัวตน สสาร สิ่งที่ประกอบกันขึ้นหรือถูกปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ๔ สังขารในความหมายนี้แบ่งเป็น ๒ คือ

                ๑.สังขารมีใจครอง (อุปาทินนกสังขาร) คือสิ่งมีชีวิต มีจิตวิญญาณ สามารถเคลื่อนไหว รับ จำ คิด รู้อารมณ์ได้ ได้แก่มนุษย์ อมนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน

                ๒.สังขารไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกสังขาร) คือ สิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีจิตวิญญาณ รับ จำ คิด รู้อารมณ์ไม่ได้ ได้แก่ต้นไม้ ภูเขา ดิน น้ำ รถ เรือ เป็นต้น

                สังขารในความหมายนี้ จัดเป็นรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ มิใช่สังขารขันธ์ และมีลักษณะเสมอกันโดยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

                สังขารในขันธ์ ๕ สังขาร หมายถึงสิ่งปรุงแต่งจิต ระบบปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รู้สึกและจำได้ ซึ่งก็ได้แก่ความคิด ความรู้สึกปกติทั่วไปของคนเรา เช่น รัก ชัง โกรธ ละอายใจ อยากได้เป็นต้น
 
                สังขารในความหมาย ๒ นี้ ได้แก่ เจตสิกธรรม คือสิ่งที่ประกอบจิตอยู่ เกิดดับพร้อมจิต รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต เป็นสิ่งที่ดีเรียกว่ากุศลบ้าง เป็นส่วนที่ไม่ดีเรียกว่าอกุศลบ้าง เป็นส่วนกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่วที่เรียกว่าอัพยากฤตบ้าง

                คำว่า สังขาร ในเรื่องไตรลักษณ์กับในเรื่องขันธ์ต่างกัน คือสังขารในเรื่องไตรลักษณ์เป็นรูปธรรม ในเรื่องขันธ์เป็นนามธรรม

                ส่วนเหตุที่ใช้คำว่า ละสังขาร แทนคำว่า มรณภาพ นิยม ใช้กับ ครูบาอาจารย์ พระเถระ ผู้เป็นพระอริยเจ้า พระผู้เป็นที่เคารพ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชู หรือใช้มรณภาพก็ได้