การบริโภคจีเอ็มโอตามทรรศนะชาวพุทธ
การบริโภคจีเอ็มโอตามทรรศนะชาวพุทธ หลังศาลปค.สูงสุดยกฟ้องคดีกรีนพีซฯฟ้องกรมวิชาการเกษตร : สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโทสันติศึกษา มจร รายงาน
เนื่องจากวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2557 ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง คดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอส อี เอ) ยื่นฟ้องกรมวิชาการเกษตร และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 เรื่องละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ นอกพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอดังกล่าวออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องที่อนุญาตให้ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในภาคสนามหรือในสภาพพื้นที่เปิด และให้ผู้ถูกฟ้องดำเนินการตรวจสอบสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำทั้งหมด รวมทั้งผู้ได้รับการจำหน่าย จ่ายแจกจากผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเกษตรที่ได้รับต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้รับจำหน่าย จ่าย แจก โดยให้กำหนดมาตรการในการควบคุม แพร่กระจายมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรมไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1(1) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี2545 ในการดำเนินโครงการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษาทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ เพื่อการศึกษาวิจัยตามที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้นำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 8 พ.ร.บ.กักพืช ปี 2507 โดยไม่ได้เป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ขณะที่ข้อเท็จจริง ยังรับฟังได้ว่ากรมวิชาการเกษตร ได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.47 และแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรที่ไม่อาจปฏิเสธผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการครอบครองสิ่งต้องห้ามที่เป็นวัตถุเสี่ยงภัยของหน่วยงานทางปกครอง ที่ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการทดลองมะละกอตัดต่อพันธุกรรม แต่ภายหลังเมื่อปรากฏข่าวทางสื่อว่าพบการปนเปื้อนดังกล่าว ต่อมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ค. 47 ให้หยุดจำหน่าย จ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์มะละกอทุกชนิด และให้ตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอที่แจกจ่ายไป รวมถึงการตรวจสอบทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอในพื้นที่ต่าง ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ดำเนินการดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยุติการทดลองทั้งหมดแล้ว ถือว่าผู้ถูกฟ้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง
ภายหลัง นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปนเปื้อนขอพืชจีเอ็มโอจะหมดไป ตรงกันข้ามกลับพบว่ามีการขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรจะใช้คำพิพากษานี้ไปสร้างความชอบธรรมในการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดต่อไป
คดีดังกล่าวถือว่าดำเนินการมาเป็นเวลานานมาก จำได้ว่าผู้เขียนได้เข้ามาสู่วงการสื่อมวลชนใหม่ๆ เรื่องจีเอ็มโอนี้เป็นงานเขียนชิ้นแรกโดยยกเอามุมมองในพระพุทธศาสนามาเตือนสติเรื่อง "การบริโภคจีเอ็มโอตามทรรศนะชาวพุทธ" ที่เขียนในนาม"มหาเนชั่น"เผยแพร่ผ่านทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อปี 2542 ความว่า
"การบริโภค 2 ลักษณะ จะมีผลทางด้าน เศรษฐกิจต่างกัน หากเป็นการบริโภค เพื่อสนองความต้องการตามแบบเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ การสนองความต้องการก็ไม่รู้จบ แต่การบริโภคตามแบบชาวพุทธ จะต้องมุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล คือการที่ได้สนองความต้องการคุณภาพชีวิต
การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับผลผลิตอันเกิดจากจีเอ็มโอ คือผลผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม โดยใช้เทคนิคการตัดต่อยีน หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ผลผลิตอันเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม" ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่า จะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี และยาฆ่าแมลงอื่นๆ เช่น พืชที่ต้านทานแมลงศัตรูพืช และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น มะเขือเทศที่งอมช้า เป็นต้น
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่า จะเกิดปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากบริษัทด้านการเกษตรของสหรัฐ อาจเป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรส่วนใหญ่ ความกังวลต่อผลกระทบที่อาจมีต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม และถูกนำมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษี ซึ่งความเห็นที่ขัดแย้งกันนี้ มีทั้งภายในและต่างประเทศ
ฝ่ายที่เห็นด้วย ดูเหมือนจะเป็นกระ-ทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายตรีพล เจาะจิตต์ ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นประธานสมาคมส่งออกอาหารสัตว์และพืช เป็นต้น ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา
สำหรับประชาชนเดินดินกินข้าวแกงตามท้องถนน ชาวไร่ ชาวนา ทั่วไป ยังเป็นกลางอยู่ เพราะไม่รู้ว่าผลผลิตอาหารที่เกิดจากจีเอ็มโอนั้นคืออะไร มีประโยชน์มีโทษอย่างไร ขอให้มีกินก็พอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร
ในต่างประเทศก็มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างประเทศสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศสหรัฐนั้น ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเป็นประเทศรายใหญ่ที่มีผลผลิตที่เกิดจากจีเอ็มโอ และมีการต่อว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ว่าอย่างรุนแรงว่าเป็นพวกที่มีโรคฮิทรีเรีย เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปนั้น ต่างต้องการให้มีการติดฉลากในสินค้าจีเอ็มโอให้ชัดเจน อีกทั้งมีการกีดกันด้วย
แล้วประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหน หรือว่าจะเดินตามก้นพี่เบิ้มสหรัฐอย่างการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
แม้ว่าการนำเมล็ดพันธุ์พืชตัดต่อพันธุกรรมมาทดลองในประเทศไทยหลายจังหวัด ทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปี 2538 จากผลสรุปของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก็ยังไม่มีผลออกมาชัดเจน ว่าจะมีความปลอดภัยทางชีวภาพหรือไม่ ซึ่งไม่นับสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น จะมีจีเอ็มโอเจือปนหรือไม่ อันแสดงให้เห็นว่าระบบการตรวจสอบของเรา ยังด้อยประสิทธิภาพอยู่มาก
ยิ่งการที่กระทรวงพาณิชย์ จะอนุมัติเงิน 31 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรฯ จัดตั้งห้องทดสอบ เมื่อสภาพของประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมเช่นนี้แล้ว หากขึ้นปี 2543 ก็จะมีการเปิดเสรีทางการค้าโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรแล้ว ประเทศไทยจะมีเงื่อนไขที่จะไปต่อสู้ทางการส่งออกกับประเทศอื่นๆ หรือไม่
วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการพัฒนาจีเอ็มโอ ก็เพื่อให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตขึ้น แน่นอนเป็นวัตถุประสงค์ที่ดี แต่จะมีความชัดเจนว่า จะมีผลข้างเคียงหรือไม่ หากยังไม่มีความชัดเจน ประเทศไทยนำมาส่งเสริมโดยไม่รู้เท่าทันแล้ว จะไม่เกิดปัญหาในภายหลังหรือ ตัวอย่างก็เห็นอยู่เช่น การเปิดเสรีทางการเงินโดยไม่มีมาตรการควบคุม แล้วผลออกมาอย่างไร นี้คือจุดหมายหรือหลักการของการพัฒนาประเทศในแนวทางที่ถูกต้อง
ประกอบกับประเทศไทย อยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อหลักการของการพัฒนาประเทศ ที่ถูกต้องถือว่าป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะนี้คนในรัฐบาลก็ออกมาโฆษณาว่า ได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถูกทางแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้ว แต่ก็สงสัยว่าที่บอกว่าถูกทางนั้นถูกทางแบบไหน หรือว่าตามแบบที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก หรือรวมถึงประเทศสหรัฐได้กำหนดไว้ หรือว่ารัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามวิถีทางของคนไทย ที่มีหลักที่แข็งแรงอยู่แล้วตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสนอแนวทางของเศรษฐกิจเพียงพอหรือเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่
การพัฒนาประเทศตามหลักเศรษฐศาสตร์ของฝรั่งนั้น คือการผลิตเพื่อการบริโภค โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงแค่ความพอใจ ไม่ได้คำนึงถึงว่าการบริโภคนั้นเกิดผลที่แท้จริงคืออะไร ผลที่แท้จริงที่ชีวิตต้องการคืออะไร การที่มนุษย์บริโภคนั้นเพื่ออะไร คนบริโภคเพื่อได้คุณภาพชีวิต แล้วคุณภาพชีวิตคืออะไร การที่ร่างกายของเราต้องการอาหารมาหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดกำลังวังชา ความแข็งแรง และซ่อมแซมร่างกาย อันนี้คือความต้องการคุณภาพชีวิต
ดังนั้น การบริโภคอาหารคือการทำให้ได้มาซึ่งคุณภาพชีวิต ความพอใจกับการได้คุณภาพชีวิต อันไหนเป็นการบริโภคที่ตรงกว่า แต่การบริโภคของคนไม่น้อยเพื่อรสเอร็ดอร่อย คำกล่าวข้างต้นในย่อหน้านี้ เป็นคำกล่าวของท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก (ประยุทธ ปยุตโต-ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์) ในหนังสือ "ทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำสังคมไทย" ซึ่งเดิมชื่อ "เศรษฐศาสตร์ตามแนวทางพุทธศาสตร์" ที่ปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 10 มิถุนายน 2531
ท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก ได้ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของการบริโภคของมนุษย์ แตกต่างกัน บางคนบริโภคเพื่อต้องการคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นคุณค่าแท้ของการบริโภค แต่บางคนบริโภคเพื่อสนองความต้องการ เช่นการโก้หรู ความเอร็ดอร่อย ซึ่งเป็นคุณค่าเทียม ซึ่ง การบริโภค 2 ลักษณะ จะมีผลทางด้านเศรษฐกิจต่างกัน หากเป็นการบริโภคเพื่อสนองความต้องการตามแบบเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันนี้ การสนองความต้องการก็ไม่รู้จบ แต่การบริโภคตามแบบชาวพุทธ จะต้องมุ่งที่ความพอดีหรือความสมดุล คือการที่ได้สนองความต้องการคุณภาพชีวิต
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ประเทศไทยหากจะมีการส่งเสริมผลผลิตจีเอ็มโอ แล้วพฤติกรรมของการบริโภคของคนไทยเป็นอย่างไร ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม เป็นไปตามแนวทางของชาวพุทธหรือไม่ เพราะหากคนไทยยังไม่รู้คุณค่าของการบริโภคที่แท้จริงแล้ว ต่อให้ 10 จีเอ็มโอ ก็คงสามารถมีผลผลิตที่สนองความต้องการได้ และพฤติกรรมการบริโภคนี้ จะเป็นตัวชี้การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ถ้าหากประเทศไทยพัฒนาตามแนวทางของหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ประเทศไทยจะไม่ประสบกับปัญหาวิกฤติทุกด้านอย่างนี้ พิจารณาจากหลักธรรมพื้นฐานที่ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้น 4 ประการ ที่เรียกว่า "ทิฏฐธัมมิกัตถะ" คือ การขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาประกอบวิชาชีพ เมื่อได้ทรัพย์สินมาก็ต้องรู้จักรักษา ต้องมีเพื่อนที่ดี และต้องรู้จักความพอดี
แต่การพัฒนาประเทศของไทยที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ใช้หลักธรรม 4 ประการนี้ให้สมบูรณ์จะเห็นได้ว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีความขยันในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจเจริญเติบโต แต่ไม่มีปัญญารู้เท่าทัน จึงทำให้เป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ และรัฐบาลต่อมาไม่ว่าจะเป็นนายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่รู้จักรักษาทรัพย์สินที่ พล.อ.ชาติชาย หาไว้ โดยวางมาตรการป้องกัน ไม่รู้จักความพอดี หลงตัวเอง กู้เงินต่างประเทศเข้ามามาก ในที่สุด เศรษฐกิจฟองสบู่ก็แตกสมัย พล.อ.ชวลิต เป็นนายกรัฐมนตรี จนอยู่ไม่ได้
เวลานี้นายชวนเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ยังหาทิศทางในการพัฒนาเศรษฐกิจถูกต้องไม่พบ ทั้งๆ ที่ในหลวงก็ทรงเสนอแนวทางให้ แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ให้ความสำคัญ ดูอย่างเม็ดเงินกู้มิยาซาวาเป็นตัวอย่าง แทนที่จะนำเงินไปส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงหรือเศรษฐกิจชุมชน กลับนำเงินไปแจกประชาชนเท่านั้นแล้วบอกว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว
ท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก ได้เสนอทางออกของสังคมไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้เคยวิเคราะห์สังคมชาวอเมริกาว่า มีสภาพเป็นอย่างไร ได้วางหลักการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนตามแนวทางพระพุทธศาสนา อย่างเช่น หนังสือทางออกจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำ หรือเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ การศึกษาเครื่องมือพัฒนาที่ต้องพัฒนา ทางออกของสังคมไทย ซึ่งเป็นผลงานปี 2531 เมืองไทยจะวิกฤติถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต ปี 2537
ท่านเจ้าประคุณพระธรรมปิฎก ได้สรุปแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้องจะต้องมองไกล คิดไกล ใฝ่สูง อันได้แก่ การคำนึงถึงส่วนรวม ยึดธรรมเป็นสำคัญ และจะทำให้คนไทยมีท่าทีต่อผลผลิตที่เกิดจากจีเอ็มโออย่างไร"
แม้นว่าผลการตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไรก็ตาม หากชาวไทยยึดตามคำแนะนำของพระพรหมคุณาภรณ์ในเรื่องของคุณค่าแท้คุณเทียมแล้วจะไม่ตกเป็นทาสบริโภคนิยมอย่างแน่นอน แต่ที่ยกบทความนี้มากล่าวอีกครั้งเพื่อเตือนสติเป็นสำคัญหามีแนวคิดเป็นอย่างอื่นไม่