พระเครื่อง

วิปัสสนาคือการเฝ้าดู : วิปัสสนาบนหน้าข่าว

วิปัสสนาคือการเฝ้าดู : วิปัสสนาบนหน้าข่าว

30 ต.ค. 2557

วิปัสสนาคือการเฝ้าดู : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระชาย วรธัมโม เรื่อง ศูนย์ภาพเนชั่น ภาพ

                 “วิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง เห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้ การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น” นั่นเป็นความหมายของคำว่า “วิปัสสนา” จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์

                 เมื่อแยกออกมาแล้ว มี ๒ ความหมาย ความหมายที่หนึ่งคือ ปัญญาคือการเห็นแจ้ง ส่วนความหมายที่สองคือการฝึกอบรมปัญญาหรือการลงมือปฏิบัติ การลงมือปฏิบัติในที่นี้ก็คือ การเฝ้าดู จะเห็นแจ้งได้ก็ต้องเกิดจากการ ‘เฝ้าดู’

                 ถามว่าเฝ้าดูอะไร ?

                 คำตอบในเบื้องต้นคือ “เฝ้าดูกาย”

                 เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก่อนอื่นเราเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก หรือไม่ก็เฝ้าดูอาการท้องพอง-ท้องยุบ ในที่นี้คือ “การเฝ้าดูกาย” เฝ้าดูลมหายใจเข้า-ออกก็เรียกว่าเฝ้าดูกาย เพราะว่าลมหายใจก็คือกายอันหนึ่งของตัวเราด้วยนั่นเอง

                 แท้จริงแล้วการเฝ้าดูลมหายใจเราไม่ได้เฝ้าดูเพื่อให้จิตสงบหรือไม่ได้เฝ้าดูเพื่อให้เกิดสมาธิเพียงอย่างเดียว แต่เราเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ลมหายใจออกเพื่อให้เห็นความจริงว่า แม้แต่ลมหายใจที่เข้า-ออกนั้นก็มีความไม่เที่ยงแฝงอยู่ นั่นคือมีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป พอลมหายใจเข้าดับไป ลมหายใจออกเกิดขึ้นแทน หรือบางคนใช้วิธีการเฝ้าดูอาการท้องพอง-ท้องยุบ ก็จะพบว่าพออาการท้องพองดับไปก็มีอาการท้องยุบเข้ามาแทน สลับกันไปมาเช่นนี้ นั่นคือความไม่เที่ยงทางกายที่เราสามารถเห็นได้จากการเฝ้าดูโดยสังเขป

                 ทีนี้พอเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ลมหายใจออกหรือเฝ้าดูอาการท้องพอง-ท้องยุบไปสักระยะหนึ่งจะพบว่ามีอาการบางอย่างแทรกตัวเข้ามา นั่นก็คือมีความปวดเมื่อยหรือมีอาการเหน็บชาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเหน็บชาหรือปวดเมื่อยตรงจุดใดก็ตามผู้ปฏิบัติก็ยังสามารถ “เฝ้าดู” ได้อย่างต่อเนื่องนั่นก็คือ หันมาเฝ้าดูอาการปวดเมื่อยนั้นแทนการเฝ้าดูลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก หรือหันมาเฝ้าดูอาการปวดเมื่อยนั้นแทนการเฝ้าดูอาการท้องพอง-ท้องยุบ

                 เมื่อรู้สึกปวดเมื่อย ณ จุดใดจุดหนึ่งในร่างกาย ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้เราใช้คำพูดกำกับในใจเสมอเวลารู้สึกปวดเมื่อยว่า “ปวดหนอ ปวดหนอ” โดยมิให้เราเปลี่ยนท่านั่งเพื่อหลีกหนีความปวดเมื่อยนั้น ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เราย้ำคิดย้ำรู้สึกกับความปวดเมื่อยเหน็บชานั้นให้มากยิ่งขึ้น แต่เป็นการภาวนาเพื่อให้เกิดการเฝ้าดูความปวดเมื่อยนั้นตามความเป็นจริงว่า “ความปวดเมื่อยที่กำลังแสดงอาการอยู่นี้เป็นเช่นนั้นเองหนอ” คำว่า “เป็นเช่นนั้นเองหนอ” เป็นเช่นนั้นก็คือ มันเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติของมัน ความเจ็บปวดเป็นเพียงอาการหรือกิริยาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นเอง  ให้เราเฝ้าดูความปวดเมื่อยแต่อย่าเข้าไปเป็นผู้ปวดเมื่อยเสียเอง

                 วิปัสสนาในตอนนี้คือการแยกตัวเราออกมาจากความเจ็บปวด แทนที่เราจะเป็นผู้เจ็บปวดแต่ครูบาอาจารย์สอนให้เราเปลี่ยนบทบาทจากผู้ปวดมาเป็น “ผู้เฝ้าดูอาการปวด” การเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ปวด” มาเป็น “ผู้เฝ้าดูอาการปวด” เป็นกระบวนการที่ไม่ยากและก็ไม่ง่าย เพราะอย่างน้อยต้องอาศัยปัญญาขั้นพื้นฐานที่จะต้องรู้จักแยกตัวเองออกมาจากความเจ็บปวด โดยกำหนดรู้ว่าเรากำลังเป็นผู้เฝ้าดูความปวดเมื่อยที่เกิดขึ้น เรามิใช่ผู้เจ็บปวด

                 หากผู้ปฏิบัติสามารถเปลี่ยนบทบาทตนเองจากผู้ปวดมาเป็นผู้เฝ้าดูความปวดได้เมื่อไร นี่คือการมาถูกทางของเส้นทางแห่งการดับทุกข์ เพราะการที่คนเราตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์กันนั้นก็เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนบทบาทตนเองจากผู้ทุกข์ไปสู่การเป็นผู้เฝ้าดูความทุกข์ได้ วิปัสสนาในตอนนี้จึงมีความสำคัญมากในความหมายที่ว่า “เราคือผู้เฝ้าดูความทุกข์ที่เกิดขึ้น”

                 เหมือนอย่างคนป่วยในโรงพยาบาล เมื่อเราไปโรงพยาบาลสิ่งที่เราต้องเห็นกันอยู่เป็นประจำก็คือ คนเจ็บป่วยตั้งแต่อาการขั้นเล็กน้อยที่สุดไปจนถึงขั้นรุนแรงปางตาย ความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บหรือจากอุบัติเหตุเป็นความเจ็บปวดทรมานที่แสนสาหัส มีคนจำนวนมากมายที่ต้องทนทุกข์ไปกับความเจ็บปวดทางร่างกายที่เกิดขึ้น ต้องเป็นทุกข์ทุรนทุรายอยู่ไม่เป็นสุขทุกนาที เรียกได้ว่าเราเป็นทุกข์กับร่างกายของเรา หากเป็นไปได้ว่าก่อนหน้าที่เราจะป่วยกันถึงขั้นปางตายหรือก่อนหน้าที่เราจะล้มหมอนนอนเสื่อกันถึงขั้นเจ็บหนักทุรนทุราย หากเราได้เรียนรู้ “การทำวิปัสสนา” ด้วยการ “เฝ้าดูกาย” มาก่อนหน้านี้ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเจ็บจริงป่วยจริงเราจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานไปกับความเจ็บปวดกันมากมายขนาดนี้ เพราะเรารู้จักการ “เฝ้าดูความเจ็บปวด” มาแล้วขณะที่เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน  เราผ่านการฝึกฝนเป็นอย่างดีมาแล้วดังนั้นเมื่อถึงคราวต้องเจ็บจริงปวดจริง เราก็สามารถรับมือกับความเจ็บปวดนั้นได้ ไม่ต้องทุรุนทุรายให้เป็นที่น่าเวทนาแก่ผู้พบเห็น

                 ดังนั้นแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในเบื้องต้น เราต่อสู้กับความฟุ้งซ่านของจิต แล้วสยบความฟุ้งซ่านให้กลายเป็นความสงบ ในขั้นถัดมาหลังจากเกิดความสงบแล้วนำไปสู่ความดื่มด่ำในสมาธิ และในขั้นต่อมาเมื่อเกิดทุกขเวทนาขึ้นเราก็สามารถปฏิบัติตนไปสู่การเป็น “ผู้เฝ้าดู” ได้ในที่สุด นี่คือพื้นฐานของการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

                 การจะเข้าใจเนื้อหาของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในขั้นตอนนี้ถือว่าไม่ง่ายเลย เพราะอย่างน้อยต้องอาศัยความเพียรของเราเองและการมีครูบาอาจารย์ที่มีความเข้าใจการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอย่างดี และมิใช่ว่าครูอาจารย์ผู้สอนวิปัสสนาเราจะสามารถพบเจอท่านได้ง่าย ๆ

                 สำหรับข้าพเจ้าแล้วการที่มีโอกาสเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือเป็นการให้โอกาสที่ดีกับตัวเอง และเป็นการต่อยอดความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับตนเองไปด้วย เพราะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีการสอบอารมณ์

                 การสอบอารมณ์คือการที่อาจารย์วิปัสสนาคอยแนะนำการปฏิบัติให้เราอย่างละเอียด และสอนการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานให้เราอย่างถูกทาง การมีโอกาสเข้ากัมมัฏฐานอย่างเป็นระบบทำให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนาอย่างชัดเจน หากท่านทั้งหลายยังไม่เคยเป็น “ผู้เฝ้าดู” และเริ่มสนใจว่าการเป็น “ผู้เฝ้าดู” นั้นต้องปฏิบัติอย่างไร ก็ยังไม่สายที่จะเรียนรู้ อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์กับการลงทะเบียนเรียนรู้ล่วงหน้าก่อนจะต้องพบเจอกับการเจ็บจริงปวดจริงในอนาคต

                 ถึงเวลานั้นเราจะได้เป็นผู้เฝ้าดูความเจ็บปวดได้อย่างไม่หลง.

                  สนใจการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสำหรับบุคคลทั่วไป จัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลกรณราชวิทยาลัย ติดต่อฝ่ายวิปัสสนาธุระ ส่วนธรรมนิเทศ ตึกสำนักงานอธิการบดี จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.๐-๓๕๒๔-๘๐๐๐ ต่อ ๘๗๙๓, ๘๘๑๘ /๐๘-๐๔๔๓-๓๖๙๔ / ๐๘-๕๑๔๑-๒๐๘๗ / ๐๘-๔๖๙๔-๕๐๙๙ / ๐๘-๕๖๕๕-๙๙๕๖ อีเมล : [email protected], [email protected], [email protected]  เว็บไซต์ www.vipassanathai.org