พระเครื่อง

ของที่ได้รับจากผู้อื่นนำไปถวายพระได้ไหม?

ของที่ได้รับจากผู้อื่นนำไปถวายพระได้ไหม?

29 พ.ย. 2557

ของที่ได้รับจากผู้อื่นนำไปถวายพระได้ไหม? : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล

              ของที่ได้รับจากผู้อื่นนำไปถวายพระได้ไหม?

              กอบกุล โตทวิวงศ์ ปุจฉา : กราบนมัสการค่ะพระอาจารย์ โยมขอเรียนถามค่ะ ถ้าญาติเราได้รับของจากพระที่ออกบิณฑบาตมาแล้วท่านแบ่งของที่ได้มา เช่น นมซึ่งท่านไม่ฉัน ท่านก็ให้มา ถ้าเราเอาไปใส่บาตรให้รูปอื่นได้อีกไหมคะ กราบนมัสการค่ะ

              พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา : ทำได้ ไม่เสียหาย ของที่ถวายพระไม่จำต้องเป็นของที่เราซื้อมา ของที่เราได้รับจากผู้อื่น หากเป็นของที่ยังมีคุณภาพดีอยู่ และอยากถวายให้พระรูปอื่น เพื่อให้ท่านได้รับประโยชน์ การทำเช่นนั้นก็ถือว่าได้บุญเช่นกัน เพราะเกิดจากเจตนาที่เป็นกุศล ข้อนี้รวมถึงอาหารที่เราทำเพื่อรับประทานกันเองในครอบครัว แต่ก่อนที่จะรับประทาน ก็ปันส่วนหนึ่งไว้เพื่อใส่บาตร หรือถวายพระ คนแต่ก่อนรวมทั้งคนชนบททุกวันนี้ก็ทำอย่างนี้ทั้งนั้น

              ทำบุญแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ปลาบปลื้ม เป็นเพราะเราไม่ติดกับความสุข หรือเพราะเราหลงกันแน่ ?

              ปรียาวรรณ นพสุวรรณชัย ปุจฉา : กราบเรียนพระอาจารย์ การที่เราตั้งใจตื่นแต่เช้าไปไหว้พระทำบุญ แต่สุดท้ายเราไม่รู้สึกปลาบปลื้มใจกับการทำบุญนั้นเป็นอันมาก ความเฉยๆ แบบนี้เป็นเพราะเราไม่ได้ยึดติดในสุข ไม่ได้ยึดติดในบุญที่เราทำ ไม่ได้มีกิเลสคาดหวังในสิ่งใดใดในอนาคต อันนี้เป็นความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นเอง ถ้าเราเข้าใจถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเลยไม่คาดหวังในการขอร้องและการดลบันดาล เราเลยเฉยๆ หรือเป็นเพราะเรายังมีโมหะอยู่มาก เราเลยเฉยแบบโง่ๆ คะ

              อีกคำถามค่ะ จริงๆ แล้วเราไม่ควรยึดติดกับความสุขใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะสุขจากการทำบุญหรือสุขจากการนั่งสมาธิ หรือเราต้องสุขคะ อย่างไหนกันแน่ที่เป็นความรู้สึกที่ถูกต้องคะ

              พระไพศาล วิสาโล วิสัชนา : ความรู้สึกเฉยๆ อาจเป็นเพราะได้ทำสิ่งนั้นเป็นอาจิณแล้วก็ได้ ความรู้สึกดีอาจจะเกิดขึ้นกับคุณ แต่คุณชินกับความรู้สึกแบบนั้นแล้ว เลยเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่จริงคุณลองนึกอีกแง่หนึ่งว่า หากคุณไม่ใส่บาตร แต่ไปทำอย่างอื่น เช่น ดูข่าว หรือเล่นเฟซบุ๊ก คุณอาจรู้สึกเครียดหรือขุ่นเคืองหม่นหมองก็ได้ ดังนั้นการที่คุณเลือกใส่บาตรแทนที่จะทำอย่างอื่น น่าจะเป็นผลดีแก่คุณมากกว่า

              ความสุขนั้นแม้จะให้ความรู้สึกดี แต่ถ้ายึดติดมันเมื่อใด ก็เตรียมทุกข์ได้เลย เพราะความสุขของปุถุชนนั้นล้วนไม่เที่ยง ไม่นานก็ต้องเสื่อมหรือดับไป ถ้ายึดติดมัน พอมันแปรผันไป ก็จะผิดหวังเสียใจ ดังนั้นเมื่อความสุขเกิดขึ้น ก็อย่าปล่อยใจเพลินในความสุขจนลืมตัว ให้มีสติรู้ว่าสุขเกิดขึ้น พูดอีกอย่างคือ เห็นมัน แต่อย่าเพลินกับมัน ขณะเดียวกันก็อย่าผลักไสมัน พระพุทธองค์ตรัสว่า อย่าปฏิเสธความสุขที่ได้มาโดยชอบธรรม แต่ก็อย่าสยบมัวเมาในมัน ควรเป็นอิสระจากมัน

              สายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย 'เตรียมตัวก่อนสู่วาระสุดท้ายของชีวิต จะทำอย่างไรดี' ปรึกษาได้ที่ โทร.๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒